โรคความดันโลหิตสูงกับการตั้งครรภ์ โรคความดันโลหิตสูงวินิจฉัยโดยการตรวจพบความดันโลหิตสูงกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท สองครั้งห่างกันเกิน 6 ชั่วโมง โรคนี้เป็นโรคที่ผู้คนคุ้นเคย เพราะมีผู้ป่วยโรคนี้กว่าสิบล้านคน ร้อยละ 90 เป็นโรคความดันโลหิตสูงที่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน มีเพียงร้อยละ 10 ที่ เป็นโรคความดันโลหิตสูงจากโรคที่เป็นอยู่แล้ว เช่นโรคไต โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคภูมิแพ้ของร่างกายเอสแอลอี เป็นต้น
โรคความดันโลหิตสูงกับการตั้งครรภ์ ภัยเงียบของแม่ท้อง
เมื่อตั้งครรภ์… โรคความดันโลหิตสูงกับการตั้งครรภ์ เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญ เนื่องจากเป็นโรคที่ทำให้มารดาเสียชีวิตติดอันดับ 1 ใน 3 ของทุกประเทศทั่วโลก
ความดันโลหิตสูงกับการตั้งครรภ์นั้นแบ่งเป็น 4 ชนิด ใหญ่ๆ ค่ะ ได้แก่
- ครรภ์เป็นพิษ
- ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง
- ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง มีครรภ์เป็นพิษเข้าแทรก
- ความดันโลหิตสูงในขณะตั้งครรภ์
สำหรับบทความนี้เราจะพูดถึงเรื่องความดันโลหิตสูงเรื้อรัง คือการเป็นโรคนี้ตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ค่ะ
ในประเทศไทยพบคุณแม่ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงกับการตั้งครรภ์ ร้อยละ 1-3 หากประมาณตามสถิติจำนวนคลอดประมาณ 700,000 รายต่อปี แต่ละปีย่อมมีคุณแม่ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงกับการตั้งครรภ์ จำนวนไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นรายเชียวค่ะ
เป็นโรคความดันโลหิตสูงท้องได้หรือ?
เป็นคำถามที่พบบ่อยในผู้หญิงที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง หลายคนคิดว่าตนเองมีโรคคงไม่ตั้งครรภ์ แต่ความเป็นจริงก็คือ ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไร เช่น โรคอ้วน โรคไธรอยด์ โรคโลหิตจาง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคตับ โรคปอด โรคมะเร็ง กระทั่งโรคเอชไอวีหรือเอดส์ หากไม่คุมกำเนิดก็สามารถตั้งครรภ์ได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ติดตาม ตั้งครรภ์ ความดันสูง มีความเสี่ยงอะไรบ้าง ต่อหน้า 2
คุณแม่ท้องที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมีความเสี่ยงอะไรบ้าง?
1. ความดันโลหิตสูงขึ้นจนควบคุมไม่ได้
ส่งผลให้เกิดเส้นโลหิตในสมองของมารดาแตก หัวใจล้มเหลว ไตวาย ตับวาย ฯลฯ
2. เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษเข้าแทรก
หากเป็นมาก เป็นอันตรายทั้งมารดาและทารก
3. ทารกคลอดก่อนกำหนด
ทำให้สมองขาดออกซิเจน มีปัญหาทางระบบสมอง ระบบหายใจ หรือเสียชีวิต
4. มีภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด
อาจทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์
5. ทารกอาจเสียชีวิตในครรภ์
เนื่องจากความดันโลหิตสูง ทำให้เลือดไปเลี้ยงทารกไม่ดี ทารกในครรภ์อาจไม่เจริญเติบโต ขาดอาหาร จนทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ตั้งแต่ไตรมาสสอง
คุณแม่ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงจะเกิดอันตรายทุกคนหรือไม่
พบว่าไม่ได้เกิดอันตรายเท่ากันทุกคน คุณแม่ที่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ดีตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ และขณะตั้งครรภ์ให้คงที่ ไม่เกิน 150/95 มม.ปรอท ความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ การคลอด และหลังคลอด ไม่ต่างจากคนตั้งครรภ์ทั่วไปค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ติดตาม แบบไหนไม่ควรตั้งครรภ์..เพราะเสี่ยงสูงมาก! ต่อหน้า 3
แบบไหนไม่ควรตั้งครรภ์..เพราะเสี่ยงสูงมาก!
- อายุมากกว่า 40 ปี
- เป็นโรคความดันโลหิตสูงมานานเท่ากับหรือเกิน 15 ปี
- เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ ความดันโลหิตสูงรุนแรงคือเท่ากับหรือมากกว่า 160/110 มม.ปรอท
- มีโรคเบาหวานร่วมด้วย
- มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตสูง ต่อไปนี้ร่วมด้วย ได้แก่ ไตเสื่อม ไตวาย จอตาเสื่อม หัวใจโต
- มีโรคต่อไปนี้ร่วมด้วย โรคหลอดเลือด โรคภูมิแพ้ของร่างกาย
อันตรายที่เกิดขึ้นคือ
- มีโอกาสเกิดครรภ์เป็นพิษ ร้อยละ 25-50
- โอกาสคลอดก่อนกำหนดร้อยละ 62-70
- โอกาสเกิดรกลอกตัวก่อนกำหนดร้อยละ 5-10
- โอกาสทารกไม่เจริญเติบโตในครรภ์ร้อยละ 31-40
- ทำให้เสี่ยงต่อการพิการและเสียชีวิตของแม่และลูก โดยความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นมาก หากมารดาผู้นั้นฝากครรภ์ช้าหรือไม่ได้ฝากครรภ์
ยารักษาโรคความดันโลหิตสูงจะมีผลกับเด็กในท้องหรือไหม?
ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ช่วยลดความรุนแรงของความดันโลหิตสูงได้ ซึ่งจะช่วยลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อมารดา ได้แก่ เลือดออกในสมอง หัวใจตาย ไตวาย ฯลฯ แต่หากลดความดันโลหิตมากไป ทารกอาจขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้หยุดเจริญเติบโตหรือเสียชีวิตในครรภ์ได้ หากก่อนตั้งครรภ์ใช้ยาบางจำพวกที่ห้ามใช้ในคนตั้งครรภ์ อาจจะต้องปรับเปลี่ยนยา ยาที่ห้ามใช้ในคนตั้งครรภ์ ได้แก่ ยาจำพวกเอซอินฮิบิเตอรส์ (ACE inhibitors), แอนจิโอเทนซิน รีเซ็พเตอร์ แอนต้าโกนิสทส์ (Angiotensin receptor antagonists) และ ไดเร็ค เรนิน อินฮิบิเตอร์ (Direct renin inhibitors)
ยาลดความดันโลหิตที่มีผลน้อยต่อทารก นิยมเลือกใช้ในคุณแม่ตั้งครรภ์มีสามจำพวก ได้แก่ เมทธิวโดปา(Methyldopa), ลาเบทาลอล (Labetalol) และแคลเซียม แชนเนล บล็อคเกอร์ (Calcium channel blocker)
ขณะตั้งครรภ์ถ้าความดันโลหิตไม่สูงมาก ควบคุมได้ อาจไม่ต้องใช้ยาดลดความดันโลหิต แต่หากความดันโลหิตสูงเกิน 150/100 มิลลิเมตรปรอท ควรใช้ยาลดความดันโลหิตตามแพทย์สั่ง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ช่วงหลังคลอด ขณะให้นมลูก แพทย์อาจปรับเปลี่ยนยาลดความดันโลหิต เพราะส่วนใหญ่ออกทางน้ำนมน้อยไม่ค่อยมีผลต่อทารก สามารถเลือกใช้ได้หลายชนิดตามความเหมาะสม
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ติดตาม คำแนะนำเมื่อเป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้วตั้งครรภ์ ต่อหน้า 4
คำแนะนำเมื่อคุณแม่เป็นโรคความดันโลหิตสูงก่อนตั้งครรภ์
-
-
- ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาก่อนการตั้งครรภ์
- ก่อนปล่อยให้ตั้งครรภ์ ความดันโลหิตสูงควรควบคุมได้หรืออยู่ในเกณฑ์ปกติอย่างน้อย 6 เดือน
- หากมีลักษณะเป็นมารดาในกลุ่มเสี่ยงอันตรายสูง ไม่ควรตั้งครรภ์
- ควรรับประทานโฟเลต (กรดโฟลิก) ก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 เดือน เพื่อช่วยลดความพิการประสาทสมอง และการแท้งของทารก
- ฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่าท้อง
- พบแพทย์ตามนัด หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ลูกดิ้นน้อยหรือลูกไม่ดิ้น มีเลือดหรือมีน้ำออกช่องคลอด ปวดเสียดครรภ์ ฯลฯ ต้องไปพบแพทย์ก่อนนัด
- ควรรับประทานอาหารเหล่านี้เป็นประจำ ผัก ผลไม้ นมไขมันต่ำ อาหารไขมันต่ำ งานวิจัยพบว่าอาหารเหล่านี้ช่วยลดความดันโลหิตได้บ้าง
- ลดอาหารรสเค็ม ควรรับประทานเกลือไม่เกินวันละ 2.3 กรัม (ประมาณ 1 ช้อนชา) หากอ้วน มีไขมันสูง อายุมาก ความดันโลหิตสูงมาก อาจลดเกลือเหลือไม่เกิน 1.2 กรัมต่อวัน
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ คืนละประมาณ 8 ชั่วโมง กลางวันควรได้พักผ่อนครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง ควรนอนตะแคงซ้ายเพื่อให้เลือดไปเลี้ยงทารกในครรภ์ได้ดีขึ้น
- ออกกำลังกายขณะตั้งครรภ์ เลือกวิธีที่ชอบ เช่น ว่ายน้ำ โยคะ วันละ 20-30 นาที อาทิตย์ละ 2-4 วัน
- ลดความเครียด เนื่องจากความเครียดส่งผลให้ความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น ดังนั้นช่วงตั้งครรภ์จึงควรมีวิธีลดความเครียด เช่น ลดงานประจำลง สามีผ่อนเบาภาระงานบ้าน มีงานอดิเรกที่ชอบทำ มีเวลาเป็นส่วนตน ทำสมาธิ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น
- ควรเพิ่มน้ำหนักตลอดการตั้งครรภ์ ดังนี้
- ผอม ค่าดัชนีมวลกาย** น้อยกว่า 18.5 กก./ตร.เมตร น้ำหนักควรขึ้น 12.5-18 กิโลกรัม
- น้ำหนักพอดี ค่าดัชนีมวลกาย 18.5-24.9 กก./ตร.เมตร น้ำหนักควรขึ้น 11.5-16 กิโลกรัม
- อ้วน ค่าดัชนีมวลกาย 25-29.9 กก./ตร.เมตร น้ำหนักควรขึ้น 7-11.5 กิโลกรัม
- อ้วนมาก ค่าดัชนีมวลกายเท่ากับหรือมากกว่า 30 กก./ตร.เมตร น้ำหนักควรขึ้น 5-9 กิโลกรัม
-
หมายเหตุ ** ค่าดัชนีมวลกายได้มาจาก น้ำหนักเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง
ยกตัวอย่างการคำนวณ สมมุติว่าคุณแม่หนัก 50 กก. และสูง 165 ซม.
ก่อนอื่นต้องแปลงส่วนสูงเป็นเมตรก่อนค่ะ
โดย 165 ซม. เท่ากับ 1.65 เมตร
และนำค่ามาเทียบในสูตรข้างต้นได้เลย
= 50 / (1.65 x 1.65)
= 50 / 2.72
= 18.38
ค่า BMI ของคุณแม่ก็จะเท่ากับ 18.38 นั่นเองค่ะ
-
-
-
- ควรรับประทานปลาทะเลน้ำลึก หรือปลาน้ำจืด ที่มีโอเมก้าสาม เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาโอ ปลากะพงขาว ปลาช่อน ปลาสวาย อาทิตย์ละสองครั้ง โอเมก้าสาม สามารถลดความดันโลหิตได้บ้าง
- โฟเลต และแคลเซียม นอกจากธาตุเหล็กที่คนตั้งครรภ์ต้องรับประทานแล้ว ควรเสริมโฟเลตและแคลเซียม โดยพบว่าโฟเลตสามารถช่วยลดความดันโลหิตได้บ้าง ส่วนการขาดแคลเซียมอาจเป็นสาเหตุให้เกิดครรภ์เป็นพิษได้
-
-
หากคุณแม่เป็นโรคความดันโลหิตสูง แต่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง สามารถดูแลตนเอง ทำตามคำแนะนำของแพทย์โดยเคร่งครัด ความดันโลหิตสามารถควบคุมได้ดีตลอดการตั้งครรภ์ การคลอด และช่วงหลังคลอด จะเสี่ยงอันตรายน้อย ไม่ต่างกับคนตั้งครรภ์ธรรมดาทั่วไป
อ่านบทความอื่นที่น่าสนใจ
เสียหลานชายวัย 1 ขวบ เพราะโรคไวรัสโรต้า
9 ผัก ผลไม้สีแดง สารต้านอนุมูลอิสระสูง ดีต่อสุขภาพคุณแม่
ตั้งครรภ์ 1-2 สัปดาห์ และพัฒนาการทารกในครรภ์
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่