Dr.เช้าตรู่ (นพ.ปัญญา ศักดิ์สง่าวงษ์ สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยาก และผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช) ได้ให้ความรู้เรื่องฝาแฝด เอาไว้ดังนี้
เด็กฝาแฝดที่ฝ่าวิกฤติภาวะแทรกซ้อนต่างๆ มาได้ตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ถือว่าเป็นปาฏิหาริย์ เพราะการตั้งครรภ์แบบนี้คือ “แฝดแท้” ที่เกิดมาจากไข่ และอสุจิตัวเดียวกัน จากนั้นแบ่งออกเป็นเด็ก 3 คน
เด็กทั้ง 3 คน อาศัยในถุงน้ำคร่ำเดียวกัน แต่ละคนมีสายสะดือคนละเส้น ภาวะแทรกซ้อนที่น่ากังวลมากที่สุดคือ สายสะดือพันกันเป็นปมแน่น ทำให้ยากต่อการลำเลียงอาหาร และออกซิเจน ซึ่งมีโอกาสทำให้เด็กเสียชีวิต หรือถ้าสายสะดือเกิดไปรัดอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย อาจทำให้พิการผิดรูปได้
ซึ่งยังไม่รวมภาวะอื่นๆ เช่น คลอดก่อนกำหนด เบาหวาน ความดัน ครรภ์เป็นพิษ และอื่นๆ อีกมากมาย คุณหมอได้มีโอกาสเจอเหตุการณ์ที่มีความผิดหวังบ่อยครั้ง จึงทราบดีว่าการมีลูกแฝดที่ปลอดภัยแข็งแรงยากแค่ไหน เพราะโอกาสมีเพียง 50% แต่คนอื่นมองแค่ตัวอย่างผู้ที่มีความสำเร็จเท่านั้น ทำให้รู้สึกอยากได้ลูกแฝด และไม่รู้ถึงความน่ากลัวของการตั้งครรภ์ฝาแฝดดีพอ
ถึงแม้การตั้งครรภ์แฝดแท้จะกำหนดเองไม่ได้ แต่แฝดเทียมสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จากการแก้ปัญหาการมีลูกยาก ดังนี้
1.การกระตุ้นไข่ให้ไข่ตกมากกว่า 1 ใบ และฉีดน้ำเชื้อ
2.การทำเด็กหลอดแก้ว แล้วย้ายตัวอ่อนกลับมากกว่า 1 ตัว
2 วิธีนี้ทำให้มีโอกาสเกิดตัวอ่อนมากกว่า 1 ตัว โดยที่ตัวอ่อนแต่ละตัวมาจากไข่และอสุจิคนละตัว เรียกว่า “แฝดเทียม” เมื่อเรารู้ว่าการตั้งครรภ์แฝดอันตราย ก็ไม่คุ้มเลยที่จะเสี่ยง วิธีการอะไรที่ป้องกันไม่ให้ตั้งครรภ์แฝดก็ควรทำ ถึงแม้ว่าแฝดแท้จะป้องกันไม่ได้ แต่แฝดเทียมสามารถทำได้ด้วยการเลือกย้ายตัวอ่อนที่ดีเพียงตัวเดียว
เครดิต: VoiceTV, Dr.เช้าตรู่ (นพ.ปัญญา ศักดิ์สง่าวงษ์ สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยาก และ ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช)