การทำเล็บจัดเป็นกิจกรรมสำหรับคุณผู้หญิงทั้งหลายที่ชอบความสวยงามรวมถึงคุณแม่ตั้งครรภ์ด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้มีการทำเล็บหลายรูปแบบมาเสริมความสวยให้กับนิ้วมือรวมถึงการทำเล็บเจล ที่สาว ๆ หลายคนให้ความสนใจ แต่เมื่อกำลังตั้งครรภ์ก็ยังกังวลว่า คนท้องทำเล็บเจลได้ไหม รวมถึงการทำเล็บในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย เพราะในน้ำยาทาเล็บประกอบไปด้วยสารเคมีต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพแม่ท้องและทารกในครรภ์ แล้วการไปนั่งในร้านทำเล็บท่ามกลางกลิ่นสารเคมีในน้ำยาต่าง ๆ ที่สูดดมเข้าไปจะส่งผลลูกน้อยในครรภ์ด้วยหรือเปล่า ควรทำไม่ควรทำตอนท้องดีนะ มาไขข้อข้องใจนี่กันค่ะ
การทำเล็บเจลแตกต่างจากการทาสีเล็บธรรมดาอย่างไร
การทาสีเจลจะให้ความติดแน่นทนทาน สีเล็บเจลดูมันวาว สวยงามกว่าทาสีเล็บแบบธรรมดา อยู่ได้นานโดยไม่ลอกร่อน หลังจากทาสีเจลแล้วงอบด้วยแสง UV ที่ทำให้สีแห้งเร็วขึ้น แต่การทำเล็บประเภทนี้บ่อย ๆ ทำให้หน้าเล็บบางได้ เนื่องจากก่อนลงสีเจลจะต้องตะไบหน้าเล็บออกก่อนเพื่อให้เจลติดดี เวลาจะเปลี่ยนสีหรือเพนต์ลายใหม่ก็ต้องตะไบหน้าเล็บทุกครั้ง ซึ่งอันที่จริงการทำเล็บสีเจลกับสีธรรมดาก็ไม่แตกต่างกันมาก
คนท้องทำเล็บเจลได้ไหม ทาสีเล็บ เพนท์เล็บ ควรทำไม่ควรทำตอนท้อง
ก่อนหน้านี้เคยมีความคิดเห็นมากมายเกี่ยวกับภัยของการทาเล็บกับคนท้องว่า ไม่ควรทาเล็บเพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ ทำให้คุณแม่หลายคนกังวล โดยเฉพาะคนที่รักการตกแต่งเล็บเป็นชีวิตจิตใจ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เคยมีรายงานถึงกรณีที่การทาเล็บจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของเด็กที่คลอดออกมาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม การที่คุณแม่ต้องการทำเล็บขณะตั้งครรภ์นั้นควรต้องมั่นใจว่าร้านทำเล็บที่เข้าไปใช้บริการนั้นไม่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากอุปกรณ์ ใช้อุปกรณ์ในการทำเล็บที่สะอาด รวมถึงการระมัดระวังใช้ยาทาเล็บและน้ำยาล้างเล็บขณะตั้งครรภ์ เพราะการสัมผัสหรือสูดดมสารเคมีจากน้ำยาทาเล็บบ่อย ๆ อาจเป็นอันตรายได้ โดยสารเคมีที่ใช้เป็นส่วนประกอบในยาทาเล็บและเป็นอันตราย ได้แก่
- โทลูอีน (Toluene) เป็นสารเคมีที่ถูกผสมในยาทาเล็บเพื่อช่วยให้สีที่ทาลงบนเล็บมีผิวเรียบเนียนและแห้งเร็ว ซึ่งการสูดดมหรือได้รับสารโทลูอีนเข้าสู่ร่างกายอาจส่งผลข้างเคียงมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ระคายเคืองต่อตา จมูก ลำคอ และปอด เป็นพิษต่อตับ ไต หากสูดดมหรือสัมผัสโดนสารนี้ในปริมาณมาก อาจทำให้ระบบประสาทเสียหายและทารกในครรภ์พิการได้
- ฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) เป็นสารก่อมะเร็งที่ถูกผสมในยาทาเล็บ ซึ่งช่วยให้น้ำยาทาเล็บแข็งตัวขึ้น เมื่อสูดดมสารนี้เข้าไปในระยะสั้นจะทำให้เกิดการระคายเคืองในลำคอ ต่อจมูก คอ ปอด ทำให้ไอและทำให้ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อีกทั้งการสัมผัสหรือสูดดมสารนี้เข้าไปในปริมาณมากและต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งในระบบทางเดินหายใจได้ หากสัมผัสกับผิวหนังจะปรากฏเป็นผื่นแพ้และคัน
- ไดบูทิลพาธาเลต (Dibutyl Phthalate) เป็นสารที่ช่วยให้สียึดติดกับตัวเล็บได้นานขึ้น แต่สารเคมีชนิดนี้เป็นสารก่อมะเร็งทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ และทำลายอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ และยังเป็นพิษต่อตับ ไต และปอด จัดเป็นสารเคมีอันตรายหากร่างกายได้รับติดต่อกันเป็นเวลานาน
สัญญาณเบื้องต้นที่บ่งบอกความเป็นอันตรายของ ยาทาเล็บ คือทันที่เปิดฝาออกมาก็มีกลิ่นเหม็นรุนแรง อันเกิดจากการผสมกันของแอลกอฮอล์ โซลเวนต์หรือสารอินทรีย์ระเหยที่ใช้เป็นตัวทำละลายซึ่งช่วยให้ยาทาเล็บแห้งเร็ว และเรซิ่นที่ทำให้สีของยาทาเล็บติดทนทาน ไม่ลอกล่อนโดยง่าย สูตรแบบนี้ไม่เหมาะกับคนท้อง
สิ่งที่ควรทำ vs ไม่ควรในการทำเล็บ เพื่อความปลอดภัยระหว่างตั้งครรภ์
- แจ้งพนักงานว่าคุณแม่กำลังตั้งครรภ์ เพื่อที่ช่างจะได้ระมัดระวังในการทำเล็บมากเป็นพิเศษ
- เลือกตะไบปลายเล็บแบบสี่เหลี่ยมมน เพราะการตะไบปลายเล็บให้มีรูปร่างแบบนี้ จะมีโอกาสน้อยที่จะทำให้เกิดเล็บขบ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการติดเชื้อ
- แจ้งพนักงานไม่ตัดหนังจมูกเล็บ/ หนังกำพร้าข้างเล็บออก เพราะเมื่อขลิบเนื้อเยื่อบริเวณส่วนนี้ออกไป อาจเสี่ยงทำให้เชื้อแบคทีเรียและเชื้อโรคต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกาย จนส่งผลให้เกิดการติดเชื้อตามมาได้
- หลีกเลี่ยงการอบเล็บ ควรเลือกรูปแบบการทำเล็บที่สามารถปล่อยให้เล็บค่อย ๆ แห้งเองเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องอบที่ใช้แสง UV โดยเฉพาะคนที่มีผิวหนังไวต่อรังสียูวี
- ไม่ควรทำเล็บเท้าหากมีแผลเปิด หูด ตาปลา หรือเชื้อรา การตัดเพื่อเปิดหรือการขูดแบบใด ๆ จะมีส่วนทำให้ไวต่อการติดเชื้อ หรือจำเป็นต้องใช้ยาที่ควรหลีกเลี่ยงในขณะตั้งครรภ์
- ใส่หน้ากากอนามัย ปิดปากปิดจมูกขณะทำเล็บ เพื่อป้องกันการสูดดมกลิ่นสารเคมีที่อาจส่งผลให้คุณแม่แพ้หรือวิงเวียนศีรษะ ทำให้เกิดการอาเจียนได้ หรือควรหลีกเลี่ยงบางขั้นตอนที่ต้องสูดกลิ่นสารเคมีมาก ๆ โดยไม่จำเป็น
- เลือกยาทาเล็บที่ปลอดภัยไม่มีส่วนผสมของโทลูอีน ฟอร์มาลดีไฮด์ และไดบูทิลพาทาเลต โดยมองหาสัญลักษณ์ “5-Free” หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนประกอบของFormaldehyde, Toluene, Dibutyl Рhthalate หรือ Camphor หรือ “3-Free” หมายถึง น้ำยาทาเล็บนี้ปราศจากสารอันตราย 3 ชนิด ได้แก่ Formaldehyde, Toluene และ Dibutyl Рhthalate บนขวดน้ำยาทาเล็บ อ่านรายละเอียดชื่อสินค้า ส่วนประกอบสำคัญ วิธีใช้ สถานที่ผลิต วันที่ผลิต ปริมาณสุทธิ และหาซื้อจากร้านที่น่าเชื่อถือ
- เลือกใช้น้ำยาล้างเล็บที่ไม่มีส่วนผสมของอะซิโตน เพราะการสัมผัสสารดังกล่าวในปริมาณมากหรือติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ และอาจส่งผลให้มีความผิดปกติแต่กำเนิดได้ และหลังล้างยาทาเล็บออก ควรล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่เสมอ เพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างบนผิวหนัง
อ่านต่อ ร้านทำเล็บแบบไหนที่เหมาะสำหรับแม่ท้อง คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ร้านทำเล็บแบบไหนที่เหมาะสำหรับแม่ท้อง
- ร้านทำเล็บที่มีอากาศถ่ายเทมองหาร้านที่มีหน้าต่างเปิดหรือมีระบบระบายอากาศ เมื่อเข้าไปแล้วไม่เหม็นกลิ่นน้ำยาต่าง ๆ จนต้องปิดจมูก การทำเล็บในที่อากาศถ่ายเทจะทำให้คุณแม่ลดการสูดดมกลิ่นน้ำยาทาเล็บหรือสารระเหยต่าง ๆ เข้าโดยตรง เพราะหากสูดดมเข้าไปในร่างกายในปริมาณมาก ก็อาจส่งผลให้คุณแม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน และรู้สึกไม่สบายจนอาจเป็นลมได้
- มั่นใจได้ว่าอุปกรณ์การทำเล็บสะอาดที่ร้านมีการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ได้มาตรฐาน และทำความสะอาดและผ่านการฆ่าเชื้อโรคอุปกรณ์ทำเล็บไม่ว่าจะเป็นกรรไกรตัดเล็บและเครื่องมือต่าง ๆ ทุกครั้ง
- เครื่องมือบางชนิดไม่นำกลับมาใช้ซ้ำ เครื่องมือที่ใช้ในการทำเล็บแบบที่ไม่ใช่อะลูมิเนียมหรือเหล็ก เช่น ฟองน้ำ คัตตอนบัด และตะไบกระดาษ หากทางร้านใช้กับลูกค้าแล้วจะนำไปทิ้งทันที ไม่นำกลับมาใช้ซ้ำ
- ช่างทำเล็บหรือพนักงานมีการสวมถุงมือเรียบร้อย และมีการเปลี่ยนถุงมือใหม่ทุกครั้งสำหรับการทำเล็บให้ลูกค้ารายใหม่ ไม่มีการนำถุงมือมาใช้ซ้ำ
กิจกรรมทำเล็บนั้นเป็นสิ่งที่มาคู่กับความสวยความงามที่จะช่วยทำให้ดูดีขึ้น ดังนั้นสำหรับคุณแม่ท้องที่อยากจะทำเล็บ เข้าร้านทำเล็บเสริมสวยให้นิ้วมือนั้นก็สามารถทำได้ ซึ่งปัจจุบันมีน้ำยาทาเล็บที่ออกแบบมาให้ปลอดภัยต่อสุขภาพและไม่มีกลิ่นเหม็น แต่ที่สำคัญแม้ว่าการทำเล็บจะยังไม่มีผลข้างเคียงที่เด่นชัดกับคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์ แต่ก็ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนเข้าร้านทำเล็บและควรใส่ใจคอยดูช่างตอนทำแต่ละขั้นตอน หรือถ้าเป็นไปได้ก็ควรรอให้พ้นไตรมาสแรก การทำเล็บในระยะไตรมาสที่ 2 หรือหลัง 4 เดือนขึ้นไปจะปลอดภัยและสร้างความสบายใจให้กับคุณแม่ได้ดีกว่าค่ะ.
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.trueplookpanya.com, www.facebook.com/doctorjimmi, www.pobpad.com, www.motherhood.co.th
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจอื่นๆ
คนท้องทำสีผมได้ไหม ดัด ย้อม ทำสีผม อันตรายต่อเบบี๋ในท้องหรือเปล่า?
ทําไมคนท้องถ่ายเป็นสีดํา แม่ท้องกินอะไรผิดไป!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่