AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

รวมวิธีกระตุ้นประสาท คุยกับลูกในท้อง สร้างอัจฉริยะให้ลูก

คุณแม่ท้องทราบหรือไม่ว่า… การอ่านหนังสือ หรือ คุยกับลูกในท้อง จะช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสของลูกน้อยได้ ทำให้เกิดการสร้างวงจรในสมองของลูกน้อยตั้งแต่เริ่มต้น สร้างวงจรการได้ยิน วงจรความรู้สึก วงจรการรับกลิ่น และวงจรการสัมผัสแห่งความรักของพ่อแม่ ทำให้มีพัฒนาการที่ดี และทำให้ลูกน้อยฉลาด

คุยกับลูกในท้อง สร้างอัจฉริยะให้ลูกได้อย่างไร?

การพูดคุยกับลูกในท้อง จริงๆ แล้วแม่ท้องสามารถคุยกับลูกในท้องได้ตั้งแต่รู้ว่าตั้งครรภ์ เพื่อฝึกความคุ้นเคยให้ตัวเองในการคุยกับลูกในท้อง ลูกทารกที่อยู่ในครรภ์นั้น สามารถเริ่มได้ยินเสียงคุณพ่อคุณแม่ และสภาพแวดล้อมได้ตั้งแต่มีอายุได้ 4 เดือน

ซึ่งพัฒนาการของลูกในครรภ์ที่ครบ 4 เดือน ดวงตาเริ่มมองเห็นแล้ว ลูกน้อยเริ่มเห็นแสงผ่านท้องของคุณแม่แล้ว นอกจากนี้ ลิ้นเริ่มมีปุ่มสัมผัส และจะเริ่มได้ยินเสียงสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเหมือนกับที่คุณแม่ได้ยินเลยละค่ะ แต่ไม่ใช่แค่นั้นนะคะ ลูกน้อย ยังสามารถได้ยินเสียงหัวใจของคุณแม่ และเสียงท้องร้องของกระเพาะอาหารอีกด้วยละค่ะ

จากนั้นเมื่อเข้าสู่เดือนที่ 5 ไม่ใช่เพียงการได้ยินอย่างเดียวเท่านั้น แต่ลูกน้อยในครรภ์ยังสามารถตอบสนองต่อเสียงที่ได้ยินอีกด้วย โดยไม่ว่าคุณแม่จะพูดคุยกับใคร คุณพ่อจะมาชวนคุยตอนไหน หรือแม้กระทั่งคุณแม่ได้ยินเสียงอะไรที่ทำให้ตกใจ ลูกก็จะตอบสนองต่อเสียงเหล่านั้นด้วยการขยับตัว กระตุก หรือเตะท้องของคุณแม่นั่นเอง

พอเข้าเดือนที่ 6 และ 7 ลูกน้อยจะเริ่มจดจำเสียงที่ได้ยิน เช่น เสียงเพลงที่คุณแม่ชอบเปิดให้ฟัง เสียงพูดคุยกันของคุณพ่อและคุณแม่ และเชื่อไหมคะว่าหลังจากที่ลูกลืมตาดูโลกแล้ว เวลาที่เขาได้ยินเสียงของคุณพ่อคุณแม่หรือเสียงเพลงที่ได้ยินบ่อย ๆ ตอนอยู่ในท้องนั้น พวกเขาจะรู้สึกสงบ อบอุ่น และก็ปลอดภัยขึ้นค่ะ

สุดท้ายเมื่อถึงเดือนที่ 8 และ 9 พัฒนาการทางด้านร่างกายของลูกสมบูรณ์เต็มที่แล้ว พวกเขาเริ่มเข้าใจในภาษามากขึ้น ทั้งนี้หากลูกได้ยินเสียงของภาษาอื่น ที่ไม่ใช่ภาษาของเราเอง ลูกก็จะเริ่มคุ้นเคยกับเสียงเหล่านั้น พอคลอดออกมาก็จะไม่รู้สึกถึงความแตกต่างและรู้สึกกลัวกับสิ่งที่ได้ยิน

แล้วการพูด คุยกับลูกในท้อง สร้างอัจฉริยะให้ลูกได้อย่างไร? เรื่องนี้ พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ นายกสมาคมนักวิจัยไทยเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง กล่าวว่า…⇓

ถ้อยคำต่างๆ ที่คุณแม่ได้ถ่ายทอดผ่านการอ่านหนังสือ พูดคุย หรือเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟังน้อยได้ฟังระหว่างตั้งครรภ์ จะช่วยให้ลูกน้อย มีพัฒนาการทางภาษาอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่แรกคลอด

ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ รวมทั้งยังช่วยสร้างสายใยความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง ระหว่างพ่อแม่ลูก และส่งผลดีต่อความสัมพันธ์กับญาติพี่น้อง และขยายไปถึงคนอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวอีกด้วย

สอดคล้องกับการศึกษาของ Dr.F.Rene Van de Carr สูติแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยในเมืองเฮย์เวิร์ด รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ได้ทำการทดลองกับคุณแม่ตั้งครรภ์กว่า 3,000 คน โดยการกระตุ้นลูกน้อยในครรภ์ด้วยการสัมผัส พูดคุย เปิดดนตรีให้ฟัง และพบว่า…

กิจกรรมต่างๆ ที่คุณแม่ได้ติดต่อสื่อสารกับลูกนั้น ทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบแน่นแฟ้น เด็กทารกจะสงบ มีความสนใจสิ่งแวดล้อมภายนอก มีความสุข และสามารถเดิน พูดได้เร็วกว่าเด็กที่ไม่ได้รับการกระตุ้นอีกด้วย

คุณพ่อ คุณแม่หลายๆ คู่ที่พูดคุย และอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่อยู่ในท้อง จนกระทั่งคลอด พบตรงกันว่า… ลูกน้อยเป็นเด็กเลี้ยงง่าย ไม่ร้องไห้โยเย เติบโตมาเป็นเด็กน่ารัก และอารมณ์ดี

นอกจากนี้ยังช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการในการแยกแยะความแตกต่างของเสียงที่ได้ยินมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในช่วง 6-7 เดือน เด็กจะสามารถจดจำเสียงที่มาจากภายนอกได้แล้ว เช่น เสียงพูดคุย เสียงเพลงต่างๆ เมื่อลูกน้อยคลอดออกมา ได้ยินเสียงเพลงที่คุ้นเคย หรือเสียงของคุณพ่อคุณแม่ เขาจะรู้สึกอบอุ่น และปลอดภัย

ทั้งนี้เทคนิคการคุยกับลูกในท้อง ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ เพื่อที่จะช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสของลูกน้อยได้ ทำให้เกิดการสร้างวงจรในสมองของลูกน้อยได้เป็นอย่างดี สามารถทำได้ ดังนี้…⇓

เทคนิคการพูด คุยกับลูกในท้อง ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้

แม่ท้องสามารถคุยกับลูกในท้องได้ทุกวัน ทุกเวลา และเรื่องที่พูดคุยควรเป็นเรื่องที่สบายใจ เรื่องสวยงาม หรือเรื่องราวดีๆ ต่างๆ เพื่อความผ่อนคลายทั้งตัวแม่เองและทารกในครรภ์

ที่สำคัญไม่ควร คุยกับลูกในท้อง ด้วยเรื่องเครียดเด็ดขาด เช่น รู้สึกน้อยใจสามี (คุณพ่อ) เครียดไม่มีเงินพอใช้ เพราะนอกจากลูกจะรับรู้ถึงความเครียดของคุณแม่ได้แล้ว การที่แม่ท้องมีความเครียดในระดับสูงระหว่างตั้งครรภ์นั้น จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองของลูกได้ ซึ่งฮอร์โมนความเครียดจะไปกระทบการทำงานของสมองใน 2 ส่วนด้วย อย่างระบบลิมบิค ที่เป็นสมองส่วนอารมณ์ ความทรงจำ มีการพัฒนาการช้า และส่วนที่ควบคุมเมททาบลิซึ่มของคาร์โบไฮเดรต หากขาดตัวนี้ก็จะทำให้ลูกที่เกิดมามีปัญหาเรื่องการควบคุม และสมาธิ อาจส่งให้ไอคิวต่ำ รวมถึงอาจมีปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ และสมาธิสั้นอีกด้วย ซึ่งจะสามารถสังเกตได้ก็ตอนอายุประมาณ 6 ปี

คุณแม่ท้องควรเรียกชื่อลูกบ่อยๆ แต่ถ้ายังไม่ได้ตั้งชื่อก็ควรเรียกด้วยชื่อกลางๆ เช่น ลูก, หนู, คนดี, น้อง เป็นต้น

ทั้งนี้เพื่อให้ลูกในท้องได้ยินเสียงพ่อแม่ได้ชัดขึ้น ให้ลองม้วนกระดาษเป็นทรงกรวย แล้วใช้ปลายกรวยครอบลงไปที่ท้องในตำแหน่งที่ศีรษะลูกอยู่ แล้วคุยกับลูกในท้องจะช่วยให้เขาได้ยินเสียงพ่อแม่ชัดขึ้น

อย่างไรก็ดี การคุยกับลูกในท้อง คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยกับลูกช้าๆ หรืออ่านหนังสือนิทานที่มีเนื้อหาที่เข้าใจง่าย พร้อมกับลูบหน้าท้อง และหมั่นสร้างภาวะทางอารมณ์ทางบวก เช่น พูดด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน เต็มไปด้วยความรัก จะช่วยกระตุ้นอารมณ์ของลูกน้อย ให้เป็นคนที่อ่อนโยน ก็จะช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสของลูกน้อยได้ ทำให้เกิดการสร้างวงจรในสมองของลูกน้อยได้เป็นอย่างดี

อ่านเพิ่มเติม คลิก!!


เครดิต: ผู้จัดการออนไลน์, ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

Save

Save

Save