สำหรับแม่มือใหม่ที่เมื่อรู้ว่ากำลังมีลูกน้อยมาอยู่ในท้องแล้ว ก็มักจะทำตัวไม่ถูก ไม่รู้ว่าจะต้องไปฝากครรภ์ที่ไหน? เมื่อไหร่? ทำอย่างไร? ต้องเตรียมอะไรไปบ้าง? ที่นี่มี ขั้นตอนการฝากครรภ์ อย่างละเอียดมาฝากค่ะ
แจงละเอียด! ขั้นตอนการฝากครรภ์ เตรียมตัวอย่างไร? ทำอะไรบ้าง?
ฝากครรภ์ คืออะไร?
การฝากครรภ์ คือ การดูแลสุขภาพของลูกในท้องตั้งแต่เริ่มฝากครรภ์ไปจนถึงก่อนคลอดโดยแพทย์ผู้รับฝากครรภ์ เพื่อให้ลูกในท้องมีสุขภาพที่แข็งแรงและปลอดภัย โดยแพทย์จะให้คำแนะนำและตรวจสุขภาพครรภ์ของแม่ท้อง รวมถึงการตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับสุขภาพของแม่ท้องและลูกในท้อง และรักษาอาการต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ เช่น การจ่ายวิตามินเพื่อบำรุงครรภ์ จ่ายยารักษาอาการแพ้ท้องหรืออาการอื่น ๆ เป็นต้น การฝากครรภ์ถือว่าสำคัญมาก แม่ท้องที่ไม่ได้ฝากครรภ์ เสี่ยงต่อการให้กำเนิดบุตรที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าผู้ที่ฝากครรภ์มากถึง 3 เท่า อีกทั้งเด็กที่คลอดออกมานั้นก็เสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าทารกที่มารดาเข้ารับการฝากครรภ์มากถึง 5 เท่า หากผู้ตั้งครรภ์เข้ารับการฝากครรภ์และไปตรวจตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้เด็กปลอดภัยได้ กล่าวคือ แพทย์สามารถตรวจเจอความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเด็กและรักษาหรือป้องกันได้ทัน
ฝากครรภ์เมื่อไรดี?
เมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ควรไปฝากครรภ์ทันที อย่าปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปเป็นอันขาด เพราะตลอดช่วงของการตั้งครรภ์ เป็นช่วงที่สำคัญ แม่ท้องจะต้องไปฝากครรภ์ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยแพทย์จะนัดเป็นระยะตามความเหมาะสมจนกระทั่งคลอด โดยองค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่า หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับการตรวจครรภ์อย่างน้อย 5 ครั้ง ตลอดระยะการตั้งครรภ์
ฝากครรภ์ที่ไหนดี?
คุณแม่สามารถไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลหรือคลินิกก็ได้ โดยโรงพยาบาลหรือคลินิกนี้ควรจะอยู่ใกล้บ้านหรือเดินทางได้สะดวก เพราะเมื่อคุณแม่เริ่มท้องแก่ คุณหมอจะเริ่มนัดให้มาตรวจดูครรภ์บ่อยขึ้น ทำให้อาจจะมีปัญหาในการเดินทางได้
Tips : ควรเลือกสถานที่ฝากครรภ์ที่เดินทางได้สะดวกที่สุด เผื่อในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินใด ๆ คุณแม่ก็จะสามารถไปถึงมือคุณหมอได้ทัน และไม่ต้องกังวลว่าหากฝากครรภ์ที่นี่จะต้องคลอดที่นี่ เพราะสถานที่ฝากครรภ์กับโรงพยาบาลที่คลอดไม่จำเป็นต้องเป็นที่่เดียวกันก็ได้ค่ะ
การเตรียมตัวและการเตรียมเอกสารเมื่อไปฝากครรภ์ครั้งแรก
- บัตรประชาชนของคุณแม่ และคุณพ่อ
- ประวัติการเจ็บป่วย การแพ้ยา การคลอดลูก โรคประจำตัว การแท้งบุตร ประวัติความเสี่ยงต่อโรคทางพันธุกรรม
- ข้อมูลการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย โดยนับจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย
อ่านต่อ ขั้นตอนการฝากครรภ์ ในแต่ละครั้ง
ขั้นตอนการฝากครรภ์ ครั้งแรก
- คุณหมอจะซักถามประวัติอย่างละเอียด เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ เช่นเป็นการตั้งครรภ์ที่เท่าไร ลักษณะการคลอด (ในกรณีไม่ใช่ท้องแรก) เคยแท้งหรือไม่ โรคประจำตัว ประวัติการเจ็บป่วย ยาที่กินเป็นประจำ ฯลฯ
- คำนวณกำหนดคลอด
- คุณหมอจะตรวจร่างกายอย่างละเอียด วัดความดันโลหิตดูการบวมตามร่างกาย ตรวจเลือดเพื่อหาหมู่โลหิต โรคทางพันธุกรรม และการติดเชื้อต่าง ๆ ตรวจปริมาณน้ำตาล ตรวจโปรตีนในปัสสาวะ
- ตรวจครรภ์ โดยการคลำความสูงของมดลูกว่าสมควรเหมาะสมกับอายุครรภ์หรือไม่
- ฟังการเต้นของหัวใจทารก หรืออาจจะอัลตราซาวด์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ที่เหมาะสม
- คุณหมอให้ยาบำรุงมากินตามความเหมาะสม
ขั้นตอนการฝากครรภ์ ครั้งต่อ ๆ ไป
เนื่องจากการตั้งครรภ์ในแต่ละสัปดาห์มีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ดังนั้น ขั้นตอนการฝากครรภ์ ครั้งต่อ ๆ ไป แม่ท้องและลูกในท้องอาจได้รับการตรวจเพิ่มเติม ดังนี้
การตรวจครรภ์และแม่ตั้งครรรภ์
- ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก คอตีบ และไอกรน และวัคซีนอื่น ๆ ให้แก่แม่ท้อง
- สอนการบันทึกความถี่เมื่อรู้สึกว่าทารกในครรภ์ดิ้น และการสังเกตตนเองเมื่อมีภาวะครรภ์เป็นพิษ
- ตรวจคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- เจาะตรวจน้ำคร่ำ หรือเจาะเลือดเพื่อหาความผิดปกติของยีนหรือโครโมโซมที่เกิดขึ้นกับทารกในครรภ์ (ตรวจกับแม่ท้องที่มีความเสี่ยงเท่านั้น)
- ตรวจภายใน (เมื่อใกล้ถึวันกำหนดคลอด) เพื่อดูลักษณะและการเปลี่ยนแปลงของปากมดลูก ที่กำลังเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดบุตร โดยปากมดลูกจะอ่อนนุ่มขึ้น และค่อย ๆ ขยายออกกว้างและบางลง ปากกมดลูกจะขยายกว้างถึง 10 เซนติเมตร และหดลงเมื่อคลอดทารกแล้ว
- ตรวจหัวนม คุณหมออาจจะขอดูหัวนมว่ามีความยาวเพียงพอที่ลูกน้อยจะสามารถงับและดูดได้หรือไม่ หากพบว่าคุณแม่มีปัญหาเรื่องหัวนมแล้ว คุณหมอก็จะช่วยหาทางแก้ไข เช่น การใช้ปทุมแก้ว เป็นต้น
การตรวจทารกในครรภ์
- อัลตราซาวด์ทารก การทำอัลตราซาวด์จะช่วยให้แพทย์วิเคราะห์ภาพรวมของร่างกายทารกได้ รวมทั้งยังช่วยระบุเพศของทารก โดยแพทย์จะใช้คลื่นเสียงที่มีความถี่สูงประมวลภาพทารกในครรภ์ออกมา เพื่อวัดการเจริญเติบโตของทารก
- วัดการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ โดยคลำประเมินจากขนาดหน้าท้อง
- ฟังการเต้นของหัวใจทารก เมื่อเข้ารับการตรวจครรภ์ในไตรมาสที่ 2 แพทย์จะให้ผู้ตั้งครรภ์ฟังเสียงหัวใจเต้นของทารกในครรภ์ โดยใช้เครื่องฟังเสียงหัวใจเต้นของทารกในครรภ์ (Doppler) เครื่องฟังเสียงหัวใจเต้นนี้จะจับจังหวะการเต้นของหัวใจทารกและประมวลผลออกมาเป็นเสียง หรือใช้หูฟังตรวจ (Strethtoscope) ซึ่งแพทย์จะฟังเสียงหัวใจทารกเต้นเอง โดยทั่วไปแล้ว จะได้ยินเสียงหัวใจทารกเต้นเมื่ออายุครรภ์ครบ 10-12 สัปดาห์
- ประเมินการเคลื่อนไหว เมื่ออายุครรภ์ครบ 20 สัปดาห์ ทารกในครรภ์มักดิ้นหรือถีบท้อง และผู้ตั้งครรภ์บางรายที่เคยตั้งครรภ์มาก่อนก็อาจพบว่าลูกดิ้นก่อนอายุครรภ์ครบ 20 สัปดาห์
- ตรวจท่าทางของทารกในครรภ์ เมื่อใกล้ครบกำหนดคลอด แพทย์จะวัดน้ำหนักและตรวจท่าของทารกว่าหันศีรษะไปทางช่องคลอดหรือไม่
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ วิธีการดูแลตัวเองระหว่างการตั้งครรภ์
วิธีการดูแลตัวเองระหว่างการตั้งครรภ์
- ควรฝากครรภ์ทันทีเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์
- ปรึกษาแพทย์ก่อนหยุดใช้ยาหรือก่อนเริ่มใช้ยาตัวใหม่ทุกตัวและทุกครั้ง เพราะยาทุกชนิดที่แม่ท้องทาน อาจมีผลกระทบกับลูกในท้องได้
- รับประทานวิตามินที่มีกรดโฟลิควันละ 0.4-0.8 มิลลิกรัม
- เมื่ออายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์ ผู้ตั้งครรภ์ควรสังเกตการเคลื่อนไหวของทารกทุกวัน เพื่อตรวจดูความปกติของทารก โดยสังเกตว่าทารกดิ้นถึง 10 ครั้งภายใน 2 ชั่วโมงหรือไม่ หากทารกเคลื่อนไหวน้อยกว่า 10 ครั้งหรือเคลื่อนไหวน้อยกว่าปกติ ควรปรึกษาแพทย์ และในกรณีที่ทารกดิ้นตลอดเวลา ควรรีบพบแพทย์ทันทีเช่นกัน
- รับประทานอาหารหลากหลาย เลือกที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและดื่มน้ำให้เพียงพอ
- รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
สำหรับค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์ ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลที่คุณแม่ไปฝากครรภ์ สำหรับโรงพยาบาลรัฐ แม่ท้องสามารถใช้สิทธิ 30 บาท สิทธิประกันสังคม และสิทธิอื่น ๆ ได้ และสำหรับโรงพยาบาลเอกชน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จะขึ้นอยู่กับการตรวจรักษาในวันนั้น ๆ ค่ะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ฝากครรภ์ฟรี! คลอดบุตรฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย
ฝากครรภ์ช้า ไม่กินยาบำรุง อันตราย! เสี่ยงลูกพิการ
7 วิธีดูแลตัวเองตอนท้อง อยากให้ลูกในท้องแข็งแรง ต้องทำสิ่งนี้
10 วิตามินคนท้อง ที่ควรกินเพื่อบำรุงแม่และลูกในท้อง
ขอบคุณข้อมูลจาก : pobpad, www.bccgroup-thailand.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่