ปากมดลูกสั้น จัดอยู่ในภาวะครรภ์เสี่ยงสูง ซึ่งหมายถึง การตั้งครรภ์ที่มีโอกาสแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดสูงกว่าปกติ เพราะปากมดลูกเป็นเสมือนประตูที่ช่วยป้องกันไม่ให้ทารกคลอดออกมาก่อนครรภ์สมบูรณ์ หากปากมดลูกเกิดความผิดปกติย่อมเป็นอันตรายกับทารกในครรภ์ได้ แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าอยู่ในภาวะปากมดลูกสั้น และมีวิธีป้องกันความเสี่ยงดังกล่าวอย่างไร เรามีข้อมูลมานำเสนอค่ะ
ปัจจัยเสี่ยงจากการตั้งครรภ์
การแท้งหรือการคลอดก่อนกำหนด คือ ภาวะที่ทารกคลอดและเสียชีวิตก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ ด้วยสาเหตุปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่
- คุณแม่ตั้งครรภ์มีอายุน้อยกว่า 18 ปี และอายุมากกว่า 35 ปี ขึ้นไป
- คุณแม่มีน้ำหนักตัวก่อนและหลังตั้งครรภ์มากหรือน้อยกว่าเกณฑ์น้ำหนักเฉลี่ยจากการตั้งครรภ์
- คุณแม่เคยมีประวัติการแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดมาก่อน
- คุณแม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต มะเร็ง และธาลัสซีเมีย
- คุณแม่มีภาวะผิดปกติของระบบเจริญพันธุ์ เช่น โพรงมดลูกอักเสบ รกผิดปกติ ปากมดลูกสั้น
- คุณแม่เคยตั้งครรภ์แฝด หรือมีภาวะน้ำคร่ำมาก
- การใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสมของคุณแม่ตั้งครรภ์ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ใช้ยาที่อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
ปัจจัยเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ที่อาจเกิดอันตรายต่อทั้งตัวคุณแม่และทารกได้ ซึ่งภาวะปากมดลูกสั้น ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ไม่ควรละเลย เพราะสามารถเกิดขึ้นโดยคาดไม่ถึง แต่หากมีข้อมูลหรือแนวทางป้องกันก็จะช่วยให้ทารกน้อยอยู่ในครรภ์ได้อย่างสมบูรณ์และปลอดภัย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ ปากมดลูกสั้นเป็นอย่างไร จะรู้ได้อย่างไร คลิกหน้า 2
ปากมดลูกสำคัญอย่างไร
ปากมดลูก หรือ คอมดลูก เป็นเนื้อเยื่อปลายสุดของมดลูก ซึ่งเป็นช่องรอยต่อระหว่างช่องคลอดและมดลูก ปากมดลูกมีหน้าที่สำคัญในการสร้างเมือกเพื่อช่วยปรับสมดุลภายในและให้ความชุ่มชื้นกับช่องคลอด ทำให้อสุจิสามารถเข้าไปผสมกับไข่ จนเกิดการตั้งครรภ์ หลังจากตั้งครรภ์ปากมดลูกก็จะทำหน้าที่เป็นเสมือนประตู เพื่อปิดกั้นให้ทารกอยู่ในมดลูกอย่างสมบูรณ์ตลอดอายุครรภ์อีกด้วย
ปากมดลูกสั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
- ความแตกต่างทางสรีระ เช่น คุณแม่บางคนไม่มีปากมดลูก หรือขนาดปากมดลูกในแต่ละคนที่แตกต่างกัน
- ปากมดลูกสั้นที่เกิดจากการทำหัตถกรรมถ่างขยายปากมดลูก เช่น เคยรับการขูดมดลูกมาก่อน
- การรักษารอยโรคขั้นต่ำของมะเร็งปากมดลูก หรือภาวะ cervical intraepithelial neoplasia ซึ่งอาจจะต้องมีการตัดปากมดลูกออก
- การติดเชื้อ และการอักเสบของรก
- มดลูกมีการขยายมากเกินไป
ปากมดลูกสั้น เป็นอย่างไร
เมื่อฝากครรภ์แล้ว คุณหมอจะตรวจร่างกาย ซักประวัติ และประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ เช่น เคยมีประวัติการคลอดก่อนกำหนด หรือภาวะแท้งหรือไม่ สุขภาพครรภ์แข็งแรงหรือไม่ เป็นต้น หากพบว่า คุณแม่มีภาวะเสี่ยงต่อการแท้งลูกหรือคลอดก่อนกำหนด คุณหมอจะทำการตรวจอย่างละเอียดยิ่งขึ้น เพื่อหาทางป้องกันภาวะต่าง ๆ รวมทั้งภาวะปากมดลูกสั้น
เราจะทราบว่าปากมดลูกสั้นหรือไม่จากการอัลตร้าซาวด์ทางช่องคลอด เพื่อวัดขนาดความยาวของปากมดลูก โดยทั่วไปปากมดลูกจะมีความยาวเฉลี่ย 3 เซนติเมตร และกว้าง 2.5 เซนติเมตร แต่หากมีภาวะปากมดลูกสั้น ในคุณแม่ที่เคยมีประวัติคลอดก่อนกำหนดมาก่อน ความยาวเฉลี่ยจะน้อยกว่า 2.5 เซนติเมตร และปากมดลูกมีความยาวน้อยกว่า 2 เซนติเมตร ในคุณแม่ตั้งครรภ์ปกติจึงถือว่าเข้าข่าย “ปากมดลูกสั้น” คุณหมอจะทำการรักษาและป้องกันการคลอดก่อนกำหนดต่อไป
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ อาการเตือนให้ระวัง ภาวะแท้ง คลิกหน้า 3
ปากมดลูกสั้นส่งผลต่อคุณแม่ตั้งครรภ์อย่างไร
ปากมดลูกสั้น มีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด เนื่องจากปากมดลูกอาจจะเปิด และคลอดทารกออกมาตั้งแต่อายุครรภ์ยังไม่ครบกำหนด ซึ่งหากได้รับการตรวจแล้วพบว่ามีภาวะปากมดลูกสั้น คุณหมอจะให้ยาเพื่อคลายกล้ามเนื้อหรือฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพื่อลดการบีบตัวของมดลูก ซึ่งมีทั้งแบบฉีดและแบบเม็ดรับประทาน หรือหากมีอาการรุนแรงอาจจะต้องทำการผ่าตัดเย็บผูกปากมดลูก ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 12 จนถึง 23 สัปดาห์ หลังตรวจพบ เพราะยิ่งมีอายุครรภ์มากการเย็บผูกปากมดลูกก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด และถุงน้ำคร่ำแตกสูงตามไปด้วย
อาการเตือนให้ระวัง…ภาวะแท้ง
คุณแม่ที่มีภาวะปากมดลูกสั้น ควรปรึกษาคุณหมอและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ศึกษาหาข้อมูลและดูแลตนเอง โดยหมั่นสังเกตสัญญาณเตือนต่าง ๆ เช่น ปวดหลังต่อเนื่อง ปวดท้องบีบเกร็ง รู้สึกว่ามดลูกบีบตัวบ่อยขึ้น มีของเหลวปนมูกเลือดไหลทางช่องคลอด อาการจากการตั้งครรภ์หายไป ไม่คัดตึงเต้านม หายจากการคลื่นไส้อาเจียน นั่นเป็นสัญญาณเตือนให้ระวังภาวะแท้งหรือคลอดก่อนกำหนด
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ การดูแลครรภ์ เพื่อป้องกันการแท้ง คลิกหน้า 4
การดูแลครรภ์ เพื่อป้องกันการแท้ง
ปากมดลูกสั้น ภาวะเสี่ยงต่อการแท้ง และคลอดก่อนกำหนดที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่าเป็นอันตรายแก่ชีวิตทารกในครรภ์ คุณแม่จึงควรดูแลและหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลง เพื่อให้การรักษาได้ทันท่วงทีหากเกิดความผิดปกติใด ๆ โดยมีคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลครรภ์ ดังนี้
- ฝากครรภ์ทันที หลังทราบว่ากำลังตั้งครรภ์
- เมื่อตรวจพบว่ามีความเสี่ยงต่อภาวะปากมดลูกสั้น ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด และไปตามนัดหมายทุกครั้ง
- หากมีการเย็บผูกปากมดลูก เพื่อป้องกันการแท้ง ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ 1-2 สัปดาห์หลังทำการเย็บผูกปากมดลูก
- รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ศึกษาเกี่ยวกับโภชนาการอาหารของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เหมาะสม และรักษาน้ำหนักตัวให้สมดุลตามเกณฑ์การตั้งครรภ์
- พักผ่อนให้เพียงพอและหากิจกรรมผ่อนคลาย เพื่อลดอาการเครียด
- หลีกเลี่ยงการทำงานหนักประเภท ยก แบก หรือใช้แรงมาก เพื่อป้องกันการแท้ง
- หากพบความผิดปกติจากสัญญาณเตือนที่ได้กล่าวมาแล้ว ควรรีบไปพบคุณหมอทันที
แม้ว่าภาวะปากมดลูกสั้น จะเป็นอันตรายถึงชีวิตกับทารก แต่คุณแม่ที่มีปากมดลูกสั้นหลายคนก็ยังคงสามารถตั้งครรภ์ที่สมบูรณ์จนครบกำหนดคลอดได้ เพียงแค่ใส่ใจดูแลครรภ์อย่างระมัดระวัง และหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกายอยู่เสมอ จะช่วยให้ครรภ์สมบูรณ์แข็งแรงและปลอดภัย ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงจากการแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้อย่างแน่นอน
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ คลิก
ปากมดลูกหลวม เสี่ยงแท้ง คลอดก่อนกำหนด
ปากมดลูกเปิดเป็นยังไง แม่ท้องรู้ไว้ก่อนเข้าห้องคลอด!
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
นพ.ปัญญา ศักดิ์สง่าวงษ์.รู้หรือไม่??? “ความยาวปากมดลูก ช่วยทำนายโอกาสเสี่ยงแท้ง/คลอดก่อนกำหนดได้”.
พ.ญ.ปิยะธิดา ภุมรา ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.Cervical Insufficiency.
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ พนัส เฉลิมแสนยากร.อวัยวะเพศภายในสตรี: กายวิภาคอวัยวะเพศภายในสตรี (Anatomy of female internal genitalia) / สรีรวิทยาอวัยวะเพศภายในสตรี (Physiology of female internal genitalia).
พ.ญ.วสกร เสือดี ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.หัตถการการเย็บผูกปากมดลูก (Cervical cerclage).
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่