กรณีที่คุณแม่เจ็บท้องคลอดลูกแบบกะทันหันนั้นมักจะเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ดังเช่นข่าวที่เคยเกิดขึ้นกับคุณแม่ที่ต้อง คลอดฉุกเฉิน ในรถตู้ แต่กลับพบว่าลูกน้อยเสียชีวิตแล้ว เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ได้เป็นอย่างดี เพราะแสดงถึงภาวะคลอดเฉียบพลันที่คุณแม่ต้องคอยสังเกตและระมัดระวัง
คลอดฉุกเฉิน รับมืออย่างไร?
คุณแม่ส่วนใหญ่มักเตรียมตัว และเดินทางไปโรงพยาบาลหลังจากสังเกตตัวเองได้ว่ามีอาการเจ็บครรภ์คลอด น้ำเดิน มีมูกเลือด หรือลูกดิ้นน้อยลง แต่บางครั้งการตัดสินใจอาจช้าเกินไป หรือโรงพยาบาลอยู่ไกลบ้าน และเจอปัญหารถติด ทำให้อาจมีโอกาสคลอดฉุกเฉินในรถ ซึ่งไม่มีคุณแม่คนไหนที่ปรารถนาให้เกิดขึ้น
คลอดฉุกเฉิน ที่บ้าน
ถ้าคุณแม่มีความจำเป็นที่ต้องคลอดที่บ้าน แนะนำให้รีบติดต่อโรงพยาบาล เตรียมตัวเตรียมใจและตั้งสติ คุณพ่อหรือคนดูแลใกล้ชิดที่จำเป็นต้องทำคลอดควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ เตรียมน้ำอุ่นไว้เช็ดตัวลูกน้อย และผ้าขนหนูหลายๆ ผืน
เมื่อถึงเวลาคลอดคุณแม่จะรู้ตัวดี ลูกน้อยจะเคลื่อนตัวมาถึงปากช่องคลอด ทำให้คุณแม่รู้สึกปวดแสบปวดร้อน ให้หายใจสั้นๆ หรือเป่าลมออกช้าๆ และใช้มือที่ล้างสะอาดแล้วคลำดูว่าหัวของลูกโผล่ที่ปากช่องคลอดแล้วหรือยัง เมื่อหัวคลอดแล้วให้คุณพ่อใช้สำลีชุบน้ำชุ่มๆ เช็ดตา และคลำรอบคอดูว่ามีสายสะดือพันอยู่หรือไม่ ถ้าพันให้ดึงหรือรูดออกให้พ้นศีรษะของลูกน้อย และอย่าแตะต้องสายสะดืออีกเด็ดขาด เพราะสายสะดืออาจหดรัดทำให้ลูกขาดออกซิเจน นอกจากนี้ห้ามดึงศีรษะ ลำตัว หรือสายสะดือของลูกน้อยเป็นอันขาด เมื่อลูกน้อยคลอดออกมาแล้ว คุณพ่อต้องจับลูกให้แน่นเพราะลูกน้อยจะตัวลื่นมาก ถ้ามีถุงน้ำคร่ำปิดหน้าลูกให้ฉีกออก แล้วลูกจะหายใจได้เอง หากลูกน้อยยังไม่ร้องทันทีหลังคลอด ให้จับตัวลูกพาดไว้บนหน้าท้องหรือต้นขาของคุณแม่ โดยให้ศีรษะอยู่ต่ำกว่าเท้า แล้วลูบหลังเบาๆ เพื่อขับมูกและกระตุ้นความดันโลหิต ซึ่งจะช่วยให้ลูกน้อยหายใจได้
หลังคลอดใหม่ คุณพ่อควรส่งลูกให้คุณแม่โอบกอดเพื่อให้ได้ไออุ่นและให้ลูกดูดนมทันที หาผ้าห่มหรือผ้าเช็ดตัวมาห่มให้คุณแม่กับลูกน้อย เพราะการให้ความอบอุ่นกับลูกนั้นมีความสำคัญอย่างมาก ถ้าอุณหภูมิร่างกายลดลงมากๆ ลูกจะเป็นอันตราย ระวังอย่าให้ลูกศีรษะเย็น คุณพ่อคุณแม่อย่าได้พยายามชำระล้างไขที่ติดตัวลูกออกและห้ามตัดสายสะดือเองโดยเด็ดขาด ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณหมอ แล้วรีบเดินทางไปโรงพยาบาลทันที
อ่าน “คลอดฉุกเฉินในรถ” คลิกหน้า 2
คลอดฉุกเฉิน ในรถ
เมื่อคุณแม่กำลังเดินทางไปโรงพยาบาลแล้วเกิดมีลมเบ่งขึ้นมากะทันหัน ให้ตั้งสติและใจเย็นๆ พยายามกลั้นลมเบ่งนั้นด้วยการหายใจเข้าออกสั้นๆ ทางปาก ทำติดต่อกันไปเรื่อยๆ เพื่อยืดเวลาให้นานที่สุด หากหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว ควรจอดรถเตรียมตัวคลอดที่เบาะหลัง เตรียมผ้าขนหนูสะอาดไว้รองรับลูกน้อยที่จะออกมา
ให้คุณแม่พยายามคลอดอย่างช้าๆ อย่าเบ่งแรงมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้ปากช่องคลอดและกล้ามเนื้อภายในอุ้งเชิงกรานฉีกขาดได้ เมื่อศีรษะลูกคลอดออกมาแล้ว ลำตัวก็จะตามมา ระหว่างคลอดคุณแม่ห้ามหนีบขาไว้เป็นอันขาด เพราะจะบีบศีรษะลูก อาจทำให้ขาดออกซิเจน และเกิดอันตรายกับสมองของลูกน้อยได้ คุณพ่อต้องจับลูกให้แน่นเพราะลูกน้อยจะตัวลื่นมาก ถ้ามีถุงน้ำคร่ำปิดหน้าลูกให้ฉีกออก แล้วลูกจะหายใจได้เอง หากลูกน้อยยังไม่ร้องทันทีหลังคลอด ให้จับขาลูกสูงขึ้น เพื่อให้ศีรษะต่ำกว่าเท้า แล้วลูบหลังเบาๆ ซึ่งจะช่วยให้ลูกน้อยหายใจได้
หลังจากนั้นใช้ผ้าสะอาดหรือเสื้อผ้าห่อตัวลูกน้อยให้อบอุ่นมิดชิด อุ้มลูกเอาไว้แนบอก ถ้ารกคลอดออกมาด้วยก็ให้ห่อรกรวมไว้กับลูกด้วย ห้ามตัดสายสะดือเองโดยเด็ดขาด แล้วรีบเดินทางไปโรงพยาบาลทันที
รกคลอดแล้วควรทำอย่างไร?
- ห้ามดึงหรือแตะต้องสายสะดือ
- ห้ามตัดสายสะดือโดยเด็ดขาด
- พยายามนวดมดลูกจนแข็ง ช่วยให้มดลูกหดรัดตัว คุณแม่จะได้ไม่ตกเลือด วิธีการนวดก็คือ ให้กดคลึงเป็นวงกลมลึกลงไปในท้องน้อยประมาณ 5-7 เซนติเมตร
- หลังจากรกคลอดออกมาแล้ว คุณแม่จะมีเลือดออก ไม่ต้องตื่นตกใจเพราะเป็นเรื่องปกติ
- คุณแม่ควรให้ลูกดูดนมทันที เพราะจะช่วยกระตุ้นให้มดลูกหดรัดตัวดีและลดการสูญเสียเลือดได้
- ถ้าลูกไม่ยอมดูดนม ให้คุณแม่นวดหัวนมเบา ๆ ซึ่งจะเป็นวิธีที่ช่วยกระตุ้นฮอร์โมนออกซีโตซินให้หลั่งออกมาได้เช่นกัน
อ่าน “สังเกตสัญญาณเตือนป้องกันคลอดฉุกเฉิน” คลิกหน้า 3
สังเกตสัญญาณเตือนป้องกันคลอดฉุกเฉิน
ผู้เชี่ยวชาญได้เตือนผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ทุกคนว่า อย่ารอให้ใกล้ถึงเวลาที่จะคลอดลูก แล้วถึงค่อยไปโรงพยาบาล ถ้ามีอาการต่อไปนี้ให้รีบไปที่โรงพยาบาลได้ทันที:
1. ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์บางคนอาจจะมีอาการเมื่อยช่วงเอว หรือผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ครั้งที่สองอาจจะมีความรู้สึกท้องแข็งมาก ถ้ามีอาการดังกล่าว ควรรีบไปตรวจที่โรงพยาบาลทันที
2. เมื่อมีอาการปวดเกร็งต่อเนื่องทุกๆ 10 นาทีหรือภายในหนึ่งชั่วโมงปวดมากกว่า 6 ครั้งควรรีบไปโรงพยาบาลทันที
3. ถ้าเจอถุงน้ำคร่ำแตกไหลออกมา ให้ยกระดับเอวให้สูงขึ้นแล้วค่อยๆ นอนลงพักผ่อน เวลานอนให้ยกสะโพกสูงกว่าหัว อย่ายืนขึ้นหรือเดินลงบันไดด้วยตัวเอง ให้รอจนกว่ารถพยาบาลจะมารับ
4. ผู้หญิงที่เคยได้รับการรักษาภาวะมีบุตรยาก มีโอกาสที่จะคลอดลูกอย่างฉับพลันสูงกว่าคนทั่วๆ ไป
5. ผู้หญิงที่เคยคลอดลูกมาแล้วหรือเคยมีประสบการณ์ที่คลอดลูกอย่างฉับพลันนั้น อย่ารอจนถึงนาทีสุดท้ายแล้วค่อยไปโรงพยาบาล แนะนำให้ไปก่อนและรออยู่ในโรงพยาบาลจะดีกว่า
6. ในการตั้งครรภ์นั้นช่วงใกล้คลอดไม่ควรออกไปข้างนอกบ่อยๆ หรือออกไปเที่ยวบ่อยๆ
การคลอดลูกแบบฉับพลันอย่างคุณแม่ในข่าวนั้น อาจส่งผลกระทบต่อทารกได้ ซึ่งอาจทำให้กะโหลกศีรษะแตกหรือสมองได้รับบาดเจ็บได้ และอาจนำไปสู่ผลข้างเคียงต่างๆ กับเด็กทารกได้ ดังนั้นทุกคนควรป้องกันและระมัดระวังไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้เหมือนกับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์นี้
ข้อมูลอ้างอิง: MedThai
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่