คุณแม่ที่กำลังเริ่มตั้งครรภ์หลายคนคงรู้สึกตื่นเต้นไม่น้อย เมื่อได้รู้ว่า กำลังเกิดสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในท้องของคุณแม่ นั่นคือลูกน้อยที่คุณพ่อ คุณแม่กำลังตั้งตา รอคอยได้เห็นหน้า แม่น้องเล็กชวนคุณพ่อ คุณแม่มาเรียนรู้ การเจริญเติบโตในครรภ์ ของลูกน้อย ตลอดระยะเวลา 9 เดือน ซึ่งเป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์ที่สุด
การเจริญเติบโตในครรภ์ 3 เดือนแรก
เดือนที่ 1
ช่วงนี้ การเจริญเติบโตในครรภ์ จะมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ตั้งแต่การเพิ่มขึ้นของเซลล์หลายร้อยเซลล์ หนึ่งในนั้นมีชื่อว่า Blastocyst ซึ่งอยู่ในมดลูก ส่วนที่อยู่ในรกจะสร้างฮอร์โมน HCG (Human Chorionic Gonadotropin) เพื่อส่งสัญญาณให้ร่างกายหยุดการสร้างไข่อ่อน แต่หันมาสร้างเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนแทน ในระหว่างนั้นร่างกายจะเริ่มสร้างถุงน้ำคร่ำ ซึ่งจะทำหน้าที่ปกป้องลูกน้อยที่กำลังค่อยๆ เจริญเติบโต และได้รับสารอาหาร รวมถึงออกซิเจนผ่านท่อเส้นเล็กๆ จนกว่ารกจะแข็งแรงพอที่จะทำหน้าที่ต่อไป
หลังจากนั้นร่างกายของลูกน้อยจะค่อยๆ เติบโตอย่างช้าๆ มือ แขน ขา กำลังก่อตัวขึ้น และสิ่งต่างๆ ในถุงน้ำคร่ำจะทำหน้าที่เลี้ยงดู สร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ส่งสารอาหาร และออกซิเจนให้ลูกน้อย แทนรกที่กำลังพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่จะรับหน้าที่ต่อไป
เดือนที่ 2
มีการแยกตัวของกลุ่มเซลล์ให้กลายเป็นเนื้อเยื่อ 3 ชั้น คือ เนื้อเยื่อชั้นนอก (Ectoderm) เนื้อเยื่อชั้นกลาง (Mesoderm) และเนื้อเยื่อชั้นใน (Endoderm) ซึ่งจะทำหน้าที่สร้างส่วนต่างๆ ของร่างกายให้สมบูรณ์
ต่อมาร่างกายของลูกน้อยเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เริ่มมีจมูก ปาก หู เป็นรูปเป็นร่าง ศีรษะเริ่มโตกว่าปกติ และมีจุดดำเล็กๆ คล้ายตา นอกจากนี้ยังมีหัวใจเต้นถี่ 100-160 ครั้งต่อนาที เนื่องจากระบบเลือดกำลังหล่อเลี้ยงร่างกาย ลำไส้และตับค่อยๆ สร้างขึ้นมา รวมถึงสมอง กล้ามเนื้อ และกระดูก ความยาวของช่วงตัวจะอยู่ที่ประมาณ 0.25 นิ้ว หรือเมล็ดถั่วเล็กๆ
หลังจากนั้นมือและขาเห็นเป็นรูปร่างมากขึ้น แต่ยังมีลักษณะอ้วน ป้อม และยังมีหางเล็กๆ ซึ่งจะกลายมาเป็นกระดูกก้นกบ ส่วนสมองมีการพัฒนามากกว่าครึ่งหนึ่งแล้ว ตับเริ่มฟอกเซลล์เม็ดเลือดแดงได้แล้ว ตับอ่อนเริ่มผลิตฮอร์โมนอินซูลินเพื่อช่วยในการย่อยอาหาร และลำไส้ก็เริ่มก่อตัวเป็นโพรงเพื่อที่จะส่งถ่ายเลือดและออกซิเจน รวมทั้งสารอาหารไปเลี้ยงร่างกายของลูกน้อย
เมื่อถึงระยะ 2 เดือนเต็ม นิ้วมือและนิ้วเท้าเริ่มงอกออกมาจากแขนและขา หนังตาบางๆ เริ่มปิดตาจนมิด ระบบทางเดือนหายใจเริ่มต่อยาวจากลำคอไปที่ปอด ส่วนหางจะเริ่มสั้นลง เซลล์ประสาทต่างๆ ในสมองเริ่มพัฒนาเชื่อมต่อกัน
เดือนที่ 3
รูปร่างหน้าตาเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น หัวใจแบ่งเป็น 4 ห้อง ลิ้นกับฟันเล็กๆ เริ่มงอกออกมาใต้เหงือก หางที่เคยมีก็หายไป กล้ามเนื้อและระบบประสาทต่างๆเริ่มประสานต่อกัน เริ่มปรากฏอวัยวะเพศแต่ยังไม่ทราบแน่ชัด ดวงตาโตเต็มที่แต่หนังตายังปิดอยู่และจะไม่เปิดจนกว่าจะเข้าสู่ประมาณเดือนที่ 6-7 ส่วนติ่งหู จมูก ปาก เริ่มเห็นชัดขึ้น
ต่อมาเล็บจะเริ่มงอก และมีเส้นผมบางๆ รวมถึงขนอ่อนๆ แขนเริ่มงอเตรียมพร้อมสำหรับเป็นข้อมือในอนาคต กระดูกสันหลังเริ่มขึ้นมาเป็นสันบางๆ รวมทั้งระบบประสาทแถวกระดูกสันหลังที่เริ่มแตกกิ่ง หน้าผากเริ่มนูนขึ้นเตรียมพร้อมสำหรับสมองที่โตขึ้นทุกวัน
หลังจากนั้นขนาดตัวจะยาวขึ้นมากกว่า 1 นิ้วครึ่ง กระดูกเริ่มแข็งแรงมากขึ้น เริ่มเตะ ยืดแขนขา นิ้วมือเล็กๆ เริ่มกำ-แบได้ นิ้วเท้าเริ่มงอ กล้ามเนื้อตาใกล้สมบูรณ์ เริ่มเม้มปากได้มากขึ้น ลูกน้อยเริ่มดิ้น นอกจากนี้ลำไส้ก็พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ไตเริ่มขับของเสียออกจากกระเพาะปัสสาวะ ระบบประสาทในสมองเริ่มเชื่อมโยงกันมากขึ้นเรื่อยๆ ตาเริ่มเคลื่อนที่จากด้านข้างไปอยู่ด้านหน้า หูเริ่มประจำตำแหน่ง
อ่าน “การเจริญเติบโตในครรภ์เดือนที่ 4-6” คลิกหน้า 2
การเจริญเติบโตในครรภ์ เดือนที่ 4-6
เดือนที่ 4
การเจริญเติบโตในครรภ์ เริ่มมีลายนิ้วมือ เส้นเลือดดำ และอวัยวะต่างๆ ที่เริ่มชัดขึ้นผ่านผิวหนังบางๆ ความยาวลำตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 3 นิ้ว น้ำหนักประมาณเกือบ 1 ออนซ์ หากเป็นเพศหญิง ร่างกายจะเริ่มผลิตไข่มากกว่า 2 ล้านใบในรังไข่
ต่อมาลูกน้อยจะเริ่มกระพริบตา ขมวดคิ้ว ทำหน้าบู้บี้ เริ่มฉี่ และดูดนิ้วได้ สมองเริ่มมีการกระตุ้น กล้ามเนื้อหน้าเริ่มเคลื่อนไหวได้เล็กน้อย ไตเริ่มผลิตปัสสาวะได้และขับออกมาทิ้งภายในถุงน้ำคร่ำ เริ่มมองเห็นลำคอชัดเจน แขนขายาวขึ้น เส้นผมนุ่มขึ้น ตับเริ่มสร้างน้ำดี ม้ามเริ่มผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง
หลังจากนั้น ลูกน้อยเริ่มหายใจเข้าออก สูดน้ำคร่ำเข้าและออกผ่านปอด ทำให้ปอดมีการสร้างถุงลมเพื่อช่วยเรื่องการหายใจเพิ่มขึ้น ขาเริ่มยาวกว่าแขน และขยับข้อต่อของแขนขาได้ หนังตายังคงปิดสนิทแต่เริ่มรับรู้เกี่ยวกับแสง อวัยวะเพศเริ่มชัดเจนขึ้น
ขนาดตัวลูกน้อยประมาณ 4 นิ้วครึ่งจากศีรษะถึงก้น และมีน้ำหนักประมาณ 98 กรัม ขาเริ่มสมบูรณ์ ศรีษะตั้งตรงกว่าเดิม หนังศีรษะเริ่มขึ้น เล็บเท้ายาวขึ้น หัวใจสูบฉีดโลหิตได้ประมาณ 52 ลิตรต่อวัน
เดือนที่ 5
กระดูกอ่อนเริ่มแข็งแรง มีการเชื่อมต่อระบบต่างๆ กับรกมากขึ้น ลำตัวยาวประมาณ 5 นิ้ว สามารถขยับข้อต่อต่างๆ และเริ่มมีต่อมเหงื่อ
แขนขาขยับเคลื่อนไหวได้ มองเห็นริ้วเส้นฝอยบางๆ บนผิวหนัง ระบบประสาทจะสร้างสารไขมันมาหุ้มใยประสาทต่างๆ หากเป็นเพศหญิงร่างกายจะเริ่มสร้างมดลูก หากเป็นเพศชายอวัยวะเพศจะชัดเจนมากขึ้น
ต่อมาระบบประสาทจะเริ่มพัฒนามากขึ้น สมองส่วนที่เกี่ยวกับการดมกลิ่น ลิ้มรส ได้ยิน มองเห็น และสัมผัสเริ่มเกิดขึ้น ลำตัวลูกน้อยยาวขึ้นประมาณ 6 นิ้ว แขนขาเริ่มสมส่วน ผิวหนังมีขี้ผึ้งบางๆ เคลือบเพื่อป้องกันกรดต่างๆที่อยู่ในรก และป้องกันการกระแทกกับของแข็งในมดลูก
หลังจากนั้น ลูกน้อยจะหัดกลืนได้มากขึ้น เป็นการฝึกระบบเกี่ยวกับการย่อยให้ดีขึ้น เริ่มมีการขับถ่ายเป็นครั้งแรก เพราะลำไส้มีการรวมตัวของเซลล์ที่ตายแล้ว โดยอึก้อนแรกจะมีสีดำ เหนียว
เดือนที่ 6
ขยับตัวมากขึ้นกว่าเดิม คิ้วและเปลือกตาเติบโตเต็มที่ รูปร่างหน้าตาค่อนข้างสมบูรณ์ ริมฝีปากชัดเจนขึ้น ดวงตาเริ่มสมบูรณ์ เริ่มมีขนอ่อนๆ ตามร่างกาย ผิวหนังเหี่ยวย่น ตับอ่อนเริ่มผลิตสารที่ให้ประโยชน์กับร่างกาย ขนาดลำตัวยาวประมาณ 11 นิ้ว น้ำหนักประมาณ ครึ่งกิโลกรัม ระบบเส้นเลือดต่างๆ พัฒนาเพื่อพร้อมสำหรับการหายใจในอนาคต เริ่มได้ยินเสียงมากขึ้น
ต่อมาน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นอีก 112 กรัม ขนาดตัวยาวครึ่งฟุต แต่ลำตัวเริ่มผอมลงเนื่องจากตัวยืดขึ้น สมองเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว รับรู้รสชาติต่างๆ ปอดกำลังแบ่งเซลล์ออกไป
อ่าน “การเจริญเติบโตในครรภ์เดือนที่ 7-9” คลิกหน้า 3
การเจริญเติบโตในครรภ์ เดือนที่ 7-9
เดือนที่ 7
การเจริญเติบโตในครรภ์ ผิวหนังเริ่มตึงขึ้น หน้าตาใกล้เคียงกับทารกแรกเกิด เส้นผมขึ้นต่อเนื่อง ระบบประสาทภายในหูเริ่มพัฒนาแยกแยะเสียงได้ ขนาดตัวประมาณ 14 นิ้ว น้ำหนัก 800 กรัม หากเป็นเพศชาย อัณฑะจะถูกห่อหุ้มด้วยถุงอัณฑะ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2-3 วันจึงจะสมบูรณ์
ต่อมาน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 1 กิโลกรัม ลำตัวยาวประมาณ 14 นิ้วครึ่ง เริ่มตื่นและนอนตามเวลา เริ่มลืมตาและหลับตาได้ มองเห็นได้ลางๆ เนื้อเยื่อในสมองพัฒนามากขึ้น รับรู้สิ่งต่างๆ รวดเร็ว ปอดทำงานตามระบบมากขึ้น
เดือนที่ 8
น้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 1.3 กิโลกรัม ลำตัวยาวประมาณ 15 นิ้ว กล้ามเนื้อและปอดเติบโตเต็มที่ และร่างกายต้องการสารอาหารอย่างต่อเนื่อง
ต่อมาลำตัวยาวขึ้นประมาณ 15.7 นิ้ว น้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม สามารถขยับศีรษะไปด้านข้างได้ แขนขาเริ่มมีไขมันสะสมมากขึ้น ทำให้ผิวไม่เหี่ยวย่น
หลังจากนั้นน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 1.7 กิโลกรัม ลำตัวยาวประมาณ 16.7 นิ้ว เล็บมือ เล็บเท้า เส้นผม ขึ้นเต็มที่ ผิวหนังนุ่มและเรียบเนียนขึ้น
เดือนที่ 9
ร่างกายเติบโตขึ้นเรื่อยๆ น้ำหนักมากกว่า 2 กิโลกรัม กระดูกแข็งแรงและเชื่อมต่อกันมากขึ้น ไขมันเริ่มสะสมตามผิวหนังมากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสร้างความอบอุ่นเมื่อออกสู่โลกภายนอก ระบบประสาทส่วนกลางและปอดพัฒนาจนเกือบสมบูรณ์ ตับสามารถขับถ่ายของเสียออกมาได้
ต่อมาน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 2.5 กิโลกรัม ขนาดลำตัวยาวประมาณ 18 นิ้วครึ่ง เส้นผมขึ้นทั่วศีรษะ ขนอ่อนๆ ขึ้นทั่วร่างกาย ระบบต่างๆ เจริญเติบโตครบสมบูรณ์ ศีรษะเริ่มคว่ำลง อวัยวะครบสมบูรณ์ พร้อมที่จะออกสู่โลกภายนอก
ชมคลิป การเจริญเติบโตในครรภ์ ตลอด 9 เดือน
ข้อมูลอ้างอิง: กรมกิจการเด็กและเยาวชน
อ่านบทความที่น่าสนใจ คลิก! เจาะลึก 40 สัปดาห์กับ พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่