พ่อแม่ต้องรู้หาก ลูกคลอดก่อนกำหนด กับ 13 ความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบกับร่างกายลูก
ปกติแล้วเวลาที่คุณแม่ไปฝากครรภ์นั้น คุณหมอจะช่วยทำการคาดคะเนวันคลอด หรือวันกำหนดคลอดให้กับคุณแม่อยู่แล้ว ซึ่งอายุครรภ์โดยทั่วไปนั้นจะอยู่ที่ 40 สัปดาห์หรือ 280 วัน ซึ่งวิธีการนับนั้น คุณหมอจะนับจากวันแรกที่ประจำเดือนมาคร้ังสุดท้าย แล้วบอกไปอีก 280 วันค่ะ แต่ถ้าหากคุณแม่เกิดคลอดลูกโดยมีอายุครรภ์ต่ำกว่า 37 สัปดาห์จะ หรือ 259 วันจะถือว่าเป็นการคลอดก่อนกำหนดนั่นเอง
องค์การอนามัยโลกได้ให้คำจำกัดความของคำว่า คลอดก่อนกำหนด หรือการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดว่าหมายถึง การที่ทารกคลอดก่อนกำหนดอายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ หรือ 259 วัน โดยให้เริ่มนับจากวันแรกของวันที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้าย
ซึ่งการคลอดก่อนกำหนดนั้นถือเป็นปัญหาทางการแพทย์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่พยายามหาทางป้องกันอยู่ โดยโรงพยาบาลศิริราชได้เปิดเผยว่า พบอัตราการคลอดก่อนกำหนดในประเทศไทยสูงถึง 12.9 เปอร์เซ็นต์ และพบว่าทารกที่คลอดก่อนกำหนดนั้นมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม ซึ่งถือว่าตัวเล็กเป็นอย่างมาก เนื่องจากอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ และนี่คืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายของลูกเมื่อ ลูกคลอดก่อนกำหนด
การคลอดก่อนกำหนดนั้น ถือเป็นความผิดปกติที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตและพิการสูงที่คลอดก่อนกำหนดมากถึง 3 เท่า และ 2 ใน 3 นั้นเสียชีวิตในเดือนแรกที่เกิด จริงอยู่ที่มีทารกบางคนอยู่ดีมีชีวิตรอด แต่ถึงอย่างไรก็ตามการคลอดก่อนกำหนดก็สามารถส่งผลกับระบบต่าง ๆ ของร่างกายทารกได้ด้วยเช่นกัน
ลูกคลอดก่อนกำหนด กับความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายลูก
- ภาวะปอดไม่สมบูรณ์ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นทันทีหลังคลอด หาก ลูกคลอดก่อนกำหนด โดยมีอายุครรภ์น้อยมากเท่าไรก็ยิ่งเกิดภาวะนี้ได้มากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากการขาดสารเคมีบางชนิดในปอด ซึ่งถ้าสร้างไม่พอในช่วงตอนเกิด ก็จะทำให้หายใจได้ยากขึ้น ซึ่งปกติแล้วสารนี้จะสร้างได้ครบเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ 35 สัปดาห์ค่ะ
- ภาวะเลือดออกในสมองอย่างเฉียบพลัน เป็นอีกหนึ่งภาวะที่เกิดขึ้นทันทีหลังคลอด เนื่องจากสมองของทารกคลอดก่อนกำหนดจะค่อนข้างนิ่มมาก ยิ่งคลอดก่อนกำหนดเท่าไรก็จะยิ่งนิ่มมากขึ้นเท่านั้น บวกกับในขณะคลอดที่ต้องผ่านอะไรหลายอย่าง คือ มีการเขย่า เจอแสงสว่าง ความตกใจ ความร้อนเย็นที่ต่างกัน ก็ทำให้ความดันเลือดค่อนข้างผันผวน จึงอาจทำให้เส้นเลือดในสมองบางเส้นแตกได้
- การติดเชื้อ หาก ลูกคลอดก่อนกำหนด เนื่องจากคุณแม่เกิดภาวะการติดเชื้อในช่องคลอดหรือน้ำเดิน ถุงน้ำแตกละก็ อาจทำให้ทารกได้รับเชื้อเข้าไป ส่งผลให้ติดเชื้อตั้งแต่กำเนิดและทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น คุณแม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ด้วยการระมัดระวังในเรื่องของความสะอาดในระหว่างตั้งครรภ์เป็นอย่างดีค่ะ
- น้ำหนักตัวน้อย หากลูกคลอดก่อนกำหนด โอกาสที่ลูกจะมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์นั้นมีความเป็นไปได้สูง แพทย์จึงจำเป็นต้องดูแลลูกน้อยเป็นพิเศษ ด้วยการให้อาหารผ่านทางสายยาง รวมถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะนมแม่มีสารอาหารสำคัญที่ช่วยเสริมพัฒนาการของทารกได้
- พัฒนาการช้า มีความเป็นไปได้ที่ลูกจะมีพัฒนาการที่ล่าช้ากว่าเด็กที่คลอดตามกำหนดค่ะ แต่คุณแม่ก็ไม่ต้องกังวลไปนะคะ เนื่องจากลูกยังมีโอกาสที่จะหายได้ แต่อาจจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง ซึ่ง 80 เปอร์เซ็นต์ของทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะมีพัฒนาการเป็นปกติเมื่อมีอายุครบ 2 ปี คุณแม่จึงควรดูแลในเรื่องของสารอาหารให้ครบถ้วน เพราะทารกจะต้องการปริมาณพลังงานที่มากกว่าปกติเพื่อช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโต พบได้ว่าทารกกลุ่มนี้พบได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์สามารถเป็นปกติได้หากได้รับการดูแลที่ดีพอ
- การมองเห็น หาก ลูกคลอดก่อนกำหนด ก็อาจส่งผลทำให้ดวงตามีความเปราะบางและแตกง่าย มีเลือดออกและเกิดแผลเป็นในจอประสาทตา ส่งผลให้เกิดความบกพร่องในการมองเห็นได้ เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของเส้นเลือดจอประสาทตา จึงควรต้องได้รับการตรวจตาก่อนออกจากโรงพยาบาลและจะตรวจซ้ำอีกครั้งในสัปดาห์ที่ 7-9 หลังคลอด
- การได้ยิน การที่ลูกคลอดก่อนกำหนดนั้นทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยินสูงกว่าปกติ ลูกจึงต้องได้รับการตรวจสอบการได้ยินจากแพทย์ก่อนออกจากโรงพยาบาล และคุณพ่อคุณแม่ก็ควรพาลูกมาเข้ารับการตรวจซ้ำเมื่อมีอายุ 3-6 เดือน
- โลหิตจาง เนื่องจากการคลอดก่อนกำหนดส่งผลทำให้ธาตุเหล็กสะสมไว้น้อย และถูกนำออกมาทดแทนระดับฮีโมโกลบินที่ลดลงจากการเจริญเติบโต ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางโดยธรรมชาติที่รุนแรงและยาวนานกว่าทารกที่คลอดตามกำหนด
- การหยุดหายใจในทารกแรกเกิด การที่ลูกคลอดกำหนดอาจส่งผลทำให้ลูกเกิดภาวะหยุดหายใจเอาเสียดื้อ ๆ ทำให้คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะให้การดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ซึ่งโอกาสที่จะหายก็มีความเป็นไปได้ ยกตัวอย่างเช่น หากลูกคลอดก่อนกำหนดตอนที่มีอายุครรภ์ได้ 35 สัปดาห์ พอผ่านไป 2 สัปดาห์หลังจากนั้น โอกาสที่ลูกจะหายเป็นปกติก็มีได้
- ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรก เนื่องจากระบบทางเดินหายใจและปอดยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้ทารกหายใจเสียงดัง โดยเฉพาะในขณะที่นอนหลับ มีการหายใจไม่สม่ำเสมอ และอัตราการหายใจมีการเปลี่ยนแปลงมากในขณะตื่นและนอนหลับ
- ภาวะโรคปอดเรื้อรัง เนื่องจากลูกยังหายใจไม่ได้เองในตอนแรก จึงจำเป็นต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ เพื่อรักษาโรคปอดในระยะแรก เมื่อหายแล้ว แต่ยังหายใจเองไม่ได้ ไอเองไม่เป็นหรือไอไม่ค่อยแรง เสมหะก็ออกจากปอดไม่ได้ ก็ยังคงต้องทำให้ลูกต้องพึ่งเครื่องช่วยหายใจไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงจุดที่ลูกมีน้ำหนักมากพอที่จะมีแรงไอได้ จากจุดนี้เองทำให้ปอดของลูกเกิดปัญหา แต่โรคปอดนี้หลังจากเอาเครื่องช่วยหายใจออกจะหายไปเองภายใน 1-2 ปี หากลูกมีปัญหามาก พอเด็กอายุประมาณ 9-10 ปีก็อาจจะเป็นโรคหอบได้
- ภาวะลำไส้เน่าตายอย่างเฉียบพลัน เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของทารกทั้งหมดที่เกิดมาตัวเล็ก ยิ่งตัวเล็กมากเท่าไรก็ยิ่งมีโอกาสเกิดเยอะมากขึ้นเท่านั้น ครึ่งหนึ่งหรือ 50 เปอร์เซ็นต์จะมีอาการเพียงเล็กน้อย คือ ลำไส้ขาดเลือดเพียงชั่วคราว ท้องอืด กินนมแม่ไม่ได้ประมาณ 7-10 วัน อีก 25 เปอร์เซ็นต์ มีลำไส้ตายแต่ไม่ทะลุ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องทำอะไรค่ะแค่งดนมร่วมด้วยประมาณ 1-2 อาทิตย์ เพราะลำไส้จะรักษาตัวได้เอง และหายได้เป็นปกติในที่สุด
- เสี่ยงต่อการเสียชีวิต เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของอวัยวะต่าง ๆ และเกิดอาการแทรกซ้อนตามมา เช่น ทารกหายใจลำบาก เกิดภาวะอุณหภูมิต่ำหรือตัวเย็น หัวใจวายจากเส้นเลือดบริเวณหัวใจปิดไม่สนิท เกิดอาการชักหรือเกร็ง เกิดภาวะตัวเหลืองและซีด และเสียชีวิตได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่