สมอง ถูกสร้างขึ้นและพัฒนาด้วยปัจจัย 3 ประการคือ พันธุกรรม โภชนาการ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจัยทั้งสามจะร่วมกันสร้างสมอง ตั้งแต่รูปร่างโครงสร้างของสมอง ทำให้สมองทำงาน มีการพัฒนาสารเคมีต่างๆ ที่มีส่วนให้สมองสั่งการ จนมีการแสดงออกมาเป็นพฤติกรรม ซึ่งแต่ละส่วนก็มีความสัมพันธ์กัน หากทุกส่วนทำงานได้ราบรื่นดีก็แสดงว่า สมองดี มีคุณภาพ มาดูกันว่าเราจะพัฒนาปัจจัยเหล่านี้ให้ลูกน้อยฉลาด และ สมองดีสร้างได้ อย่างไรบ้าง?
สมองดีสร้างได้ ดูที่พันธุกรรม
สมองจะเจริญเติบโตได้ต้องอาศัยข้อมูลทางพันธุกรรมที่อยู่ในดีเอ็นเอเป็นตัวกำหนดองค์ประกอบต่างๆ ของอวัยวะในร่างกายว่าจะมีลักษณะอย่างไร และมีคุณภาพอย่างไร ซึ่งก็รวมถึงสมองด้วย
ถ้าองค์ประกอบต่างๆ ในดีเอ็นเอปกติ สมองก็ปกติ แต่ถ้าองค์ประกอบในดีเอ็นเอผิดแผกไป ยกตัวอย่างเช่น เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับสมอง เช่น โรคสมองพิการ โรคไขสันหลังพิการ ดาวนส์ซินโดรม แม้แต่ออทิสติก ทุกวันนี้ก็พบว่า เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับสมอง สมองก็จะผิดปกติไปด้วย
พันธุกรรมจึงเป็นปัจจัยสร้างสมองที่เราเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้ แต่ที่ทำได้คือ เลือกคู่ครองที่ปกติ หรือป้องกันได้ด้วยการตรวจสุขภาพกันก่อน
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยอีก 2 อย่าง ได้แก่ อาหารโภชนาการ และสิ่งแวดล้อม ที่เป็นปัจจัยสำคัญ และคุณพ่อ คุณแม่สามารถดูแลให้ลูกน้อยได้ หากต้องการพัฒนาสมองของลูกให้เรียนรู้ได้เต็มศักยภาพ
อ่านต่อ “สมองดีสร้างได้ดูที่อาหาร” คลิกหน้า 2
สมองดีสร้างได้ ดูที่อาหาร
1.สมองดีเริ่มต้นได้ตั้งแต่ตั้งครรภ์
คุณแม่ตั้งครรภ์จำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่ดี โดยเฉพาะช่วงอายุครรภ์ 4 – 5 เดือนไปจนถึงตอนคลอด ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด คุณแม่จะต้องมีโภชนาการที่ดี และโดยทั่วไปสมองของลูกน้อยจะเริ่มพัฒนาและเติบโตขึ้นตั้งแต่ 25 วันหลังจากการปฏิสนธิ ดังนั้น ช่วงเวลาที่ลูกน้อยอยู่ในท้องของคุณแม่ตลอด 9 เดือน คุณแม่ต้องรับประทานอาหารที่ดี ย่อยง่าย ได้สารอาหารครบถ้วน ทั้งโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน และเกลือแร่ ผ่านจากเลือดของคุณแม่ไปรก แล้วส่งไปยังสายสะดือถึงตัวลูกน้อย ถ้าคุณแม่ได้รับประทานอาหารดี ลูกน้อยก็จะมีสมองที่เจริญเติบโตมาดี มีคุณภาพ
เช่น ธาตุเหล็ก เป็นองค์ประกอบของสารที่เก็บความจำและกระตุ้นความสนใจ หรือ โฟเลท (Folic Acid) ที่สำคัญมาก ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่ทำให้เซลล์ประสาทแบ่งตัวได้ ถ้าขาดโฟเลทเซลล์ประสาทจะไม่สามารถแบ่งตัว จะพิการโดยแสดงออกมาทางร่างกายที่เรียกว่า “หลอดประสาทพิการ” และไม่มีทางรักษา แต่สามารถป้องกันได้โดยคุณแม่ตั้งครรภ์รับประทานผักใบเขียวหรือเสริมกรดโฟลิกให้เพียงพอ
2.คลอดแล้วอาหารสมองต้องต่อเนื่อง
เมื่อลูกน้อยคลอดออกมาแล้ว อาหารสำคัญคือ การกินนมแม่ ในนมแม่มีสารกระตุ้นสมองมากมาย และจัดเป็นอาหารที่พอเหมาะพอดีกับลูกน้อย ไม่มากไปไม่น้อยเกินไป
หลังจากกินนมแม่แล้ว สมองจะเติบโตและพัฒนาได้ต้องอาศัยสารอาหารและสารเคมีในอาหารที่สำคัญเป็นหลัก ได้แก่ โปรตีน และน้ำมันปลา หรือกรดไขมันที่รู้จักดีในชื่อ โอเมก้า – 3 และโอเมก้า – 6 สารเหล่านี้ชื่อทางโภชนาการเรียกว่า “แอลซี พูฟา” (LC PUFA) มาจากคำว่า Long Chain Polyunsaturated Fatty Acids กรดไขมันอิ่มตัวเส้นเดียวที่เป็นกรดสายยาว
ในการสร้างเซลล์สมองและเยื่อหุ้มเซลล์ต้องใช้โปรตีนเยอะมาก ส่วนเซลล์ประสาทจะทำงานส่งสัญญาณได้ จะต้องมีโปรตีนกับกรดไขมันไม่อิ่มตัว มีงานวิจัยพบว่าถ้าเด็กแรกเกิดขาดโปรตีนกับ “แอลซี พูฟา” สมองจะไม่เจริญเติบโต มีโอกาสสมองพิการได้
แหล่งอาหารโปรตีน ได้แก่ เนื้อสัตว์ต่างๆ ไข่ นม ถั่วเมล็ดแห้ง ส่วนน้ำมันปลาหรือโอเมก้า – 3 และโอเมก้า – 6 ซึ่งเป็นกรดไขมันที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ จึงจำเป็นต้องรับประทานจากอาหาร กรดไขมันเหล่านี้มีในพืช เช่น น้ำมันจากถั่ว น้ำมันจากข้าวโพด ฯลฯ สังเกตง่ายๆ น้ำมันที่เอาไปแช่ตู้เย็นแล้วไม่แข็งเป็นก้อน
รองลงมา ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต วิตามิน และเกลือแร่ เซลล์ประสาทและเยื่อหุ้มประสาทจะทำงานได้ก็ต้องการคาร์โบไฮเดรตเพื่อเป็นพลังงาน และต้องการวิตามินและแร่ธาตุให้ระบบสมองทำงานได้
อ่านต่อ “สมองดีสร้างได้ดูที่สิ่งแวดล้อม” คลิกหน้า 3
สมองดีสร้างได้ ดูที่สิ่งแวดล้อม
สิ่งแวดล้อมส่งผลถึงสมองของลูกน้อยตั้งแต่ในท้องคุณแม่ ซึ่งมีงานวิจัยยืนยันว่า คุณแม่ที่เครียดระหว่างตั้งครรภ์จะส่งผลถึงสมองของลูกน้อยโดยตรง
งานวิจัยซึ่งได้รับรางวัลของนายแพทย์เดวิด เจมส์ ปาร์คเกอร์ คุณหมอพบว่า แม่ที่เครียดระหว่างตั้งครรภ์ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูง เมื่อเครียดจะมีฮอร์โมนชื่อ “คอร์ติซอล” ที่หลั่งออกมาจากสมอง ทำให้ร่างกายปล่อยแป้งจากตับออกมาเป็นน้ำตาล ทำให้น้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลถึงลูกน้อยในท้อง เช่น ลูกเกิดมาเป็นเบาหวาน โรคภูมิคุ้มกัน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง แม้แต่มะเร็งก็เป็นได้
ซึ่งในปัจจุบันมีงานศึกษาพบว่า เด็กที่เกิดใหม่จากคุณแม่ที่เครียดระหว่างตั้งครรภ์ โดยเฉพาะ 6 – 9 เดือนก่อนคลอด มีโอกาสเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นโรคสมาธิสั้น หรือออทิสติก
แม่น้องเล็กหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คุณพ่อ คุณแม่จะได้รับความรู้ แล้วนำไปพัฒนาศักยภาพสมองให้ลูกน้อย ให้เป็นคนเก่ง คนดีที่คุณพ่อ คุณแม่ภาคภูมิใจนะคะ
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม คลิก!
6 ปัจจัยสำคัญ ช่วยพัฒนาสมอง ทำให้ลูกฉลาด
พัฒนาสมองซีกซ้าย สมองซีกขวา ให้ลูกน้อย
6 อาหารธรรมชาติ ช่วยพัฒนาสมองและการมองเห็นให้ลูก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่