คุณแม่ 3 คนข้องใจ ฝากครรภ์กับคุณหมอคนเดียวกัน แต่ทารกคลอดออกมาแล้วเสียชีวิต สาเหตุที่ทำให้ คลอดลูกตาย มีอะไรบ้าง
คลอดลูกตาย
หัวอกคนเป็นแม่ใจสลาย เมื่อลูกน้อยต้องจากไป ทั้งยังรู้สึกค้างคาใจกับสาเหตุการตาย เพราะไม่ได้รับคำชี้แจงที่ชัดเจน 3 คุณแม่ที่ต้องสูญเสียลูกไป ออกมาบอกเล่าอุทาหรณ์ พร้อมขอคำชี้แจงอย่างชัดเจนเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิตของทารกแรกเกิด ทั้ง 3 ชีวิต
น้องกัปตัน ลูกคนที่ 3 ของครอบครัว – ขี้เทาไปอุดปอด ลูกหายใจเองไม่ได้
เรื่องราวนี้เริ่มจากคุณแม่ของน้องกัปตัน ที่ทำการฝากครรภ์พิเศษกับคุณหมอคนเดิมที่เคยผ่าคลอดลูกคนที่ 2 ออกมาอย่างปลอดภัย แต่คราวนี้ไม่เป็นเช่นนั้น ทารกน้อยหรือลูกคนที่ 3 กลับเสียชีวิตตั้งแต่วันแรกหลังคลอด (คลอด 5 ต.ค. 63 เสียชีวิต 6 ต.ค. 63) ทั้งที่การผ่าคลอดนั้นเป็นไปได้ด้วยดี คุณแม่ได้บล็อกหลังผ่าคลอด เห็นตั้งแต่วินาทีแรกที่ลูกน้อยออกมาร้องได้ปกติ หลังจากทำความสะอาดก็อุ้มมาให้กินนมแม่ ตอนดูดนมลูกก็มีแรงดูดได้ปกติ หายใจปกติ สมุดที่เขียนตอนผ่าคลอดยังระบุด้วยว่า ระดับความแข็งแรงของเด็ก 9.9 เต็ม 10 ทั้งยังแจ้งด้วยว่า น้ำคร่ำใสสะอาด แล้วแม่ก็ไม่เห็นน้องอีก จนได้รับแจ้งหลังจากนั้นว่า อาการ50/50 จนน้องเสียชีวิตก็มาแจ้งว่า สาเหตุเกิดจากขี้เทาไปอุดปอด ส่วนตัวรู้สึกติดใจ จึงตัดสินใจจะนำร่างลูกส่งที่นิติเวช ตอนนี้รอชันผลสูตรศพ ซึ่งต้องใช้เวลา 45 วัน
ด้านคุณพ่อของน้องกัปตัน เล่าว่า ตลอดการตั้งครรภ์ แม่ของเด็กมีอาการปกติมาตลอด แพทย์ที่ไปฝากครรภ์ด้วยไม่เคยแจ้งภาวะเสี่ยง แต่หลังจากคลอดลูกได้ 4 ชั่วโมงก็ได้รับแจ้งว่า ลูกหายใจเองไม่ได้ น้ำคร่ำสกปรก ทำให้ไปติดที่ปอดจนหายใจไม่ได้ จึงทำให้ติดใจในการรักษา เพราะแม่บอกว่าลูกแข็งแรง น้ำคร่ำใส จึงมองว่า การชี้แจงของโรงพยาบาลไม่มีความชัดเจน
น้องอาร์ม ลูกคนที่ 4 ของครอบครัว – เสียชีวิตทันทีหลังคลอด ผู้เป็นแม่ตกเลือด
คุณแม่ของน้องอาร์มที่ฝากครรภ์แบบพิเศษกับหมอคนเดียวกัน เล่าว่า มีอาการคลอดก่อนกำหนด จากกำหนดคลอดเดือนเมษายน แต่มีเลือดออกที่ช่องคลอดตอนเดือนมีนาคม เลือดออกมาค่อนข้างมากจึงโทรแจ้ง คุณหมอให้ไปที่โรงพยาบาลวัดคลื่นหัวใจทารกในครรภ์ พบว่าปกติดี ตอนนั้นมีแค่หมอเวรกับพยาบาล หมอเวรยังถามว่า คุณหมอคนที่คุณฝากครรภ์ไว้ เค้ารู้ไหมว่าคุณตัวบวมมาก ตัวเหลือง ตาเหลือง แต่แล้วพยาบาลก็แจ้งให้กลับบ้านไปทั้งที่ปวดท้องหน่วง ๆ จนวันต่อมาปวดท้องหนัก จึงกลับมาโรงพยาบาล แต่ก็ยังไม่พบหมอ ได้แต่นอนรออยู่ในห้องผ่าตัด จนน้ำคร่ำแตก แล้วหมอก็มาทำคลอดให้ และได้รับแจ้งภายหลังว่า ลูกเสียชีวิตแล้ว สาเหตุคือ สายรกพันคอลูก แต่ก่อนหน้านั้นทุกอย่างปกติ อัลตราซาวด์แล้ว รกปกติ คลื่นหัวใจทุกอย่างปกติ จึงเชื่อว่า หากหมอทำคลอดให้ตั้งแต่วันแรกที่มีอาการ ลูกคงไม่ต้องตาย วันนั้นลูกยังดิ้นในท้องอยู่เลย
ด้านคุณพ่อของน้องอาร์ม เล่าว่า หลังจากนั้นได้รับแจ้งว่า น่าจะเกิดจากครรภ์เป็นพิษเฉียบพลัน แต่ก่อนหน้านั้นที่มาหาหมอก็ไม่มาดู ตัวของแม่เองก็มีอาการตกเลือดจนต้องเข้ารับการรักษา ส่วนศพของลูก ทางโรงพยาบาลขอไป โดยไม่มีเอกสารอะไรให้เซ็นเลย
น้องใบบุญ ลูกคนแรกของครอบครัว – เสียชีวิตหลังคลอดได้ 7 วัน
คุณแม่ของน้องใบบุญ เล่าว่า ได้ฝากครรภ์แบบพิเศษกับหมอคนเดียวกัน ที่ผ่านมา อัลตราซาวด์ไม่เคยได้รับแจ้งว่าลูกมีอาการผิดปกติ จนช่วงปลายเดือนสิงหาคม มีอาการน้ำเดิน เมื่อตรวจแล้วพบว่าปากมดลูกยังไม่เปิด จากนั้นอัลตราซาวด์ดูแพทย์บอกว่า น่าจะมีอาการหัวใจโต หลังคลอดอาจจะต้องแยกกับแม่สัก 7 วัน ในระหว่างรอคลอด มีอาการหายใจไม่ออกจนต้องให้ออกซิเจน จนผ่าคลอดในช่วงตี 1 ได้ยินเสียงร้องลูก 2 ครั้ง แล้วก็นิ่งเงียบไป มาทราบภายหลังว่า ลูกตัวเล็ก น้ำหนักแรกคลอดเพียง 1.85 กิโลกรัม ทารกมีอาการบวมน้ำ หายใจช้า กว่าเด็กทั่วไป จึงต้องส่งไปที่ห้อง NICU หมอเด็กบอกว่า เปอร์เซนต์รอดแทบไม่มี หลังจากนั้นรู้ว่า น้องมีโรคแทรกซ้อนหลายอย่างมาก ปอดติดเชื้อ ตับโต ความดันในเลือดสูง เลือดจาง น้องอยู่ 7 วันจึงเสียชีวิต
ทางทีมงานขอแสดงความเสียใจกับคุณแม่ทั้ง 3 ท่านด้วยนะคะ สำหรับสาเหตุที่ทำให้ทารกแรกเกิดเสียชีวิตนั้น เกิดได้จากหลายสาเหตุ ต้นเหตุจากหลายปัจจัย
สาเหตุการเสียชีวิตของทารกแรกเกิด
-
ทารกสําลักน้ำคร่ำ สำลักขี้เทา จนเสียชีวิต
ขี้เทา คือ อุจจาระของเด็กทารกแรกเกิดที่ปกติเด็กจะสร้างเองได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง ตั้งแต่ช่วงเดือนที่ 2-3 ของการตั้งครรภ์ เด็กจะสร้างขี้เทาออกมาในลำไส้ใหญ่ โดยมีลักษณะมันเหนียวเขียวจนเกือบจะดำ มีทั้งไขของตัวเด็กเอง ขนอ่อน น้ำคร่ำ แต่ด้วยการตั้งครรภ์ที่มีปัญหา หรือตัวเด็กเองมีปัญหา จะทำให้ถ่ายขี้เทาออกมาปนในน้ำคร่ำ สาเหตุที่ทารกถ่ายขี้เทาออกมาก่อนกำหนดเกิดได้จาก
- เลือดไปเลี้ยงทารกผ่านสายสะดือแม่น้อยลง มีปฏิกิริยาทางระบบประสาทกระตุ้นทำให้เด็กมีการถ่ายขี้เทา
- โรคประจำตัวของคุณแม่ การเจ็บป่วยบางอย่างที่กระทบกับการไหลเวียนของเลือด เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ น้ำคร่ำน้อย หรือคลอดเกินกำหนด
- สาเหตุจากทารกเอง ความผิดปกติของทารกในครรภ์
อันตรายจากภาวะสูดสำลักขี้เทาในเด็กแรกเกิด อาจทำให้ทารกขาดออกซิเจน เพราะทารกที่อายุครรภ์มากขึ้นใกล้ครบกำหนดหรือตั้งครรภ์เกินกำหนด สภาพเลือด หลอดเลือด รก ก็จะเสื่อมสภาพ กระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบไหลเวียนเลือด ทำให้ทารกหายใจหอบ เหนื่อย หายใจไม่สะดวก ลักษณะเหมือนปอดอักเสบ เพราะขี้เทาจะเหนียวมาก พอทารกสูดสำลักเข้าไปจึงอุดตันทางเดินหายใจ ถุงลมเล็ก ๆ หรือระดับที่ลึกลงไปเรื่อย ๆ ในปอด ถ้าอุดเต็มที่อากาศไม่ผ่านเลย ปอดส่วนนั้นก็จะมีปัญหาการแลกเปลี่ยนก๊าซ หรืออุดไม่เต็ม 100% อากาศจะผ่านเข้าได้ แต่มักจะออกไม่ได้ ทำให้มีปอดโป่งพองออก จากนั้นก็จะมีการอักเสบของเนื้อเยื่อโดยรอบ ทำให้เด็กหายใจหอบหลังคลอด เสี่ยงเสียชีวิตได้
-
สายสะดือพันคอทารกเสียชีวิต
สายสะดือพันคอลูกหรือสายรกพันคอ เป็นสิ่งที่ตรวจได้ยาก เพราะหลังจากที่ทารกอายุได้ 20 สัปดาห์ จะมีการเคลื่อนไหวไปมาภายในน้ำคร่ำ ยิ่งตัวเล็กก็ยิ่งเคลื่อนไหวได้สะดวก ช่วงที่ลูกดิ้นมาก ๆ จึงอาจทำให้เกิดสายสะดือพันคอทารกได้ แต่การที่สายรกหรือสายสะดือพันคอนั้นอาจไม่ทำให้เสียชีวิตทุกราย ขึ้นอยู่กับความแน่นหนาที่พันคอทารก เพราะเด็กบางคนสายสะดือพันคอมากถึง 5-6 รอบก็มีโอกาสรอดชีวิตได้เช่นกัน แต่ถ้าทารกดิ้นรุนแรงจนสายสะดือพันแน่นหนา จะเกิดการกดทับ ทำให้ลูกดิ้นน้อยลงหรือหยุดดิ้น นี่จึงเป็นสัญญาณอันตรายที่แม่ต้องใส่ใจในการนับลูกดิ้นเป็นประจำ
สำหรับอันตรายของภาวะสายสะดือพันคอทารกที่แน่นหนา จะทำให้เกิดภาวะพร่องออกซิเจน ในช่วงที่มดลูกบีบตัวดันทารกสู่ช่องคลอด ทำให้หลอดเลือดในสายสะดือถูกกดทับ จนทารกขาดออกซิเจน โดยคุณหมอจะผ่าคลอดกรณีที่สายสะดือพันคอแน่นจนขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง ขาดออกซิเจนส่งผลให้การเต้นของหัวใจผิดปกติ เมื่อมีความเสี่ยงจะเสียชีวิต คุณหมอจะรีบทำการผ่าคลอดฉุกเฉิน
-
ภาวะทารกบวมน้ำเสี่ยงตายคลอด
ภาวะทารกบวมน้ำ (Hydrops Fetalis) เป็นภาวะที่มีสารน้ำระหว่างเซลล์เพิ่มขึ้นทั่วไปในร่างกายของทารกในครรภ์ โดยปริมาณน้ำที่มากจนผิดปกติจะทำให้เกิดอาการบวม กระจายอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เข้าไปคั่งในช่องว่างของร่างกาย รวมถึงรกและสายสะดือ ภาวะทารกบวมน้ำแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม
- ทารกบวมน้ำที่เกิดจากปฏิกิริยาอิมมูน (immune hydrops fetalis; IHF) เกิดจากแอนติบอดีในมารดาผ่านรกไปทำลายเม็ดเลือดทารก จนทารกมีภาวะซีด เกิดภาวะบวมน้ำ ปัญหาการไม่เข้ากันของหมู่เลือด Rh ระหว่างมารดากับทารก เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย
- ทารกบวมน้ำที่ไม่เกี่ยวกับปฏิกิริยาอิมมูน (non-immune hydrops fetalis; NIHF) ซีดจากสาเหตุอื่น ๆ ซึ่งที่พบบ่อยที่สุดคือฮีโมโกลบินบาร์ท อาจเกิดจากโรคหัวใจพิการ (cystic hygroma) หรือความผิดปกติทางโครโมโซม แต่คนไทยมักเกิดจากความผิดปกติโดยกำเนิดชนิดรุนแรงที่พบได้บ่อยที่สุด
ภาวะทารกบวมน้ำเกิดขึ้นได้ทุกไตรมาส และภาวะทารกบวมน้ำจากฮีโมโกลบินบาร์ท จะเสี่ยงเสียชีวิต เพราะเป็นความผิดปกติรุนแรง ทำให้เสี่ยงต่อการตายคลอดหรือคลอดออกมาได้ไม่นานก็เสียชีวิต
- ในไตรมาสแรก หากทารกบวมน้ำอาจมีการแท้งเอง
- ภาวะนี้ยังมีความเสี่ยงเสียชีวิตในครรภ์ ทารกไม่ดิ้น
- ขนาดมดลูกโตเกินอายุครรภ์ เกิดจากทารกโตหรือครรภ์แฝดน้ำ
- อาจเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด หรือเกิดการตกเลือดหลังคลอดได้
การป้องกันที่ดีที่สุดคือ หลังจากที่ทราบว่าตั้งครรภ์ ควรรีบฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์กับร่างกายของแม่และลูกในท้อง หมั่นไปตรวจครรภ์ให้ตรงนัดทุกครั้ง นับลูกดิ้นเป็นประจำ และคอยสังเกตอาการผิดปกติของร่างกาย ถ้ามีอาการที่ส่งสัญญาณอันตราย ควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
อ้างอิงข้อมูล : amarintv.com, med.cmu.ac.th, hsi.mahidol.ac.th และ รายการโหนกระแส
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม
3 วิธี คลอดลูก คลอดแบบธรรมชาติ แบบผ่าคลอด หรือคลอดลูกในน้ำ คลอดแบบไหนดี?