แชร์ประสบการณ์จากแม่ คลอดลูกก่อนกำหนด การตั้งครรภ์ที่สมบูรณ์ครบ 9 เดือน ที่ไม่มีปัญหาแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่แม่ท้องต่างก็ปรารถนา เราได้รับเรื่องจากคุณแม่ท่านหนึ่งที่ต้องคลอดลูกก่อนกำหนด ตอนอายุครรภ์ได้เพียง 7 เดือน ซึ่งสาเหตุมาจาก “สายรกพันกัน” ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีสาเหตุจากการตั้งครรภ์ครั้งนี้มาให้คุณแม่ท้องได้เฝ้าระวังกันค่ะ
แชร์ประสบการณ์จากแม่ คลอดลูกก่อนกำหนด
คุณแม่เจ้าของเรื่องคลอดลูกก่อนกำหนดตอน 7 เดือน ได้อนุญาตให้ทีมงานนำเรื่องมาแชร์ประสบการณ์เพื่อให้คุณแม่ท้องท่านอื่นๆ ได้ตระหนักถึงสุขภาพขณะตั้งครรภ์ รวมถึงอาการสายรกพันกันที่คนท้องควรต้องระวัง คุณแม่มิ้วเพิ่งคลอดลูกสาวไปเมื่อเร็วนี้ๆ และเธอต้องคลอดตอนอายุครรภ์ 7 เดือน คุณแม่มิ้วให้ข้อมูลถึงสาเหตุการคลอดก่อนกำหนด เพราะสายรกพันกัน ชนิดที่ว่าลูกในท้องไม่ได้รับสารอาหารจากแม่ และลูกก็หายใจช้า ซึ่งตอนผ่าคลอดลูกสาวของคุณแม่ก็ไม่หายใจ แต่ด้วยความช่วยเหลือจากทีมแพทย์ทำให้ลูกสาวตัวน้อยของคุณแม่ปลอดภัยขึ้นมาอีกครั้ง แต่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ จนตอนนี้สามารถหายใจได้เอง แต่ก็ยังต้องอยู่ในตู้อบจนกว่าร่างกายทุกอย่างสมบูรณ์จึงจะได้กลับบ้าน
อาการก่อนที่คุณแม่มิ้วจะคลอดน้องออกมาคือ ได้สังเกตอาการดิ้นของลูกในท้องและเห็นว่าลูกไม่ค่อยดิ้น บางวันก็ดิ้นไม่ถึง 10 ครั้ง ก่อนคลอดประมาณ 3-4 วันที่มีอาการลูกไม่ค่อยดิ้น คุณแม่จึงไปพบคุณหมอตามนัด ซึ่งคุณหมอได้ตรวจคลื่นหัวใจของลูกในท้องทุกวัน ซึ่ง 1-3 วันแรกพบหัวใจเต้นปกติ แต่พอมาวันที่ 4 คุณหมอได้ฟังเสียงหัวใจลูกในท้องกลับพบว่ามีการเต้นที่ผิดปกติ อาการคือลูกหยุดหายใจ และกลับมาหายใจอีกครั้ง
จากนั้นได้มีการส่งตรวจเพื่อทำอัลตราซาวนด์ดูพัฒนาการลูกในท้อง และติดตามการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ ช่วงที่อัลตราซาวนด์ไม่พบว่ามีสายรกพันกัน แต่เนื่องด้วยหัวใจลูกเต้นช้ามาก คุณหมอจึงต้องทำการผ่าคลอดให้คุณแม่ที่เพิ่งอายุครรภ์ได้เพียง 7 เดือนเท่านั้น หลังจากผ่าคลอดลูกออกมาแล้ว ลูกสาวคุณแม่มิ้วมีน้ำหนักแรกคลอดที่ 1,024 กรัม คุณแม่ยังได้รับแจ้งจากคุณหมอด้วยว่าสายรกลูกพันกันจนเกือบขาด เหตุการณ์ครั้งนี้เกือบทำให้คุณแม่ต้องสูญเสียลูก แต่ด้วยปาฏิหาริย์ลูกสาวของคุณแม่มิ้วตอนนี้มีอายุได้ 12 วันแล้วค่ะ และมีสัญญาณที่ดีว่าจะแข็งแรงสมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ และก็จะกลับบ้าน ทีมงาน Amarin Baby & Kids ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่มิ้ว และลูกสาวตัวน้อย ขอให้แข็งแรงทั้งคุณแม่คุณลูกค่ะ
อ่านต่อ >> “อันตรายจากการคลอดก่อนกำหนด” หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
แชร์ประสบการณ์จากแม่ คลอดลูกก่อนกำหนด – อันตรายจากการคลอดก่อนกำหนด
เป็นที่ทราบกันดีว่าการตั้งครรภ์โดยปกติแล้วจะอยู่ที่ 38-40 สัปดาห์ ที่ทารกในครรภ์จะมีความสมบูรณ์ทั้งอวัยวะภายในและภายนอก พร้อมที่จะคลอดออกมา แต่ก็มีอยู่ไม่น้อยที่คุณแม่ท้องต้องคลอดลูกก่อนกำหนด ซึ่งการคลอดก่อนกำหนดก็เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ
เด็กที่คลอดก่อนกำหนดร่างกายมีการเจริญเติบโตยังไม่สมบูรณ์ อวัยวะต่างๆ ยังพัฒนาการได้ไม่สมบูรณ์ และไม่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เด็กที่คลอดก่อนกำหนดมีความเสี่ยงสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สำหรับเด็กที่คลอดก่อนกำหนดมีความจำเป็นจะต้องอยู่ในตู้อบไปจนกว่าร่างกายจะพัฒนาขึ้นจนแข็งแรงสมบูรณ์พร้อมที่คุณพ่อคุณแม่จะพากลับไปดูแลต่อที่บ้านได้
เด็กคลอดก่อนกำหนดมีความเสี่ยงอะไรบ้าง?
1. ปอดยังทำงานไม่สมบูรณ์
เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนดในอายุครรภ์น้อยๆ มีโอกาสที่จะเสียชีวิตขึ้นได้มาก เนื่องจากปอดมีหน้าที่ในการหายใจ หากปอดยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์แล้วเกิดการคลอดก่อนครบอายุครรภ์ ก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูงต่อชีวิตของทารก
2. ตับยังทำงานได้ไม่ดี
เด็กที่คลอดก่อนกำหนดจำนวนไม่น้อยเลย ที่พบว่ามีภาวะตัวเหลือง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากตับที่ยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ เด็กที่ตัวเหลืองมากๆ เสี่ยงอันตรายต่อสมอง
3. สามารถติดเชื้อในกระแสเลือด
เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด ภูมิต้านทานในร่างกายจะน้อยมาก มีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ง่าย และเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
Good to know…รก คือ อวัยวะที่ทำหน้าที่ส่งผ่านอาหารและออกซิเจนระหว่างแม่กับลูกในครรภ์ รกจะติดอยู่กับผนังด้านในของมดลูกที่มีสายสะดือเป็นตัวเชื่อมระหว่างรกกับทารกอีกทีหนึ่ง ซึ่งสายสะดือจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร แต่ในเด็กบางคนก็สายสะดือยาวถึงประมาณ 100 เซนติเมตร
อ่านต่อ >> “สายรกพันกัน อันตรายหรือไม่” หน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
สายรกพันกันได้อย่างไร อันตรายหรือไม่?
ก่อนอื่นเรามารู้จักกับ “รก” ก่อนค่ะว่าคืออะไร “รก” คืออวัยวะที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการตั้งครรภ์ ซึ่งรกจะติดอยู่กับผนังด้านในของมดลูกคุณแม่ ที่อยู่นอกตัวลูกในท้อง ที่จะมีสายสะดือ หรือสายรก ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างรกกับทารกอีกทีค่ะ รกจะทำหน้าที่ส่งผ่านอาหาร ออกซิเจนระหว่างคุณแม่ไปให้กับทารกในครรภ์ รวมทั้งยังทำหน้าที่ในการช่วยขับถ่ายของเสียออกจากตัวทารก คุณแม่อาจสงสัยว่าแล้วรกเนี่ยจะติดอยู่ในร่างกายของแม่หรือเปล่า คำตอบคือ ไม่ เพราะรกจะถูกคลอดออกหลังจากที่คุณแม่คลอดลูกนั่นเองค่ะ
แล้วสายรกจะพันกัน หรือพันคอลูกในท้องได้ไหม? เพราะได้ยินบ่อยมาก จริงๆ แล้วคุณหมอเคยบอกผู้เขียนตอนที่ตั้งท้องว่า อาการนี้คืออาการสายสะดือพันกัน หรือบางครั้งก็มาพันที่คอลูก ซึ่งเกิดขึ้นโดยที่ไม่สามารถควบคุมได้ คือถ้าให้นึกภาพตามสายสะดือมีความยาวได้ถึง 100 เซนติเมตรเลยนะคะ ยิ่งยาวก็ยิ่งอันตราย
ถ้าจะแยกให้เห็นภาพคือ รก จะมีลักษณะเป็นแผ่นแบนๆ ที่ติดกับผนังมดลูก ส่วนสายสะดือจะมีลักษณะหนาๆ และยาว ทารกที่เจริญเติบโตขึ้นทุกวัน และก็ลอยหมุนได้ 360 องศาในมดลูกของคุณแม่ ก็มีบ้างที่ทำให้สายสะดือเกี่ยวพันกัน บางครั้งก็เกิดการพันเข้าที่คอของทารกในครรภ์ ซึ่งตรงนี้ถือว่าอันตรายมาก
Must Read >> สายสะดือพันคอทารก ในครรภ์แม่จะรู้ได้อย่างไร?
สิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับลูกในท้องจากภาวะรกพันกัน หรือที่เรียกว่าสายสะดือพันกันเอง หรือพันที่คอทารก นั่นก็คือ ในช่วงตั้งแต่เดือนที่ 5 เป็นต้นไป สัญญาณพัฒนาการสำคัญของทารกก็คือ “การดิ้น” ทารกดิ้นเป็นการบอกถึงพัฒนาการการเจริญเติบโตที่ดี ในหนึ่งวันทารกจะดิ้นได้เกิน 10 ครั้งใน 4 ชั่วโมงแบบนี้ถือว่าปกติ แต่หากลูกดิ้นน้อยกว่านี้ หรือไม่ดิ้นเลย ตรงนี้ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่ต้องรีบแจ้งคุณหมอที่ดูแลครรภ์คุณแม่โดยด่วน เพื่อคุณหมอจะได้ตรวจเช็กถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนจะสามารถผ่านช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ไปได้อย่างราบรื่น ไม่มีภาวะแทรกซ้อนต่อสุขภาพครรภ์ใดๆ ที่จะนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนดกันนะคะ และสิ่งสำคัญคือ หากพบว่าตัวเองมีอาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ขอให้รีบแจ้งคุณหมอที่ดูแลครรภ์ของแม่ทราบทันที เพื่อจะได้ตรวจรักษาอาการได้อย่างรวดเร็ว และจะได้ลดอัตราเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับลูกน้อยในครรภ์ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใยค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
โภชนาการก่อนตั้งครรภ์ ลดความเสี่ยง คลอดก่อนกำหนด
คลอดก่อนกำหนด อันตราย กว่าที่คิด!!!
ประสบการณ์จริงจากแม่ : คลอดก่อนกำหนด เพราะลูกเหนื่อย จนเกือบเสียชีวิตในท้อง
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงจาก
ภาวะรกพันคอ. กองกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ. board.postjung.com
รองศาสตราจารย์นายแพทย์วิทยา ถิฐาพันธ์. การคลอดก่อนกำหนด หน้า 229. ลูกดิ้นลดลง หรือไม่ดิ้น หน้า 179. หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด.
ขอขอบคุณข้อมูลเรื่องต้นฉบับจาก คุณแม่มิ้ว