โรคหัดเยอรมัน อันตราย ควรฉีดวัคซีนก่อนท้องนานแค่ไหน - Amarin Baby & Kids
โรคหัดเยอรมัน อันตราย

โรคหัดเยอรมัน อันตราย ที่คนท้องต้องระวัง ควรฉีดวัคซีนก่อนท้องนานแค่ไหน

account_circle
event
โรคหัดเยอรมัน อันตราย
โรคหัดเยอรมัน อันตราย

โรคหัดเยอรมัน อันตราย ฝันร้ายของคนท้อง อันตรายร้ายแรงกับเด็ก โรคนี้มีอาการอย่างไร ต้องฉีดวัคซีนก่อนตั้งครรภ์นานแค่ไหน

โรคหัดเยอรมัน อันตราย ภัยร้ายแม่ท้อง

เมื่อเข้าฤดูหนาว สิ่งหนึ่งที่พ่อแม่หลายคนมักกังวลเกี่ยวกับลูกน้อย คือโรคร้ายที่มาพร้อมกับลมหนาว หนึ่งในโรคอันตราย ได้แก่ โรคหัดเยอรมัน ที่มักจะระบาดเป็นประจำทุกปี ซึ่งไม่ใช่แค่เด็กตัวเล็ก ๆ เท่านั้น แต่หัดเยอรมันยังเป็นอันตรายต่อคนท้องและทารกในครรภ์อีกด้วย

“หัดเยอรมัน” โรคที่มาพร้อมหน้าหนาว แต่จะระบาดบ่อยในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสรูเบลล่า (Rubella Virus) ที่อยู่ในน้ำมูก น้ำลาย จึงอันตรายสำหรับเด็กที่เข้าโรงเรียนแล้ว เพราะมักจะพบการระบาดในที่ที่มีคนอยู่รวมกันมาก ๆ อย่างโรงเรียน โรงงาน หรือสถานที่ทำงาน

โรคหัดเยอรมัน อันตราย
โรคหัดเยอรมัน อันตราย

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นหัดเยอรมัน?

หากมีการสัมผัสน้ำมูก น้ำลายที่มีเชื้อหัดเยอรมันอยู่ เชื้อจะมีชีวิตในร่างกายคนได้นานถึง 1 ปี เมื่อติดเชื้อแล้วจะยังไม่เกิดอาการทันที จะใช้เวลาประมาณ 14-21 วัน จึงจะเริ่มเกิดอาการ โดยในช่วงแรกค่อนข้างมีอาการคล้ายกับการติดเชื้อไวรัสทั่วไป โดยหลังจากนั้น 1-2 วัน ผู้ป่วยมักจะเริ่มมีอาการดังนี้

  1. มีไข้ต่ำถึงปานกลาง (ประมาณ 37.2-37.8 องศาเซลเซียส) ปวดศีรษะ อาจเจ็บคอร่วมด้วย
  2. ต่อมน้ำเหลืองโต โดยเฉพาะบริเวณคอ ท้ายทอย
  3. หลังหู มีตุ่มนูน ผื่นแดงหรือสีชมพูขึ้นที่ใบหน้า ก่อนจะลามลงมาตามผิวหนังส่วนอื่น ๆ เช่น แขน ขา และจะค่อย ๆ หายไปภายใน 3 วัน โดยผื่นมักมีลักษณะอยู่กระจายตัว ไม่กระจุกตัวเป็นกลุ่ม และเมื่อผื่นหายมักไม่ค่อยทิ้งรอยแผลจากผื่นทิ้งไว้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคันตามผิวหนังร่วมด้วย

อาการอื่น ๆ ที่สามารถพบได้ทั่วไป และมักเกิดขึ้นกับวัยรุ่นและผู้ใหญ่ อาทิ

  • ปวดศีรษะ
  • ไม่อยากอาหาร
  • เยื่อบุตาอักเสบจนทำให้ตาแดง
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล
  • ต่อมน้ำเหลืองตามร่างกายมีอาการบวม ปวดข้อ และข้อต่อบวม

ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย หรืออาจไม่มีอาการของโรคได้เช่นกัน

โรคหัดเยอรมัน อันตราย
โรคหัดเยอรมัน อันตราย

สำหรับอาการของโรคที่เกิดในเด็กจะร้ายแรงน้อยกว่าเมื่อเกิดขึ้นในผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค ทั้งนี้ อาการของโรคจะคงอยู่ไม่นานประมาณ 2-3 วัน ยกเว้นในกรณีที่ต่อมน้ำเหลืองมีอาการบวมอาจเป็นอยู่นานหลายสัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้ ที่พบคือ สมองอักเสบ ข้อนิ้วมือนิ้วเท้าอักเสบ หากมีอาการที่คล้ายกับที่กล่าวมาควรรีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนอาจส่งผ่านเชื้อไปยังทารกในครรภ์ได้

การรักษาโรคหัดเยอรมัน

โรคหัดเยอรมัน เป็นโรคที่ไม่มียาต้านไวรัส ถ้าเกิดในเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ไม่ตั้งครรภ์ ให้รักษาตามอาการ เช่น กินยาลดไข้ เช็ดตัวลดไข้ ดื่มน้ำมาก ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ

วิธีป้องกันโรคหัดเยอรมัน

การป้องกันโรคหัดเยอรมัน ป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย เพราะจะเสี่ยงต่อการรับเชื้อมาได้โดยง่าย ที่สำคัญที่สุด คือ ควรฉีดวัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม หรือเรียกสั้น ๆ ว่า วัคซีนรวมเอ็มเอ็มอาร์ (MMR) ตามเกณฑ์ที่กำหนด

ตามแผนกระทรวงสาธารณสุขจะมีการฉีดวัคซีนรวมเอ็มเอ็มอาร์ทั้งหมด 2 เข็ม โดยเริ่มฉีดเข็มแรกเมื่อเด็กมีอายุระหว่าง 9-12 เดือน และฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่อเด็กอายุ 2½ ปี แต่ในบางรายที่มีเงื่อนไขพิเศษ เช่น เดินทางไปต่างประเทศ อยู่ในพื้นที่มีการระบาดของโรค หรือสัมผัสกับโรค แพทย์อาจมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนเร็วขึ้นภายในช่วง 6 เดือนแรก และฉีดเข็มที่ 2 ภายในอายุ 2½ ปี แต่ควรมีระยะเวลาห่างจากเข็มแรกประมาณ 3 เดือน

โรคหัดเยอรมัน อันตราย
โรคหัดเยอรมัน อันตราย

โรคหัดเยอรมันในหญิงตั้งครรภ์

ในกรณีที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ควรเข้ารับการตรวจเลือดหรือระบบภูมิคุ้มกันโรคตามนัดฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ สำหรับสตรีมีครรภ์ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน แล้วมีการติดเชื้อโรคหัดเยอรมันในช่วงอายุครรภ์ 3- 4 เดือนแรก จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อทารกในครรภ์ สำหรับทารกที่ติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์จะมีโอกาสที่อวัยวะต่าง ๆ ผิดปกติได้ตั้งแต่กำเนิด ความรุนแรงขึ้นกับอายุครรภ์ที่ได้รับเชื้อ

ควรฉีดวัคซีนก่อนท้องนานแค่ไหน

ผู้หญิงที่วางแผนจะมีบุตร ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันก่อน แล้วเว้นระยะการตั้งครรภ์ออกไป 3 เดือน เพื่อให้วัคซีนสร้างภูมิขึ้น แต่หากเกิดตั้งครรภ์ในช่วงนี้ก็อย่ากังวลใจ เพราะยังไม่มีข้อบ่งชี้ที่ฟันธงว่าหากฉีดวัคซีนหัดเยอรมันแล้วทิ้งระยะก่อนตั้งครรภ์ไม่ถึง 3 เดือน จะส่งผลให้เด็กเกิดมาผิดปกติ จนคุณหมอต้องยุติการตั้งครรภ์ หากไม่ได้รับวัคซีนก่อนการตั้งครรภ์ควรมีการฉีดทดแทนหลังคลอด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคเมื่อเกิดการตั้งครรภ์ในครั้งต่อไป

การติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์อันตรายแค่ไหน?

  • 4 สัปดาห์แรกของอายุครรภ์ ถ้าติดเชื้อไวรัสหัดเยอรมัน ทารกมีโอกาสเกิดความพิการได้สูงถึงร้อยละ 50
  • ช่วงอายุครรภ์ที่ 5 ถึง 8 สัปดาห์ ถ้าติดเชื้อ ทารกมีโอกาสเกิดความพิการได้ประมาณ 1 ใน 4 หรือร้อยละ 25
  • ถ้าติดเชื้อในช่วงใกล้คลอดคืออายุครรภ์ที่ 9 ถึง 12 สัปดาห์ ความพิการของทารกมีโอกาสเกิดขึ้นประมาณร้อยละ 8

ความพิการและอาการป่วยที่พบบ่อย 13 อาการ

  1. ตาต้อกระจก
  2. ต้อหิน
  3. ความพิการที่หัวใจ
  4. หูหนวก
  5. ศีรษะเล็ก
  6. โครงสร้างสมองผิดปกติ
  7. ตัวเล็ก
  8. พัฒนาการช้า
  9. ตับโต
  10. ม้ามโต
  11. ตัวเหลือง
  12. มีจ้ำเลือดตามตัว
  13. เกล็ดเลือดต่ำ

สำหรับสถานการณ์โรคหัดเยอรมันในประเทศไทย จากกลุ่มพัฒนาระบบเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาโรคติดต่อ กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 26 มิถุนาน 2563 พบอัตราป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 30-39 ปี รองลงมา กลุ่มอายุ 20-29 ปี อายุน้อยกว่า 1 ปี อายุ 15-19 ปี และ อายุ 40 ปีขึ้นไปตามลำดับ อัตราส่วนเพศหญิงต่อชายเท่ากับ 1:9

จังหวัดที่พบอัตราป่วย 5 อันดับแรกได้แก่

  1. กระบี่
  2. ชัยภูมิ
  3. ระยอง
  4. สงขลา
  5. ชลบุรี

จากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยร้อยละ 94 ไม่เคยได้รับวัคซีน หรือ ไม่แน่ใจว่าเคยได้รับวัคซีนมาก่อน ในครึ่งปีแรกของ พ.ศ.2563 พบแนวโน้มการระบาดลดลงจากปี พ.ศ.2562 และ พบว่าระบาดในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปีในจังหวัดชายแดนใต้ ส่วนการระบาดของโรคในพื้นที่อื่น ๆ พบในพื้นที่ที่คนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก

พ่อแม่จึงควรนำลูก ๆ ไปฉีดวัคซีนป้องกันไว้ก่อน เพราะจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ดีที่สุด และมั่นใจได้ว่าลูกๆ จะปลอดภัยไกลห่างจากโรคหัดเยอรมัน รวมถึงผู้หญิงที่ไม่ควรชะล่าใจ โดยเฉพาะผู้ที่วางแผนมีบุตร เพื่อความปลอดภัยของทารกน้อยในครรภ์

อ้างอิงข้อมูล : si.mahidol.ac.th, โรงพยาบาลราชวิถี และ pidst.or.th

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

ลูกนอนกรน หายใจเสียงดัง เสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

คุ้ม2ต่อ!! วัคซีน ป้องกันไอพีดี แถมบรรเทาอาการเมื่อติดเชื้อ RSV

ไวรัสซิกา คนท้องอันตราย ต้องระวัง! โดนยุงกัดทำลูกหัวเล็ก

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up