คุณแม่ท้องเชื่อหรือไม่? แค่ท่านั่ง ก็สามารถช่วย เร่งปากมดลูกเปิด ให้เร็วขึ้น และลดอาการเจ็บท้องคลอดได้อีกด้วย กับท่าผีเสื้อประยุกต์ ดัดแปลงจากท่าผีเสื้อซึ่งเป็นท่าหนึ่งในโยคะอาสนะ
ซึ่งเชื่อว่าความปรารถนาสูงสุดของคุณแม่ท้องทุกคน ก็คือ การให้กำเนิดลูกน้อยที่สมบูรณ์พร้อมทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญาและอารมณ์ รวมถึงการลดอาการที่ไม่พึงประสงค์ของตัวคุณแม่เองระหว่างตั้งครรภ์
การเจ็บท้องคลอดและ เร่งปากมดลูกเปิด ให้เร็วขึ้น ด้วยท่านั่งผีเสื้อ
หากพูดถึงการเจ็บท้องคลอดจริง (True Labor) ก็ถือเป็นเรื่องทรมานอย่างมากในขั้นตอนหนึ่ง ซึ่งคุณแม่จะมีอาการเจ็บท้องรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในลักษณะที่เจ็บสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง รุนแรงขึ้น นานขึ้น และถี่ขึ้นจนกว่ากระบวนการคลอดจะสิ้นสุดลง โดยจะเริ่มเจ็บที่ส่วนบนของมดลูกก่อน แล้วเจ็บร้าวลงไปข้างล่าง ท้องแข็งตึง และถ้าคุณแม่ท้องเดินหรือเคลื่อนไหวก็จะเจ็บมากขึ้น
ซึ่งเมื่อคุณแม่มีการเจ็บท้องคลอดจริงเกิดขึ้น มดลูกจะหดรัดตัวเป็นจังหวะ มีความรุนแรงสม่ำเสมอและถี่มากขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะแรกมดลูกจะหดรัดตัวนานครั้งละ 30-60 วินาที และทิ้งช่วงเวลาห่างกันประมาณครั้งละ 5-20 นาที และในระยะท้ายของการเจ็บท้องคลอด มดลูกจะหดรัดตัวถี่ขึ้น โดยจะหดรัดตัวนานครั้งละ 60-90 วินาที ใช้เวลาห่างกันครั้งละ 2-4 นาที (อาการเจ็บท้องคลอดจะมีกลไกคล้ายกับอาการเจ็บหน้าอก ขณะที่มดลูกหดรัดตัว เส้นเลือดต่าง ๆ ในกล้ามเนื้อมดลูกจะถูกบีบรัดไปด้วย มดลูกจึงมีอาการขาดเลือดและออกซิเจนจนทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บท้อง และความเจ็บปวดจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมดลูกหดรัดตัวถี่)
เมื่อเริ่มมีอาการเจ็บท้องคลอด คุณแม่ต้องทำอะไรบ้าง ?
ทั้งนี้เมื่อคุณแม่เริ่มเจ็บท้องควรตั้งสติใจเย็น ๆ สำหรับคุณแม่ท้องแรกอาการเจ็บท้องอาจนานถึง 12-24 ชั่วโมง ส่วนในท้องหลัง ๆ นั้น จะมีอาการเจ็บท้องประมาณ 7 ชั่วโมง คุณแม่อย่าลืมเตือนตัวเองในทันทีเมื่อเริ่มเจ็บท้องคลอด โดยให้ทำสิ่งต่อไปนี้
- แจ้งให้ทางโรงพยาบาลที่ฝากครรภ์ทราบ
- หากคุณแม่ไม่มีใครพาไปโรงพยาบาล ต้องติดต่อขอรถพยาบาลให้มารับ
- ติดต่อให้คุณพ่อช่วยส่งข่าวให้ญาติสนิทและเพื่อนใกล้ชิดทราบ เพื่อจะได้ช่วยให้กำลังใจในการคลอด
- บอกกล่าวฝากฝังผู้ที่จะช่วยดูแลลูกได้
- ตรวจดูกระเป๋าที่จัดเตรียมไว้ทั้งของคุณแม่และลูกน้อยว่าเรียบร้อยดีหรือไม่
- ในขณะที่รอคนมารับไปโรงพยาบาล ให้คุณแม่นั่งพักทำจิตใจให้สบาย
อ่านต่อ >> “งานวิจัยเผย นั่งท่าผีเสื้อประยุกต์
ลดการเจ็บปวดและช่วยเร่งปากมดลูกเปิดเร็ว” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
โดยคุณแม่แต่ละคนจะมีระยะเวลาในการเจ็บท้องคลอดต่างกัน คุณแม่ท้องแรกอาจจะมีอาการเจ็บท้องนานถึง 12-14 ชั่วโมงก่อนที่จะมีการคลอดเกิดขึ้น แต่สำหรับคุณแม่ท้อที่ 2 ขึ้นไปแล้วจะเจ็บท้องคลอดนานประมาณ 6-7 ชั่วโมง แต่อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาของการเจ็บท้องคลอดอาจจะเนิ่นนานกว่าปกติถ้าทารกอยู่ในท่าหรือมีส่วนนำที่ผิดปกติขณะอยู่ในครรภ์ (โดยเฉพาะทารกที่มีส่วนนำที่ไม่ใช่ศีรษะ) อีกทั้งอาการเจ็บท้องตลอดยังแบ่งเป็นระยะย่อย ๆ ได้อีก 3 ระยะ
- โดยระยะแรกจะใช้เวลาค่อนข้างนานประมาณ 5-8 ชั่วโมงในครรภ์แรก ซึ่งเป็นระยะที่อาการเจ็บยังไม่รุนแรงนักและเป็นระยะที่ปากมดลูกเริ่มเปิดมากขึ้นเรื่อย ๆ
- ส่วนในระยะถัดมาจะเป็นการเจ็บท้องถี่และรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3-5 ชั่วโมง
- จนกระทั่งในระยะสุดท้ายหรือ “ระยะเบ่ง” คุณแม่จะรู้สึกเจ็บท้องรุนแรงมากที่สุดและกินระยะเวลานานประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งจะเป็นช่วงก่อนที่จะมีการเบ่งทารกคลอดออกมา (ตลอดระยะเวลาที่คุณแม่เจ็บท้อง แพทย์จะพิจารณาให้ยาบรรเทาอาการเจ็บทางเส้นเลือด หรืออาจฉีดยาชาเข้าทางไขสันหลังให้กับคุณแม่)
ทั้งนี้การใช้ยาฉีดแก้ปวดพบว่า… อาจกดการหายใจของทารก การกินยาแก้ปวด การเตรียมความพร้อมของแม่ การสะกดจิตแม่ท้อง หรือการฝังเข็ม ก็ไม่สามารถช่วยลดความปวดได้อย่างเป็นที่พอใจ ดังนั้นแล้วในศาสตร์ของมณีเวชเกี่ยวกับการจัดร่างกายให้สมดุล จึงได้มีการพัฒนาการนั่งท่าผีเสื้อ เพื่อช่วยเพิ่มปริมาตรในอุ้งเชิงกรานทำให้การกดเบียดของมดลูกต่อเส้นประสาท เส้นเลือดดำ-แดง ตลอดจนระบบน้ำเหลืองน้อยลง ให้อาการปวดท้องและปวดหลังของการเจ็บครรภ์คลอดลดลงได้ อีกทั้งการนั่งท่าผีเสื้อนั้นก็สามารถลดระยะเวลาการคลอดโดยเฉพาะในระยะปากมดลูกเปิดเร็ว พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการหดรัดตัวของมดลูก ให้ทำการคลอดเร็วขึ้นได้
ผลการวิจัยต่อการนั่งท่าผีเสื้อประยุกต์ เร่งปากมดลูกเปิด
การนั่งท่าผีเสื้อประยุกต์ สามารถช่วยลดการเจ็บปวดและเร่งปากมดลูกให้เปิดเร็วขึ้น โดยได้มีผลการวิจัยถึงการใช้ท่านั่ง ที่เข้ามามีส่วนช่วยในการลดความเจ็บปวดระหว่างคลอด ซึ่ง ท่าผีเสื้อประยุกต์ นี้ เป็นท่าที่ศึกษาดัดแปลงจากท่าผีเสื้อ (Bhadrasana) ซึ่งเป็นท่าหนึ่งในชุดท่าโยคะอาสนะที่ใช้บริหารร่างกายหญิงตั้งครรภ์
ซึ่งผู้วิจัยได้ทดลองสุ่มคุณแม่ท้องที่มีการตั้งครรภ์แรก ครรภ์เดี่ยว มีศีรษะของทารกเป็นส่วนนำ อายุครรภ์ 37-42 สัปดาห์ และคาดคะเนน้ำหนักทารกไม่เกิน 4,000 กรัม ทั้งนี้ครรภ์จะต้องเข้าสู่ระยะการคลอดโดยธรรมชาติ และมีปากมดลูกเปิด 3 เซนติเมตรขึ้นไป ความบาง 100% โดยเลือกตัวอย่าง 60 คน และสุ่มให้นั่งท่าผีเสื้อในระยะที่ปากมดลูกเปิดเร็ว ครั้งละ 15 นาที ทุก 1 ชั่วโมง จนปากมดลูกเปิดหมด และประเมินการเจ็บครรภ์ด้วย VAS (Visual Analog Scale)
ซึ่งผลสรุปคือ
การนั่งท่าผีเสื้อประยุกต์ในระยะเจ็บครรภ์คลอดในช่วงปากมดลูกเปิดเร็ว (ปากมดลูกเปิด 3 หรือ 4 เซนติเมตร ถึง 10 เซนติเมตร จะช่วยให้ปากมดลูกเปิดเร็วขึ้น ช่วยลดระยะเวลาในการเจ็บคลอดได้ สำหรับการลดปวดในระยะคลอด การนั่งท่านี้ช่วยให้ปวดน้อยลงแต่บางท่านไม่ช่วยลดปวด (ผลศึกษาค่าเฉลี่ยความปวดไม่แตกต่างกัน)
นั่งท่าผีเสื้อช่วยเร่งมดลูกเปิดเร็วได้จริงหรือ?
ทั้งนี้ยังได้มีมีงานวิจัยเผยถึง ท่าทางของคุณแม่ท้องตอนที่กำลังจะคลอดว่ามีผลต่อแรงหดรัดตัวของมดลูก ขนาดเชิงกราน และการหมุนภายในของทารก ซึ่งการนั่งท่าผีเสื้อนั้นก็สามารถลดระยะเวลาการคลอดโดยเฉพาะในระยะปากมดลูกเปิดเร็ว พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการหดรัดตัวของมดลูก ให้ทำการคลอดเร็วขึ้นได้
โดยในการศึกษาวิจัยนี้ผู้ศึกษาได้ทดลองแบบสุ่ม คุณแม่ท้อง 48 ราย แบ่งเป็นกลุ่มนั่งท่าผีเสื้อ และกลุ่มควบคุมเท่าๆ กัน เริ่มศึกษาเมื่อเข้าสู่ระยะของการคลอดโดยธรรมชาติ ปากมดลูกเปิดตั้งแต่ 3 เซนติเมตร ได้รับยาออกซิโตซินทางหลอดเลือดดำ และใช้รูปภาพแสดงวิธีการนั่งท่ามณีเวชประกอบการสอนนั่ง พรอ้มบันทึกข้อมูล ได้แก่ ลักษณะถุงน้ำคร่ำ ระดับส่วนนำของทารกเมื่อเริ่มศึกษา เวลาที่ปากมดลูกเปิด 10 เซนติเมตร การวัดผลลัพธ์ คือ เวลาเฉลี่ยการเปิดของปากมดลูกต่อ 1 เซนติเมตร
ซึ่งผลการศึกษาสรุปได้ว่า ค่าเฉลี่ยเวลาเปิดของปากมดลูกในกลุ่มนั่งท่าผีเสื้อประยุกต์ และกลุ่มควบคุม เท่ากับ 19.6 และ 29.4 นาทีต่อเซนติเมตร ตามลำดับ นั่นหมายถึงการนั่งท่าผีเสื้อประยุกต์ในขณะรอคลอดนั้น สามารถช่วยให้ปากมดลูกเปิดเร็วกว่าการนอนรอคลอดปกติ
อ่านต่อ “ขั้นตอนการจัดท่านั่งท่าผีเสื้อประยุกต์ ” คลิกหน้า 3
อ่านต่อ “บทความดีๆ น่าสนใจ”คลิก!
- 6 อาหาร ช่วยแม่ท้องเร่งคลอดแบบธรรมชาติ
- การเร่งคลอด คืออะไร ทำไมถึงต้องเร่งคลอด?
- วิธีเร่งคลอด ด้วยวิธีธรรมชาติ ป้องกันคุณแม่ท้องเกินกำหนด
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ในระยะ 4-6 สัปดาห์ก่อนคลอด ช่วงใกล้คลอดเป็นช่วงที่แม่ท้องต้องพักผ่อนให้มาก การบริหารต่างๆ ต้องลดลง ส่วนใหญ่จะให้ฝึกท่าที่ผ่อนคลายและการฝึกหายใจ ฝึกสมาธิ ฝึกเตรียมการคลอดเวลาเจ็บครรภ์คลอดซึ่งปกติการตั้งครรภ์จะใช้เวลาประมาณ 9 เดือน และจะคลอดเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 37-43 สัปดาห์ ส่วนใหญ่จะคลอดในสัปดาห์ที่ 40–41 เมื่อเวลาใกล้คลอดจะมีอาการเจ็บครรภ์เตือน มดลูกเริ่มมีการบีบตัว ครั้งแรกๆ อาจจะเจ็บท้องเพียงเล็กน้อยเป็นเวลาหลายชั่วโมงหรือเป็นวันแล้วหายไป เมื่อถึงเวลาจะคลอดจริงอาการปวดจะถี่ขึ้น และมีน้ำเดินตามมา ศีรษะเด็กจะลงมาในอุ้งเชิงกราน การคลอดจึงเกิดขึ้น คุณแม่ท้องจึงต้องฝึกหัดการหายใจเพื่อจะได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเมื่อเวลาเจ็บครรภ์จริง อย่างท่าผีเสื้อ ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ว่าสามารถช่วยลดกรเจ็บท้องคลอดละเร่งปากมดลูกเปิดเร็วขึ้นได้
วิธีฝึกปฏิบัติโยคะท่าผีเสื้อ
ประโยชน์ของโยคะท่าผีเสื้อ จะช่วยในระบบขับถ่ายปัสสาวะและลำไส้เล็ก อุ้งเชิงกราน มดลูกและรังไข่กระตุ้นระบบประสาทที่ควบคุมการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ บรรเทาอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- ให้แม่ท้องนั่งลำตัวตรงยืดขา อยู่ในท่าเตรียมก่อนนั่งท่าผีเสื้อ
- จากนั้นดึงฝ่าเท้าประกบกันไว้ ให้ส้นเท้าชิดกับฝีเย็บมากที่สุด แล้วเอามือจับเข่าทั้งสองกดลงแนบกับพื้นเท่าที่ทำได้แล้วปล่อย ทำหลายๆ ครั้ง ท่านี้ช่วยให้ข้อสะโพกและกระดูกหัวเหน่าขยายออก ช่วยให้การคลอดง่ายขึ้น
- ต่อมามือทั้งสองจับปลายเท้าไว้ กดเข่าชิดพื้น ให้มากที่สุด หายใจเข้าช้าๆ ยืดอกขึ้นเต็มที่ ต่อมาหายใจออกค่อยๆ ก้มตัวลงหน้าผากชิดปลายเท้า เท่าที่ทำได้ ค้างสักครู่ หายใจเข้าเงยหน้าขึ้น ทำซ้ำ 2-3 ครั้ง
- หลังจากนั้นให้ฝึกขมิบก้นต่อ โดยนั่งในท่าเดิมหายใจเข้าช้าๆ แล้วหายใจออกจนลมหมด ขมิบก้นและช่องคลอดค้างไว้ 5-10 วินาที และผ่อนคลาย ทำซ้ำ 10-20 ครั้ง ฝึกเช้าเย็นทุกวันจะช่วยให้กล้ามเนื้อหูรูดมีความยืดหยุ่นขยายตัวดี
การนั่งท่าผีเสื้อประยุกต์รอคลอด เร่งปากมดลูกเปิด
- คุณแม่นั่งอยู่บนเตียงรอคลอดในท่าเตรียม (นั่งตัวตรงยืดขา)
- ให้คุณแม่ดึงฝ่าเท้าเข้ามาประกบกัน โดยให้ส้นเท้าอยู่ชิดกับฝีเย็บมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
- จากนั้นนำหมอนมาวางบนโต๊ะคร่อมเตียงที่ด้านหน้าของคุณแม่ โดยให้ความสูงของหมอนอยู่ในระดับซอกรักแร้ โดยวางแขนแล้วคว่ำมือทั้ง 2 ลงบนหมอน ในท่านั่งที่เท้าประกบกันแล้ว ตามภาพที่ 2
- แล้วให้คุณแม่ท้องเอนตัวไปข้างหน้า โดยให้แนวกระดูกสันหลังทำมุมประมาณ 15 องศากับแนวดิ่ง แล้วซบหน้าลงบนหมอนระหว่างแขนทั้งสองข้างที่กางออก โดยให้ตะแคงหน้าทางด้านใดด้านหนึ่ง แล้วค่อยๆ คลายหัวไหล่ออก งอข้อศอกออกเล็กน้อยพร้อมหันข้อศอกออกด้านนอก
- จากนั้นทิ้งน้ำหนักตัวไปข้างหน้าตามสบาย หายใจเข้าออกตามธรรมชาติ ดังภาพที่ 3 และ 4 โดยเรียกท่านี้ว่าเป็นท่านั่งผีเสื้อประยุกต์
:: ข้อห้ามในการจัดท่านั่งผีเสื้อประยุกต์ในระยะคลอด ::
ในการจัดท่านั่งระยะคลอดของคุณแม่ท้อง ต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายหรือมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ จึงไม่ควรจัดท่านั่งผีเสื้อประยุกต์ให้คุณแม่ที่มีระยะใกล้คลอดซึ่งกำลังมีภาวะร่างกาย ดังต่อไปนี้
- ในคุณแม่ระยะคลอดที่มีการรั่วหรือแตกของถุงน้ำคร่ำ ในขณะที่ส่วนนำของทารกยังไม่เคลื่อนเข้าสู่ช่วงของเชิงกราน หรือส่วนนำยังไม่อยู่ที่ระดับ 0 เพราะอาจส่งผลให้เกิดสายสะดือพลัดต่ำหรือสายสะดือถูกกด ทำให้ลูกน้อยอาจเสียชีวิตในครรภ์ได้
- คุณแม่ระยะคลอดที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุขณะนั่งในท่านี้ได้ ทำให้มีภาวะตกเลือดก่อนคลอด รกเกาะต่ำ เนื่องจากจะส่งผลให้เกิดการเสียเลือดมากขึ้น มีการมดลูกหดรัดตัวแรงผิดปกติ เนื่องจากท่านั่งนี้จะเพิ่มแรงดันภายในมดลูกตามแรงโน้มถ่วงของโลก
อ่านต่อ “บทความดีๆ น่าสนใจ”คลิก!
- วิธีเบ่งคลอดลูกที่ถูกต้อง สำหรับคุณแม่เตรียมคลอดลูก
- ไขข้อข้องใจ! อุ้งเชิงกรานแคบ คลอดเองได้ไหม
- ทำคลอดทารกท่าก้น ทารกไม่กลับหัว สัญญาณอันตรายหรือไม่?
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก : วิทยานิพนธ์ เรื่อง ผลของการจัดท่าผีเสื้อประยุกต์ต่อความปวด และเวลาในระยะปากมดลูกเปิดเร็ว ในหญิงระยะคลอด / วิทยานิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญา พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต (การผดุงครรภ์) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 2558
http://db.hitap.net/articles/2597 , http://db.hitap.net/articles/2306 , http://db.hitap.net/articles/2375