การเลี้ยงลูก คือการให้ความรัก และเข้าใจธรรมชาติของความเป็นเด็ก เข้าใจอารมณ์ของลูก และสร้างอุปนิสัยให้เป็นเด็กหัวเราะง่าย เลี้ยงลูกให้อารมณ์ดี ร่าเริง เขาจะเป็นเด็กที่เลี้ยงง่าย และมี EQ ที่ดี โดยปกติแล้วมาจาก 3 ปัจจัย คือ พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และการรับประทานอาหาร
การส่งเสริมพัฒนาการและกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5
1.การสัมผัสร่างกาย ได้แก่ ลูกท้องกระตุ้นการรับรู้ โดยลูบเป็นวงกลม และการอุ้มกอดด้วยความรักอย่างนุ่มนวล ทำให้ลูกรู้ถึงความอบอุ่น มั่นคงปลอดภัย กระตุ้นระบบประสาท และสมอง
2.การสัมผัสทางหู ได้แก่ พูดคุยกับลูก ร้องเพลง หรือเปิดเพลงให้ลูกฟังเบาๆ ในระดับเสียงที่ไม่ดังเกินไป การเปิดเพลงให้ลูกฟังตั้งแต่ 5 เดือน จะกระตุ้นการได้ยินของลูก พูดคุยกับลูกเบาๆ ในประโยคซ้ำๆ และเปิดเสียงเพลงให้อยู่ห่างหน้าท้องประมาณ 1 ฟุต เมื่อลูกคลอดออกมา จะมีความสามารถในการจัดลำดับความคิด ผ่อนคลาย และจดจำสิ่งต่างๆ ได้ดี
3.การสัมผัสทางปาก ได้แก่ การให้ลูกได้รับนมแม่ ลูกจะคุ้นเคยกับรสชาติของน้ำนมแม่
4.การสัมผัสทางจมูก ได้แก่ ลูกที่ได้รับนมแม่ จะได้กลิ่นของน้ำนม และกลิ่นกายของแม่
5.การสัมผัสทางตา ได้แก่ จ้องมองลูกใกล้ๆ ขยับใบหน้าไปมาให้ลูกมองตาม หรือให้จ้องมองของเล่นที่มีสีๆ
อ่านต่อ “วิธีเลี้ยงลูกน้อยให้อารมณ์ดี” คลิกหน้า 2
วิธีเลี้ยงลูกน้อยให้อารมณ์ดี
1.ให้ลูกดื่มนมและรับประทานมื้อหลักจนอิ่ม ไม่ควรปล่อยให้หิวงอแง เตรียมนม และอาหารไว้แต่เนิ่นๆ เพราะเวลาหิวมักจะอารมณ์เสีย หงุดหงิด เตรียมอาหารไว้รับประทานตรงเวลา ร่างกายจะปรับระบบการย่อยอาหาร การขับถ่าย และนอนหลับได้ดี ช่วยให้สมองได้ใช้พลังที่ดีอีกด้วย
2.ให้ลูกน้อยนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ไร้เสียงรบกวน พาเข้านอนช่วงเวลาเดียวกัน และตื่นเวลาเดียวกันทุกวัน เมื่อเขาหลับสนิทย่อมส่งผลดีต่ออารมณ์ ทำให้ลูกมีอารมณ์ดี
3.เล่นกับลุกด้วยความสนุก และมีเสียงหัวเราะเสมอ สร้างบรรยากาศให้ครื้นเครง เมื่อคุณพ่อ คุณแม่ยิ้มหรือหัวเราะ จะกระตุ้นให้ลูกยิ้ม และหัวเราะตาม แค่ฉีกกระดาษ หรือดูลูกโป่งลอย เขาก็จะอารมณ์ดีแล้ว
4.อ่านหนังสือให้ลูกฟัง ให้ลูกดูรูปภาพ พลิกหนังสือไปพร้อมๆ กันทีละหน้า ทำให้เกิดการเรียนรู้ ปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน ลูกมีความผ่อนคลาย และเพลิดเพลิน ไม่ติดทีวี โดยหนังสือพลาสติกนิ่มๆ หนาประมาณ 4 หน้า เหมาะกับทารกวัยฝึกพูด อายุต่ำกว่า 1 ปี เมื่อเกิน 1 ปี ควรเป็นหนังสือปกแข็ง เพราะฉีกขาดยาก หรือบัตรคำเพื่อใช้ฝึกพูดเป็นคำๆ เมื่อถึงวัยอนุบาลก็เลือกหนังสือนิทานที่มีเนื้อหาไม่ยาวมากนัก เด็กชอบฟังนิทานเรื่องเดิมซ้ำๆ จนจำได้ และเล่าให้คนอื่นฟังได้ด้วย
5.ปล่อยให้ลูกเป็นฝ่ายชี้นำ ไม่ให้ความช่วยเหลือ และยัดเยียดสิ่งที่ลูกไม่ต้องการ หรือไม่ชอบ ให้ลูกเรียนรู้บางอย่างด้วยตัวเอง
6.ฝึกทักษะให้ลูกใช้มือหยิบจับของเล่น และเล่นกับเด็กคนอื่น สอนให้เข้าใจความสำคัญในการปรับตัวเข้าสังคม รู้จักควบคุมอารมณ์ การแบ่งปัน การแก้ปัญหา การใช้ภาษา พัฒนาร่างกาย สติปัญญา กล้ามเนื้อ การมองเห็น การได้ยิน และการทรงตัวอีกด้วย ทำให้ลูกมีสมาธิ เรียนรู้ดี และเป็นกำลังใจให้ลูกภูมิใจตัวเอง
7.ปล่อยให้ลูกเผชิญปัญหา และความลำบากด้วยตัวเอง โดยคุณพ่อคุณแม่เฝ้าดู และให้คำแนะนำอยู่ห่างๆ เมื่อลูกโตขึ้นจะมีความอดทน รับรู้อารมณ์ความผิดหวัง มีภูมิคุ้มกันต่อแรงกดดันทางสังคมได้ และระบายความเครียดอย่างถูกวิธี
ศ.พญ.อลิสา วัชรสินธุ จิตแพทย์เด็ก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความฉลาดต้องมาคู่กับอารมณ์ดี เพราะถ้าเด็กอารมณ์ไม่ดี หงุดหงิด วิตกกังวล หรือกลัว ก็จะไม่สามารถเรียนรู้ และใช้ความฉลาดที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่ ควบคุมพฤติกรรมของลูก ไม่ตามใจลูกจนเกินไป เพราะหากตามใจ เมื่อลูกหงุดหงิด ก้าวร้าว ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เด็กอาจจะจบด้วยการเอาแต่ใจตัวเอง สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ดังนั้นความฉลาดทางอารมณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าฉลาดแต่ทำให้คนอื่นต้องเดือดร้อนคงจะดูไม่ดีแน่นอน
เครดิต: sanook.com, โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่, ศ.พญ.อลิสา วัชรสินธุ, รองศาสตราจารย์นายแพทย์วิทยา ถิฐาพันธ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล