ในระหว่างตั้งครรภ์อาจเกิดภาวะต่างๆ ที่คาดไม่ถึงมาสู่คุณแม่และลูกน้อยได้ ภาวะสายสะดือย้อย ก็เป็นหนึ่งในเหตุสุดวิสัยที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เราจึงชวนคุณผู้อ่านทำความรู้จักกับ อันตราย หาก สายสะดือย้อย ขณะตั้งครรภ์ เพื่อเป็นความรู้สำคัญให้แม่ท้องระมัดระวังดูแลตัวเองค่ะ
อันตราย หาก สายสะดือย้อย ขณะตั้งครรภ์
สายสะดือย้อยคืออะไร
สายสะดือย้อย หมายถึง ภาวะที่สายสะดือซึ่งเชื่อมระหว่างรกกับตัวลูกน้อยในครรภ์ของคุณแม่มีการไหลเลื่อนลงมาอยู่ต่ำกว่าหรืออยู่ใกล้ๆ กับส่วนนำของลูกน้อยในท้อง(ในระยะใกล้คลอด) ซึ่งจะมีผลต่อความปลอดภัยของลูกน้อยในท้องคุณแม่ โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ คือ
- สายสะดืออยู่ต่ำกว่าส่วนนำของลูกน้อย ขณะที่ถุงน้ำยังไม่แตก หากลูกในท้องอยู่ในท่ากลับหัวลงแล้วหรือศีรษะอยู่ส่วนนำออกมาก่อน สายสะดือที่ย้อยก็จะอยู่ต่ำกว่าศีรษะลูกลงมา ภาวะนี้ถือว่าวินิจฉัยได้ยากเนื่องจากมักไม่มีอาการผิดปกติ เวลาตรวจภายในก็บอกได้ยากเพราะถุงน้ำคร่ำยังไม่แตก นอกเสียจากตรวจพบโดยบังเอิญตอนที่คุณหมอตรวจอัลตราซาวนด์ หรือพบการไหลเวียนต่ำกว่าศีรษะของลูกในท้อง
- สายสะดืออยู่ต่ำกว่าส่วนนำของลูก ขณะถุงน้ำคร่ำแตกแล้วภาวะนี้จะพบได้จากการตรวจภายใน คือจะพบสายสะดืออยู่ต่ำกว่าส่วนนำ เช่น หากลูกเอาศีรษะลง ก็จะคลำพบสายสะดืออยู่ในช่องคลอดก่อนคลำเจอศีรษะลูก ซึ่งบางรายหลังจากน้ำคร่ำแตกอาจมองเห็นสายสะดือโผล่ออกมาจากช่องคลอดเลยก็ได้
- สายสะดือย้อยลงมาอยู่ใกล้กับส่วนนำของลูก เช่น สายสะดือย้อยใกล้กับศีรษะของลูก ซึ่งสายสะดืออาจจะถูกกดทับได้ง่ายเวลาที่ศีรษะลูกเคลื่อนต่ำลงขณะคลอด
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ติดตาม สายสะดือย้อยเพราะอะไร คลิกต่อหน้า 2
สายสะดือย้อยเพราะอะไร
โดยปกติแล้วกลไกการคลอดของร่างกายคุณแม่ ปากมดลูกจะต้องมีการเปิดขยายมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันศีรษะของลูกน้อยในท้องก็จะเคลื่อนต่ำลงมาเรื่อยๆ และจะมาปิดแนบสนิทกับปากมดลูกทำให้ไม่มีที่ว่างพอที่จะให้สายสะดือไหลลงมาต่ำกว่าศีรษะลูกได้ แต่หากเมื่อใดก็ตามที่ศีรษะลูกน้อยในครรภ์เคลื่อนต่ำลงมาปิดปากมดลูกได้ไม่สนิทดี เมื่อนั้นก็มักจะพบความผิดปกติของสายสะดือย้อยได้นั่นเอง นอกจากนี้ยังมีสาเหตุของการเกิดสายสะดือย้อยได้อีก ดังนี้
- ลูกคลอดโดยไม่เอาศีรษะลง ลูกน้อยบางคนเอาก้นลงมาก่อน บางคนก็เอาขาลงมาก่อนซึ่งก้นหรือขาของลูกน้อยมักจะปิดปากมดลูกได้ไม่สนิทพอ ทำให้เหลือช่องว่างให้สายสะดือไหลย้อยลงมาได้
- ลูกตัวใหญ่มาก แม้ว่าลูกจะเอาศีรษะลงมาก่อนก็ตาม แต่หากลูกตัวใหญ่มาก ศีรษะของลูกน้อยก็จะไม่สามารถเคลื่อนผ่านลงมาตรงกระดูกเชิงกรานของแม่ ที่มีรูปร่างคล้ายกรวยน้ำสามเหลี่ยมได้ ศีรษะลูกก็จะติดอยู่แค่ด้านขอบบนของเชิงกราน ไม่ได้เอาศีรษะมุดลงมาได้จนปิดทั้งหมด ทำให้ปลายด้านล่างของปากมดลูกมีที่ว่างมาก สายสะดือจึงไหลลงไปได้ง่าย
- สายสะดือยาวกว่าปกติ หากลูกน้อยมีสานสะดือยาวกว่าปกติ ยิ่งสายสะดือยาวเท่าไร โอกาสที่สายสะดือจะย้อยก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
- ครรภ์แฝด ภายหลังจากคุณแม่คลอดลูกแฝดคนแรกแล้ว โพรงมดลูกจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ทำให้สายสะดือมีโอกาสไหลลงมาก่อนลูกคนที่สองจะคลอดออกมาได้ง่ายมาก
- เชิงกรานแม่แคบมาก คุณแม่บางคนตัวเล็กหรือตัวเตี้ยมีเชิงกรานแคบ หรือเล็กกว่าปกติ แม้จะคลอดลูกตัวไม่ใหญ่มาก แต่ก็อาจทำให้ศีรษะของลูกน้อยติดอยู่ที่ขอบบนของช่องเชิงกรานได้เช่นกัน
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ติดตาม สายสะดือย้อยอันตรายอย่างไร คลิกต่อหน้า 3
สายสะดือย้อยอันตรายอย่างไร?
ภาวะสายสะดือย้อยทั้งสายสะดือที่ย้อยลงมาในช่องคลอดหรือยังอยู่ในมดลูก ก็ล้วนเกิดอันตรายต่อลูกน้อยได้เพราะสายสะดือจะถูกกดทับด้วยส่วนนำของลูกที่คลอดออกมาก่อน เช่น ถูกศีรษะลูกหรือตัวลูกกดทับ เมื่อสายสะดือถูกกดท่อลำเลียงอาหารและออกซิเจนมาสู่ลูกจะถูกตัดขาด ลูกจะขาดอาหารและออกซิเจนทันที การขาดอาหารอาจไม่เป็นอันตรายมากนัก แต่หากลูกขาดออกซิเจนอย่างเฉียบพลัน จะทำให้ลูกน้อยในครรภ์เสียชีวิตในเวลาอันสั้นได้ ภาวะนี้จึงต้องรีบแก้ไขทันที
สายสะดือย้อยรักษาได้หรือไม่
หากแพทย์พบว่าคุณแม่มีสานสะดือย้อยจะต้องรีบลดแรงกดที่มีต่อสายสะดือให้เร็วที่สุด โดยอาจจะตรวจภายในพร้อมกับใช้มือดันศีรษะของลูกให้อยู่สูงเข้าไปในมดลูกจัดท่าคุณแม่ให้อยู่ในท่ายกก้นสูง ที่จะช่วยป้องกันส่วนนำไม่ให้ลงมากดสายสะดือ ให้ออกซิเจนคุณแม่เพื่อให้ลูกน้อยได้ออกซิเจนมากขึ้น รวมถึงให้ยาที่จะช่วยให้มดลูกคลายตัวโดยพิจารณาเป็นรายๆ ไป เพราะการให้ยาอาจส่งผลต่อการเต้นของหัวใจคุณแม่ได้ นอกจากนี้คือการทำคลอด และวิธีที่ดีที่สุดคือ ต้องผ่าตัดคลอดโดยด่วน ซึ่งผลการรักษาขึ้นอยู่กับเวลา การวินิจฉัยและผ่าตัดว่าทำได้รวดเร็วเพียงใด ซึ่งหากวินิจฉัยช้าหรือผ่าตัดช้า อาจทำให้ลูกน้อยในครรภ์เสียชีวิตได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ตั้งครรภ์อีกสายสะดือย้อยอีกได้หรือไม่
สายสะดือย้อยเป็นเหตุสุดวิสัยที่คาดเดาได้ยาก และมักจะไม่เกิดซ้ำซากได้ง่ายๆ การเกิดสายสะดือย้อยก็มีโอกาสเกิดซ้ำอีกครั้งได้ยากเช่นเดียวกัน ดังนั้นหากคุณแม่ตั้งครรภ์อีกครั้งก็ไม่ควรกังวลใจเกินไป เพียงแต่แจ้งแพทย์ที่ฝากครรภ์ไว้ และหมั่นดูแลสังเกตความผิดปกติของตัวเองอยู่เสมอ
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ
แม่ท้องเครียด ส่งผลต่อลูกในท้องอย่างไร?