AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

3 เหตุผลดีๆ ที่แม่ท้องควรอ่านหนังสือ

แม่ท้องอ่านหนังสือระหว่างตั้งครรภ์ช่วยเสริมสร้างความผูกพันระหว่างแม่ลูกได้

นอกจากการบอกเล่าเรื่องราวโน่นนี่ให้ลูกในท้องฟังแล้ว รู้ไหมคะว่าการอ่านหนังสือระหว่างตั้งครรภ์ วิธีแสนจะพื้นๆ แต่กลับช่วยเสริมสร้างความผูกพันกับลูกน้อย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการเป็นแม่ลูกได้เป็นอย่างดี จะสร้างได้อย่างไร แม่ท้อง อ่านหนังสือ ดีอย่างไรตามมาอ่านเลยค่ะ

1. แม่ท้อง อ่านหนังสือ ช่วยลดความเครียดและความกังวล

ความเครียดและวิตกกังวลของคุณแม่ในระหว่างตั้งครรภ์ อาจส่งผลให้เกิดโรคภัยต่างๆ ต่อลูก คุณแม่ตั้งครรภ์ทั้งหลายจึงควรจัดสรรเวลาเพื่อการพักผ่อน และหากิจกรรมที่ทำให้รู้สึกสงบสุขและผ่อนคลาย การอ่านหนังสือเป็นวิธีที่แนะนำค่ะ

ผลการศึกษาแม่ท้องที่ใช้เวลาอ่านหนังสือ แบบอ่านออกเสียงให้ลูกในท้องได้ยินไปด้วย ของมหาวิทยาลัย จอห์นส์ ฮอปกินส์เมื่อปี 2551 พบว่า ลูกน้อยในท้องมีการตอบสนองต่อจังหวะการเต้นของหัวใจของแม่ในยามที่แม่ผ่อนคลาย เช่น ยามที่แม่อ่านหนังสือให้ฟัง พูดคุยด้วย หรือยามที่แม่ร้องเพลง และเชื่อว่าหนูน้อยทั้งหลายจำเสียงของแม่ได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง อย่างที่มักจะสังเกตเห็นได้ว่าเบบี๋มักจะมีท่าทีตอบสนองกับเสียงของแม่หลังจากที่คลอดออกมาได้เพียงไม่นาน

2. แม่ท้องอ่านหนังสือ สร้างความผูกพันแม่ลูกได้

การอ่านหนังสือแบบอ่านออกเสียงดังๆ เพื่อให้ลูกน้อยในท้องได้ฟังไปด้วย ทั้งที่ลูกในท้องยังไม่เข้าใจความหมาย แต่สร้างความผูกพันแม่ลูกได้เพราะลูกน้อยในท้องสามารถจับจังหวะการเต้นของหัวใจแม่และโทนเสียงของแม่ได้ แถมตอบสนองต่อความรู้สึกของแม่ได้ด้วยนั่นเอง

 

ถ้าจะให้ดี ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า คุณแม่ท้องทั้งหลายควรเลือกหนังสือที่ทำให้เกิดความเบิกบานใจ สนุกสนาน ลูกจะได้เพลิดเพลินไปด้วย เช่น หนังสือนิทาน หรือหนังสือสำหรับเด็ก ที่มักจะเป็นเรื่องสั้นๆ กระชับ อ่านแล้วอารมณ์ดีกันทั้งแม่ทั้งลูก

อ่านต่อ ลูกเรียนรู้ได้ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ จริงหรือ? คลิกหน้า 2

อ่านนิทานให้ลูกฟังตอนท้อง
•  ลูกเรียนรู้ได้ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ จริงหรือ?

งานวิจัยของนักประสาทวิทยา เอลโน พาร์ทาเนนและคณะ จากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ซึ่งตีพิมพ์ลงในรายงาน The Proceeding of the National Academy of Sciences ให้คุณแม่ท้องแก่กลุ่มหนึ่งฟังคำที่กำหนดไว้อย่าง “ทาทาทา” ซ้ำๆ โดยแทรกระหว่างเสียงเพลง และให้เปลี่ยนคำตรงกลางบ้าง เช่น เปลี่ยนเป็น “ทาโททา” หนูน้อยทั้งหลายจะได้ยินคำที่กำหนดไว้นี้มากกว่า 25,000 ครั้ง ก่อนลืมตาออกมาดูโลก เมื่อทำการทดสอบหลังคลอดโดยใช้เซนเซอร์ EEG จับคลื่นสมองของหนูน้อยก็พบว่า มีการตอบสนองที่แรงขึ้นเมื่อได้ยินคำคุ้นเคยที่แม่เคยเปิดให้ฟัง “จึงกล่าวได้ว่า ทารกในครรภ์สามารถเรียนรู้จดจำสิ่งต่างๆได้มากกว่าที่เราเคยคิดกัน” พาร์ทาเนนสรุป

3. คุยกับลูกในท้อง ช่วยให้เขาคุ้นชินกับภาษาได้

การพูดคุยกับลูกน้อยในครรภ์ผ่านการอ่านหนังสือ แม่อาจไม่รู้ตัวว่ากำลังพูดคุยกับลูกด้วยคำพูดที่เรียกว่า Baby Talk” หรือ “ภาษาที่ใช้สำหรับทารก” คือ การพูดที่มีโทนเสียงสูงขึ้นกว่าปกติ และพูดช้ากว่าที่พูดในยามปกติ (บางคนพูดจาแบบเดียวกันนี้กับสัตว์เลี้ยงด้วย) อีริค ธีสเสน แห่งมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลลอน อธิบายว่า การที่แม่สื่อสารกับลูกด้วยการพูดจาภาษาทารก เป็นการช่วยให้ลูกเรียนรู้คำต่างๆ ได้ดีกว่าแม่ที่พูดกับลูกด้วยโทนเสียงแบบที่พูดกับผู้ใหญ่ เพราะการพูดช้าๆ ชัดๆ ทำให้ทารกรับฟังได้อย่างชัดเจน แม้ลูกในท้องจะยังมองไม่เห็นโลกภายนอก แต่ก็ช่วยทำให้ลูกคุ้นชินกับการสื่อภาษาได้

 

อ่านต่อ ให้ลูกในท้องฟังเพลงจะฉลาดจริงหรือ? คลิกหน้า 3

ให้ลูกในท้องฟังเพลง

รายงานวิจัยพบว่าเด็กทารกในครรภ์สามารถรับฟังเสียงดนตรีจากภายนอกได้เป็นอย่างดี และมีข้อบ่งชี้ว่า ทารกมักชอบเสียงดนตรีที่สงบ ฟังสบาย อย่างเช่น เพลงกล่อมเด็ก และพบด้วยว่าเมื่อทารกในครรภ์ได้ยินเสียงดนตรีที่ดังเกินไป จะแสดงออกให้แม่รู้ได้ด้วยการถีบ และดิ้นมากกว่าปกติเป็นเวลาหลายชั่วโมงเลยทีเดียว ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าทารกที่ฟังดนตรีตั้งแต่อยู่ในครรภ์จะฉลาดปราดเปรื่องมากกว่าทารกที่แม่ไม่ได้เปิดเพลงให้ฟังระหว่างที่อยู่ในท้องแต่อย่างใด ดังนั้นถึงคุณจะไม่เปิดเพลงให้ลูกฟังเลย ก็ไม่ได้ทำให้ลูกน้อยเสียโอกาส แต่หากคุณเป็นแม่ท้องที่มีดนตรีในหัวใจ ชอบฟังเพลงที่อ่อนโยน ฟังสบายหู เพื่อช่วยให้คุณรู้สึกสงบ ผ่อนคลายสบายใจ ไม่เคร่งเครียด ก็ถือเป็นผลดีต่อคุณและลูกน้อยอยู่แล้ว

รู้หรือไม่?

เบบี๋ในท้องแม่เริ่มมีพัฒนาการของการได้ยินเมื่อแม่มีอายุครรภ์ 26 สัปดาห์ และจากนั้นเป็นต้นมาลูกก็จะเริ่มตอบสนองต่อเสียงพูด และเสียงอื่นๆ อยู่เป็นประจำ และที่สำคัญก็คือ ลูกเรียนรู้และรับรู้ได้ตั้งแต่ยังอยู่ในท้องแม่ น้ำเสียง โทนเสียง และเสียงต่างๆ ที่หนูน้อยได้ยินขณะเจริญเติบโตอยู่ในท้องแม่เป็นพื้นฐานของการเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวเมื่อลืมตาออกมาดูโลก การอ่านหนังสือให้ลูกในท้องฟังจึงเสมือนการเตรียมความพร้อมในการเรียนรู้ให้ลูกได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เลยทีเดียวค่ะ

 

อ่านต่อบทความน่าสนใจอื่นๆ 

ลูกฉลาดตั้งแต่ในครรภ์ ต้องเริ่มที่แม่มี 7 รหัสนี้ครบ

จริงหรือไม่? แม่แพ้ท้องหนักมากจะทำให้ลูกฉลาด IQ สูง