สำหรับคุณพ่อหรือคุณแม่ที่มี สิทธิประกันสังคม กรณีคลอดบุตร ควรตรวจสอบสิทธิประโยชน์ที่คุณจะได้รับ ให้เรียบร้อยและครบถ้วน ว่าคุณมีสิทธิ์ที่จะได้หรือไม่ได้รับเงินส่วนไหนอย่างไรบ้างในแต่ละกรณีเมื่อคุณแม่ได้ตั้งครรภ์แล้ว
สิทธิประกันสังคม กรณีคลอดบุตร ที่แม่ท้องควรรู้
ในเรื่องของ สิทธิประกันสังคม กรณีคลอดบุตร ทางประกันสังคมได้ตั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเบื้อต้นไว้ ดังนี้
- เมื่อผู้ประกันตน (คุณพ่อหรือคุณแม่) จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร มีสิทธิเบิกค่าคลอดบุตรได้
- คลอดบุตรที่ใดก็ได้ ให้วินิจฉัยจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายกรณีคลอดบุตรให้แก่ผู้ประกันตนในอัตรา 13,000 บาทต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง
- สำหรับผู้ประกันตนฝ่ายตัวคุณแม่เองมีสิทธิรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน (ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นการรับผิดชอบของบริษัทที่ตนทำงานอยู่)
- สำหรับการใช้สิทธิบุตรคนที่ 3 จะไม่ได้รับสิทธิเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน
หมายเหตุ : กรณีสามีและภรรยาเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ให้ใช้สิทธิในการเบิกค่าคลอดบุตรรวมกัน ไม่จำกัดจำนวนบุตร/ครั้ง โดยบุตรที่นำมาใช้สิทธิเบิกค่าคลอดบุตรแล้วไม่สามารถนำมาขอรับค่าคลอดบุตรได้อีก
นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ คลอดบุตรแล้วบุตรเสียชีวิต หรือแท้งบุตร หรือการขอเบิกเกี่ยวกับกรณีคลอดบุตรต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่แม่ท้องหลายคนสงสัยว่าประกันสังคมจ่ายให้ด้วยหรือไม่ หรือจะคุ้มครองเราอย่างไร รวมถึงเงินสงเคราะห์บุตรต่างๆที่คุณแม่ควรได้รับจะเป็นอย่างไร Amarin Baby & Kids มีคำตอบมาให้ค่ะ
1.ในกรณีที่ผู้เป็นแม่คลอดบุตรออกมาแล้ว แต่บุตรเสียชีวิตในเวลาต่อมาทันที หรือหากคุณแม่ผู้ประกันตนตั้งครรภ์แล้วมีอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ แต่ต่อมาแท้งบุตร สามารถเบิกค่าคลอดได้หรือไม่ และถ้าเป็นกรณีที่แม่ของเด็กไม่ได้ทำประกันสังคม (และไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน) แล้วพ่อมีสิทธิประกันสังคม จะสามารถใช้สิทธิ ได้หรือไม่อย่างไร
คำตอบ : การเบิกสิทธิการคลอด ผู้ประกันตน (ไม่ว่าพ่อหรือแม่) จะต้องอยู่ในสถานะความเป็นผู้ประกันตนขณะที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ และมีการนำส่งเงินสมทบตามเงื่อนไขในการเบิกสิทธิ ซึ่งหากบุตรเกิดมาแล้วเสียชีวิต ก็สามารถใช้สิทธิการเบิกได้ (การจดทะเบียนสมรสนั้น ไม่จำเป็นสำหรับฝ่ายหญิง แต่ถ้าเบิกส่วนของฝ่ายชายจะต้องจดทะเบียนหรือรับรองบุตร)
สรุปคือ ผู้ประกันตนมีสิทธิเบิกค่าคลอดบุตรเหมาจ่ายและเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรได้ เนื่องจากการตั้งครรภ์ไม่น้อยกว่า 28 สัปดาห์หรือ 7 เดือนขึ้นไป ไม่ว่าทารกจะมีชีวิตรอดหรือไม่ถือเป็นกรณีคลอดบุตร หากแต่ผู้ประกันตนจะยื่นเรื่องเบิกต้องมีใบมรณะบัตรของบุตรที่เสียชีวิตแนบมาด้วย ทั้งนี้หากผู้ประกันตนมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วน 1506 หรือสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด ที่ใดก็ได้ที่สะดวก
อ่านต่อ >> “สิทธิประกันสังคม กรณีคลอดบุตร ที่แม่ท้องควรรู้” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
สิทธิประกันสังคม กรณีคลอดบุตร ที่แม่ท้องควรรู้
2. หากคุณแม่ผู้ประกันตนคลอดบุตร แล้วต่อมาคุณแม่เองเสียชีวิต โดยยังไม่ได้ยื่นเรื่องขอรับประโยชน์ทดแทน ในกรณีคลอดบุตรนี้ ทายาทมีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรได้หรือไม่
คำตอบ : ทายาทของผู้ประกันตนมีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรได้ เนื่องจากเป็นสิทธิที่มีอยู่ก่อนที่ผู้ประกันตนเสียชีวิต
3. กรณีฝากครรภ์และคลอดบุตร สามารถเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลอื่นที่ไม่ใช่โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิได้หรือไม่
คำตอบ : สามารถฝากครรภ์และคลอดบุตร ณ โรงพยาบาลใดก็ได้ที่สะดวก โดยสำรองเงินจ่ายไปก่อน แล้วนำเอกสารหลักฐาน มายื่นเรื่องเบิกได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา
4. กรณีลูกจ้างคลอดบุตรภายใน 6 เดือน หลังจากออกจากงาน จะใช้สิทธิกรณีคลอดบุตรได้หรือไม่
คำตอบ : จะใช้สิทธิได้หรือไม่ จะต้องตรวจสอบการส่งเงินสมทบย้อนหลังไป 15 เดือนก่อนที่ผู้ประกันตนจะออกจากงาน ว่าผู้ประกันตนมีการนำส่งเงินสมทบครบ 5 เดือนหรือไม่ ถ้าครบตามหลักเกณฑ์ก็ใช้สิทธิกรณีคลอดบุตรได้
5. ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตรได้กี่ครั้ง
คำตอบ : ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิกรณีคลอดบุตรได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ( ฉบับใหม่ 2558 )
6. กรณี สามีและภรรยาต่างก็ส่งเงินเข้าประกันสังคมทั้งคู่ แบบนี้เบิกค่า คลอดบุตรโดยใช้สิทธิ์ประกันสังคม คู่เลยได้หรือไม่
คำตอบ : ไม่ได้ค่ะ สามารถเลือกใช้สิทธิเบิกได้แค่ 1 สิทธิ จากสามีหรือภรรยาเท่านั้น
7. ในกรณีคลอดบุตร ทางโรงพยาบาลบริการคลอดให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่ใน กรณีที่ผู้ประกันตนฝากท้องกับหมอคลีนิคแล้วไปคลอดที่โรงพยาบาลโดยการผ่าตัด กรณีอย่างนี้ผู้ประกันตนต้องชำระค่าคลอดบุตรด้วยหรือไม่
คำตอบ : ผู้ประกันตนต้องชำระตามจริง สำนักงานประกันสังคมจะเหมาจ่ายให้ผู้ประกันตน จำนวน 13,000 บาทต่อบุตรหนึ่งคน
8. ผู้ประกันตนชายสามารถเปิดค่าคลอดบุตรให้ภรรยาได้หรือไม่
คำตอบ : ผู้ประกันตนชายสามารถเบิกค่าคลอดบุตรให้ภรรยาได้ แต่ต้องมีการนำส่งเงินสมทบมาแล้ว 5 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนคลอดบุตร โดยผู้ประกันตนชายจะได้รับเงินค่าคลอดบุตรเหมาจ่ายกรณีคลอดบุตรจำนวน 13,000 บาท
9. สามีภรรยาอยู่กินกันโดยเปิดเผย แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันภรรยาสามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้หรือไม่ กรณีที่สามีเป็นผู้ประกันตนและมีภรรยาเพียงคนเดียว
คำตอบ : ได้ โดยในการยื่นคำขอให้ใช้หนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรสแทนทะเบียนสมรส
10. ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ไม่ได้ทำงาน ไม่ใช่ผู้มีรายได้สามารถใช้สิทธิเบิกเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรได้หรือไม่
คำตอบ : สามารถใช้สิทธิได้ เนื่องจากเป็นการเหมาจ่ายเงินรวมกับค่าคลอดบุตร โดยผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเป็นจำนวน 7,200 บาท
สำหรับคำถามอื่นๆ นอกเหนือจากข้างต้นเกี่ยวกับ การคลอดบุตรโดยใช้สิทธิ์ประกันสังคม ผู้มีสิทธิ์สามารถสอบถามได้ที่สายด่วนของประกันสังคม 1506 หรืออ่านเพิ่มเติมได้ที่เว็บสำนักงานประกันสังคมนะค่ะหวังว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ทั้งหลายที่มีสิทธิประกันสังคม อย่าลืมใช้สิทธิเบิกเงินชดเชยนะคะ
อ่านต่อ >> “เอกสารต่างๆที่ต้องใช้ในการทำเรื่องเบิก กรณีคลอดบุตร” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ตรวจสอบสำเนาสูติบัตรบุตรคนที่จะใช้สิทธิ
- กรณีผู้ประกันตนหญิงใช้สิทธิ ให้ตรวจสอบชื่อมารดาของบุตรในสูติบัตรว่าถูกต้องตรงกับชื่อ-ชื่อสกุลของผู้ประกันตนหรือไม่
- กรณีผู้ประกันตนชายใช้สิทธิ ให้ตรวจสอบชื่อบิดาของบุตรในสูติบัตรว่าถูกต้อง ตรงกับชื่อ-ชื่อสกุลของผู้ประกันหรือไม่ และตรวจสอบชื่อมารดาของบุตรในสูติบัตรว่าถูกต้องตรงกับชื่อ-ชื่อสกุลของคู่ สมรส หรือหญิงซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ประกันตนตามทะเบียนสมรสหรือหนังสือ รับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรสหรือไม่
- ถ้าไม่ถูกต้องตรงกันเนื่องจากสูติบัตรพิมพ์ผิดให้ผู้ประกันตนนำสูติบัตรกลับไปให้หน่วยงานที่ออกสูติบัตรแก้ไข ถ้าไม่ถูกต้องตรงกันเนื่องจากมีการเปลี่ยนชื่อ-ชื่อสกุล ให้ขอสำเนาหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ-ชื่อสกุล หรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น ใบหย่า
ขั้นตอนการขอรับประโยชน์ทดแทน
ผู้ประกันตนต้องกรอกแบบ สปส. 2-01 พร้อมลงลายมือชื่อและนำมายื่นหรือให้ผู้อื่นมายื่นที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา พร้อมหลักฐานหรือยื่นขอรับทางไปรษณีย์โดยมีหลักฐานครบถ้วน
- เจ้าหน้าที่ตรวจหลักฐานและพิจารณาอนุมัติ
- สำนักงานประกันสังคมมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา
- พิจารณาสั่งจ่าย
- เงินสด/เช็ค (ผู้มีสิทธิมาขอรับด้วยตนเองหรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมารับแทน)
- ส่งธนาณัติให้ผู้ประกันตน
- โอนเข้าบัญชีธนาคารตามบัญชีของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน
- เอกสารประกอบการยื่นคำขอประโยชน์ทดแทน กรณีคลอดบุตร
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส. 2-01 ผู้ประกันตนกรอกข้อความครบถ้วน พร้อมลงลายมือชื่อผู้ยื่นคำขอ
- กรณีผู้ประกันตนหญิงใช้สิทธิ ใช้สูติบัตรต้นฉบับของบุตรพร้อมสำเนา 1 ชุด (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย)
- กรณีผู้ประกันตนชายใช้สิทธิ ใช้สูติบัตรต้นฉบับของบุตรพร้อมสำเนา 1 ชุด สำเนาทะเบียนสมรส กรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้แนบหนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรส
- สำเนาบัตรประชาชนของผู้ประกันตน หรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอมี 11 ธนาคาร ดังนี้
1) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
2) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
3) ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
4) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
5) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
6) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
7) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
8) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
9) ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)
10) ธนาคารออมสิน (ไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากอยู่ในระหว่างการปรับปรุงโปรแกรม)
11) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) (ไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากอยู่ในระหว่างการปรับปรุงโปรแกรม)
หมายเหตุ : หากผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนไม่พอใจคำสั่งจ่ายประโยชน์ทดแทน สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
สถานที่ยืนเรื่อง
ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา ที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!
- เบิกค่าคลอดประกันสังคม พร้อมขั้นตอนและวิธีการยื่น
- เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ประจำปี 2560 เรื่องดีๆ ที่พ่อแม่ต้องรู้
ขอบคุณข้อมูลจาก : (คำถามที่เกี่ยวข้องกับกรณีคลอดบุตร) www.sso.go.th/wpr/category.jsp?cat=898
(เงื่อนไขและเอกสารต่างๆ ที่ต้องใช้ในกรณีคลอดบุตร ) www.sso.go.th/wpr/category.jsp?cat=869