เมื่อรู้ตัวว่าท้อง การฝากครรภ์ เป็นสิ่งแรกที่คุณแม่ต้องนึกถึงและถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก แล้ว แม่ท้องต้องตรวจอะไรบ้าง คงเป็นเรื่องที่หลายคนอยากรู้ ทั้งนี้การพบแพทย์ในระหว่างการตั้งครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับคุณแม่และลูกน้อยได้ เพื่อให้ลูกที่คลอดออกมามีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์
และหากคุณพ่อไปพบแพทย์ที่ฝากครรภ์พร้อมกับคุณแม่ด้วย ก็จะช่วยให้การดูแลกันระหว่างการตั้งครรภ์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะคุณพ่อจะได้มีส่วนร่วมรับรู้วิธีการดูแลครรภ์และการตัดสินใจในเรื่องอื่น ๆ เช่น การเลือกวิธีคลอด โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะแนะนำขั้นตอนต่าง ๆ อย่างวิตามินที่ต้องรับประทาน การงดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การตรวจสุขภาพเป็นประจำ ฯลฯ อีกทั้งคำแนะนำของแพทย์ยังช่วยคลายปัญหาให้คุณแม่ได้อย่างเหมาะสม เพราะฉะนั้นการฝากครรภ์จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
แม่ท้องต้องตรวจอะไรบ้าง ในขณะตั้งครรภ์จนคลอด
ตลอดการตั้งครรภ์ คุณแม่ท้องจะได้รับโอกาสให้ตรวจคัดกรอง และตรวจวินิจฉัยภาวะผิดปกติของทารกในครรภ์อยู่หลายอย่าง แม้ว่าคุณแม่บางคนอาจจะไม่ต้องตรวจทุกอย่าง แต่สำหรับคุณแม่หลายคน จะได้รับการแนะนำให้ตรวจทารกในครรภ์ ซึ่งอาจจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น อายุ พื้นที่ที่อาศัยอยู่ และความเสี่ยงต่าง ๆ ที่ทำให้คุณแม่มีแนวโน้มว่าจะมีลูกที่ความผิดปกติ ซึ่งการตรวจชนิดต่างๆ ระหว่างการตั้งครรภ์มีไว้เพื่อช่วยทำให้แน่ใจว่าทุกอย่างปกติทั้งแม่และลูกในท้อง ซึ่งหากมีสิ่งผิดปกติใดๆ เกิดขึ้น จะได้ตรวจพบโดยเร็ว และรักษาได้ทันท่วงที ทั้งนี้การตรวจบางอย่าง อาจฟังดูค่อนข้างซับซ้อน แต่นั่นเป็นการตรวจตามมาตรฐานสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคน โดยมีการตรวจหลักๆ ดังนี้
1. การตรวจน้ำคร่ำ
การตรวจน้ำคร่ำจะทำในช่วงสัปดาห์ที่ 15-18 ของการตั้งครรภ์ เป็นการตรวจเพื่อดูว่าลูกของคุณมีกลุ่มอาการดาวน์หรือความผิดปกติทางโครโมโซมอื่นๆ หรือไม่ โดยการเจาะน้ำคร่ำจะใช้เวลาประมาณ 25 นาที และคาดว่าจะทราบผลภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งคุณแม่ควรจะต้องตรวจน้ำคร่ำโดยเฉพาะหากมีอายุเกินกว่า 35 ปีแล้ว เคยคลอดลูกที่มีความผิดปกติบางอย่าง หรือเครือญาติของคุณหรือสามีมีประวัติของความผิดปกติทางพันธุกรรม
นอกจากนี้ คุณแม่อาจต้องรับการตรวจน้ำคร่ำหากผลการตรวจเลือดหรือการตรวจอัลตร้าซาวนด์เพื่อวัดความหนาของน้ำที่สะสมบริเวณต้นคอทารกชี้ว่ามีโอกาสเสี่ยงสูง
โดยปกติ การเจาะน้ำคร่ำเป็นวิธีการตรวจที่ค่อนข้างปลอดภัย มีประโยชน์มากกว่าอันตรายที่อาจเกิดจากผลแทรกซ้อน แต่ก็มีความเสี่ยงอยู่บ้างพบว่า 1 ใน 200 ราย จะมีผลแทรกซ้อนหลังจากเจาะน้ำคร่ำซึ่งอาจส่งผลให้แท้งบุตรได้ ดังนั้น ควรพูดคุยกับสูติแพทย์ของคุณให้เกิดความเข้าใจอย่างชัดเจนเสียก่อน ก่อนที่จะลงชื่อในหนังสือแสดงความยินยอม
อ่านต่อ >> “สิ่งที่แม่ท้องต้องตรวจในขณะตั้งครรภ์จนคลอด” คลิกหน้า 2
2. อัลตร้าซาวนด์ดูโครงสร้างร่างกาย
อัลตร้าซาวนด์เป็นการตรวจขั้นพื้นฐานเมื่ออายุครรภ์ 5 เดือน การตรวจอัลตราซาวนด์มีประโยชน์ในแง่สกรีนเรื่องของโครงสร้าง สามารถดูความผิดปกติของเด็กได้ตั้งแต่ศีรษะไปจนถึงเท้า ดูหน้าตามีปากแหว่ง เพดานโหว่ไหม นิ้วมือนิ้วเท้าครบหรือเปล่า หัวใจมีผิดปกติไหม
ถ้าเจอโครงสร้างที่ผิดปกติ ก็สามารถวินิจฉัยได้เลยว่าเด็กคนนี้มีความผิดปกติ เช่น ภาวะกระดูกสันไขสันหลังเปิด ซึ่งบางอย่างสามารถให้การดูแลรักษา และวินิจฉัยได้ก่อนที่เด็กจะคลอดออกมา แม่จะได้เตรียมตัวเตรียมใจกับลูกที่จะออกมา คุณหมอก็จะได้เตรียมทีมศัลยแพทย์เด็ก เตรียมกุมารแพทย์ เตรียมวิสัญญีแพทย์ เตรียมเนิร์สเซอรี่ หรือเตรียมการผ่าตัดไว้ให้พร้อม เป็นการเตรียมรับมือกับปัญหาแต่เนิ่น ๆ
3. การตรวจหาเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์
ในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ แพทย์อาจทำการตรวจหาภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งอาจพบได้ประมาณ 2 – 3 เปอร์เซ็นต์ของคุณแม่ตั้งครรภ์ ผู้ที่มีความเสี่ยงมักจะมีอายุมากกว่า 35 ปี เป็นโรคอ้วน และเคยเกิดภาวะนี้ในการตั้งครรภ์ก่อนหน้านี้ และยังพบได้บ่อยในว่าที่คุณแม่ที่มีเชื้อสายอินเดีย แอฟโฟร-คาริบเบียน หรือชาวตะวันออกกลาง วิธีนี้สามารถตรวจได้ว่าคุณมีภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์อยู่หรือไม่
อ่านต่อ >> “สิ่งที่แม่ท้องต้องตรวจในขณะตั้งครรภ์จนคลอด” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
4. การตรวจเลือดโดยทั่วไป
ระหว่างตั้งครรภ์ คุณอาจได้รับการตรวจเลือดค่อนข้างบ่อย เพื่อจะตรวจสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้
- ระดับธาตุเหล็ก: หากระดับของธาตุเหล็กในเลือดต่ำ คุณอาจรู้สึกเหนื่อยง่ายและเซื่องซึม คุณควรเพิ่มเมนูอาหารที่มีส่วนผสมของผักใบเขียวและเนื้อแดง คุณอาจต้องรับประทานธาตุเหล็กชนิดเม็ดเพื่อป้องกันเป็นโรคโลหิตจาง (ทาลัสซีเมีย)
- หมู่เลือดและหมู่เลือด Rh: แพทย์จำเป็นต้องทราบหมู่เลือดของคุณ และยังต้องทราบด้วยว่าเป็นหมู่เลือด Rh บวก (RH+) หรือ Rh ลบ (RH-) เนื่องจากหมู่เลือดทั้งสองชนิดนี้ไม่สามารถเข้ากันได้ หากหมู่เลือด Rh ของคุณกับลูกในครรภ์ไม่ตรงกันอาจมีโอกาสที่ร่างกายของคุณจะต่อต้านเซลล์เม็ดเลือดแดงของลูก ส่งผลกระทบต่อลูกน้อยของคุณในระยะท้ายๆ ของการตั้งครรภ์ได้
- หัดเยอรมัน คุณแม่อาจเคยได้รับวัคซีนนี้ในขณะยังเด็ก แต่หากผลการตรวจเลือดชี้ว่าคุณแม่ไม่มีภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน คุณต้องหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้คนที่กำลังเป็นหัดเยอรมัน เพราะว่าอาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยของคุณได้
- โรคอื่นๆ: แพทย์จะตรวจเลือดของคุณเพื่อหาโรคไวรัสตับอักเสบบีและซิฟิลิส เนื่องจากโรคสองชนิดนี้เป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ของคุณ นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะให้ตรวจหาเชื้อเอชไอวี/เอดส์ด้วย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณต้องการตรวจหรือไม่
- โรคสมองอักเสบจากเชื้อท็อกโซพลาสมา : เชื้อนี้เป็นพยาธิซึ่งติดมากับอุจจาระแมวและเนื้อที่ปรุงไม่สุก และอาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ของคุณ การตรวจหาเชื้อนี้ไม่รวมอยู่ในการตรวจทั่วไป แต่คุณสามารถปรึกษากับสูติแพทย์ได้ หากคิดว่าลูกน้อยของคุณอาจมีโอกาสเสี่ยง
5. การตรวจปัสสาวะ
แพทย์จะตรวจปัสสาวะของคุณระหว่างตั้งครรภ์เพื่อดู
- โปรตีน ในปัสสาวะ ซึ่งบอกถึงการติดเชื้อหรือการได้รับเชื้อ หรือหากพบโปรตีนในปัสสาวะร่วมกับอาการอื่นๆ อาจบ่งชี้ถึงภาวะครรภ์เป็นพิษได้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายทั้งต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ สูติแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์ของคุณสามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่คุณได้ หรือสามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับภาวะครรภ์เป็นพิษได้ที่นี่
- การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ อาจก่อให้เกิดปัญหาในระยะสุดท้ายของการตั้งครรภ์ได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง คุณแม่บางท่านอาจไม่ทราบว่าติดเชื้อเนื่องจากไม่มีอาการใดๆ แต่ตรวจพบได้ด้วยการตรวจปัสสาวะและรักษาได้ง่ายด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ
- น้ำตาล หากตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะซ้ำกันหลายครั้ง อาจจะเป็นสัญญาณของเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ( gestational diabetes) ซึ่งอาจเป็นปัญหาสำหรับคุณแม่และลูกน้อยได้ การรักษาทำได้โดยง่ายด้วยการเปลี่ยนแปลงนิสัยในการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย
ทั้งนี้ การตรวจต่าง ๆ เหล่านี้ ถ้าเป็นไปได้ควรตรวจทุกอย่าง เพราะเป็นผลประโยชน์ของคุณแม่เอง ถ้ารู้เสียแต่เนิ่น ๆ จะได้เตรียมรับมือให้ดีมากขึ้น แต่ถ้าผลออกมาว่าลูกปกติดี คุณแม่ก็จะสบายใจและมีสุขภาพจิตที่ดีมากขึ้นด้วยเช่นกันค่ะ
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!
โฉมหน้า 15 โรคแทรกซ้อน ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์
ท่านอนท่าไหนช่วยแม่ท้องหลับสบาย
ค่าใช้จ่ายในการตั้งครรภ์ ตั้งแต่ฝากครรภ์จนถึงตอนคลอด ต้องจ่ายเท่าไร?
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.babyshopathome.com
Save