เคยได้ยินมาว่า คนท้องกับแมว อยู่ด้วยกันไม่ได้! ฟังดูเป็นคำพูดที่ดูใจร้ายจังเลยค่ะ แต่คำพูดนี้ก็ไม่ได้ดูเกินจริงเสียทีเดียว จริง ๆ แล้วแมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่น่ารัก ไม่ได้มีพิษมีภัยอะไรหรอกค่ะ แต่ตัวการที่ทำให้เกิดอันตรายจากแมวจนส่งผลถึงลูกในท้องได้ นั่นก็คือ โรคทอกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) ที่พบได้ในอึแมวนั่นเองค่ะ มาดูกันค่ะว่า โรคนี้ส่งผลอย่างร้ายแรงกับลูกในท้องได้อย่างไรบ้าง
คนท้องกับแมว เลี้ยงแมวตอนท้องเสี่ยงลูกพิการ
โรคทอกโซพลาสโมซิส คืออะไร?
โรคทอกโซพลาสโมซิส (toxoplasmosis) เกิดจากการติดเชื้อ ทอกโซพลาสมา กอนดิไอ (Toxoplasma gondii) พบได้ทั่วโลกโดยเฉพาะเขตร้อนและใกล้เขตร้อน รวมทั้งประเทศไทย พบการติดเชื้อทั้งในคนปกติและคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ประชากรโลก 1 ใน 3 ติดเชื้อนี้ และเชื้อนี้เป็นปรสิตเซลล์เดียวที่อาศัยอยู่ภายในเซลล์บุลำไส้ของแมวหรือสัตว์ในตระกูลแมว จากนั้นเชื้อจะมีการแบ่งตัวและปล่อยออกมากับอึของแมว อยู่ในดิน ทราย และอาจปนเปื้อนมาในเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ได้ เมื่อแม่ท้องกินอาหารที่ปนเปื้อนเข้าไป โดยไม่ผ่านการปรุงสุก ก็จะติดเชื้อนี้ และเชื้อก็จะสามารถผ่านเข้าไปในรกและเข้าไปทำลายอวัยวะของเด็กในท้องได้ โดยเฉพาะที่สมอง
ขอบคุณภาพประกอบจาก : www.cell.com
คนท้องกับแมว ติดเชื้อต่อกันด้วยวิธีใดได้บ้าง?
- แม่ท้องใช้มือจับโดนอึแมว ที่อาจปนเปื้อนอยู่ตามตัว ขน หรือแม้แต่ข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน แล้วเผลอเอามือไปโดนบริเวณเนื้อเยื่อ เช่น ปาก จมูก ตา เป็นต้น
- แม่ท้องทานเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแกะ ที่มีเชื้ออยู่ภายในเนื้อสัตว์หรือเครื่องในของสัตว์ โดยไม่ผ่านการทำให้สุกพอที่จะฆ่าเชื้อนี้ได้ รวมถึงการทานผักดิบที่มีการปนเปื้อนอึแมวที่อยู่ในดินด้วย
- เมื่อแม่ท้องติดเชื้อนี้เป็นครั้งแรก เชื้อจะเข้าสู่ทารกโดยผ่านทางรก เชื้อจะเข้าไปอยู่และทำให้เกิดซีสต์ที่สมอง ตา หรือที่อวัยวะอื่นๆ ของเด็กแรกคลอด
- เชื้อนี้สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางน้ำนมเช่นกัน โดยเชื้อจะออกมากับน้ำนมของแม่ เมื่อลูกกินนมก็จะได้รับเชื้อเข้าไป แต่กรณีนี้จะไม่ทำอันตรายกับลูกได้มากเท่ากับการผ่านทางรก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ คนท้องกับแมว เมื่อแม่ท้องติดเชื้ออึแมว ส่งผลกับลูกในท้องอย่างไรได้บ้าง?
เมื่อแม่ท้องติดเชื้ออึแมว ส่งผลกับลูกในท้องอย่างไรได้บ้าง?
ลูกในท้องที่ติดเชื้อจากแม่ท้องนั้น อาการจะขึ้นอยู่กับว่าได้รับเชื้อช่วงใดของการตั้งครรภ์ โดยแบ่งได้ดังนี้
- แม่ท้องติดเชื้อครั้งแรกในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ (3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์) มีโอกาสประมาณ 45% ที่จะติดต่อสู่ทารก และเมื่อทารกติดเชื้อ พบว่า
- ทารกจำนวน 60% ไม่พบอาการผิดปกติ
- 10% จะแท้งหรือตายแรกคลอด
- อีก 30% จะมีอาการรุนแรง ถ้าเด็กรอดมักไม่แสดงอาการในตอนคลอด แต่เมื่อเติบโตขึ้นเด็กจะมีอาการของโรคปรากฏ เช่น มีไข้ ตับม้ามโตเหลือง เลือดจางซีด เกิดผื่น ต่อมน้ำเหลืองโต ปอดอักเสบ หากเป็นที่สมองก็มีอาการชัก น้ำคั่งสมอง หัวบาตรหรือหัวลีบ สมองและไขสันหลังอักเสบ เนื้อสมองมีหินปูนเกาะจับ ตาเหล่ ต้อกระจก จอตาอักเสบ ตาบอด หูหนวก ปัญญาอ่อน และ อาการชักในช่วงเด็กวัยรุ่น
- แม่ท้องติดเชื้อเป็นครั้งแรกเมื่อตั้งครรภ์เกิน 6 เดือน โอกาสที่เชื้อจะผ่านรกไปยังตัวอ่อนจะมีเปอร์เซ็นต์สูงขึ้น แต่พยาธิสภาพและการก่อโรคในตัวอ่อน และทารกแรกเกิด จะไม่รุนแรงเท่าติดเชื้อตอนครรภ์อ่อนๆ
- ส่วแม่ท้องที่เคยติดเชื้อแล้วจะมีภูมิต้านทาน ป้องกันไม่ให้ลูกในท้องติดเชื้อได้ และมารดาที่เคยติดเชื้อและมีลูกคนแรกที่ผิดปกติ โอกาสที่ลูกคนต่อไปจะติดเชื้อและเกิดอาการโรคนั้นต่ำมาก
เมื่อแม่ท้องติดเชื้อจะมีอาการอย่างไรบ้าง?
- ระยะเฉียบพลัน แม่ท้องที่มีภูมิคุ้มกันปกติมักไม่มีอาการอะไรจากการติดเชื้อนี้ หรือมีเล็กน้อยจนไม่สังเกตเห็นได้ หรืออาการไม่จำเพาะ ทำให้ไม่ได้เข้ารับการรักษาโรงพยาบาล เช่น อาการคล้ายเป็นไข้หวัด เจ็บคอ มีอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ บางรายมีอาการต่อมน้ำเหลืองที่ ต้นคอ แถวมุมกราม หลังใบหู เป็นต้น ซึ่งอาการอาจจะบรรเทาลงและหายไปเองได้ แต่จะเข้าสู่ระยะเรื้อรัง มีเพียงบางรายที่เชื้อเข้าไปเจริญเติบโตในอวัยวะสำคัญต่าง ๆ เช่น ปอด ตับ สมอง ทำให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อและเสียชีวิตได้ ถ้ารอดตายก็จะเข้าสู่ระยะเรื้อรังและมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต เมื่อภูมิคุ้มกันบกพร่อง เชื้อก็จะถูกกระตุ้นให้เจิญเติบโตและแบ่งตัวและก่อโรคอีกครั้ง
- ระยะเรื้อรัง เชื้อจะเข้าไปในสมองและกล้ามเนื้อ และพัฒนาเป็นซีสต์เนื้อเยื่อ ซึ่งมีผนังหุ้ม ทำให้สามารถหลบจากภูมิคุ้มกันได้ ผู้ติดเชื้อจึงไม่แสดงอาการป่วยแต่อย่างใดและมีชีวิตปกติ แต่ถ้าเชื้อที่เข้าลูกตาอาจทำให้เกิดรอยโรคที่จอตาและเยื่อโครอยด์อักเสบตามมาใน 1 ปี ถึง 3.5 ปี
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ คนท้องกับแมว…อยู่ด้วยกันได้ เพียงทำตามนี้
คนท้องกับแมว…อยู่ด้วยกันได้ เพียงทำตามนี้
ทาสแมวที่อ่านบทความนี้อย่าเพิ่งหมดหวังกันก่อนนะคะ บทความนี้ไม่ได้ต้องการให้แม่ท้องทุกคนห้ามเลี้ยงแมวนะคะ เราสามารถป้องกันการติดเชื้อจากอึแมวแม้เราจะเลี้ยงแมวอยู่ในบ้านได้ มีข้อควรปฏิบัติดังนี้
- ดื่มน้ำสะอาด
- ไม่ดื่มนมดิบ
- ไม่ควรรับประทานเนื้อดิบหรือไม่สุกที่ทำจาก แกะ หมู วัว ควรทำให้เนื้อสุกที่อุณหภูมิที่ 73-75 oC หรือจนกระทั่งไม่พบเนื้อแดง ๆ เนื้อที่แช่แข็งหรือรมควันจะปลอดภัยจากเชื้อนี้
- ล้างผัก ผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน
- ล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสเนื้อดิบ
- ล้างเครื่องครัวที่สัมผัสกับเนื้อดิบด้วยน้ำและสบู่
- หลีกเลี่ยงการทำความสะอาดถาดอึแมว ห้ามจับเด็ดขาด (ทางที่ดีให้สามีเป็นคนทำจะดีกว่านะคะ) หากจำเป็นให้สวมถุงมือ และล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัส
- หลังจากการ ทำสวน ควรล้างมือให้สะอาด ควรสวมถุงมือขณะทำสวน
- หลังจากเล่นกับแมวหรือสุนัข ควรล้างมือสะอาด
- หากเลี้ยงแมวควรมีกระบะให้แมวขับถ่ายและเปลี่ยนทุกวันและล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ ถ้าหากต้องทำเองต้องสวมถุงมือทุกครั้ง
- ห้ามให้อาหารเนื้อดิบ ๆ กับแมว ควรเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารที่ทำให้สุก
- หากจะซื้อแมวต้องอายุมากกว่า 1 ปีและสุขภาพแข็งแรง
- ห้ามแมวเข้าห้องครัว
- เลี้ยงแมวในบ้านอย่างถูกสุขอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อหรือปล่อยเชื้อออกสู่สิ่งแวดล้อม
- ควรเลี้ยงแมวให้ห่างจากบริเวณที่เลี้ยงปศุสัตว์
- ไม่ให้แมวของบ้านอื่นเข้ามาในอาณาเขตของบ้านเรา
คนท้องทุกคนก็ควรปฏิบัติตามนี้ด้วยนะคะ แม้จะไม่ได้เลี้ยงแมวอยู่ในบ้านก็ตาม เพราะถึงแม้จะไม่ได้อยู่ใกล้แมว แต่ก็อาจจะมีโอกาสได้ทานเนื้อสัตว์หรือผักที่ปนเปื้อนเชื้อนี้ได้ คนท้องกับแมว อยู่ร่วมกันได้ แต่ปลอดภัยไว้ก่อน ดีที่สุดค่ะ
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ คลิก
พ่อโพสต์เฟซบุ๊กเตือน! ลูกป่วยเป็นภูมิแพ้อย่างหนัก เพราะขนสุนัข
พ่อแม่ระวัง! เห็บหมัดสุนัข และแมวช่วงหน้าฝน
ไวรัสซิกา คนท้อง ห้ามเป็น พบผู้ป่วยในกรุงเทพฯ 124 รายแล้ว
ขอบคุณข้อมูลจาก : คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, www.cdc.gov
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่