ลูกดิ้น …การดิ้นของทารกในครรภ์เป็นความรู้สึกที่แสนวิเศษยิ่งของผู้เป็นแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ทั้งหลาย ครั้งแรกที่คุณรู้สึกถึงการเตะของเจ้าตัวน้อย ความรู้สึกนั้นคงยากที่จะอธิบาย ยิ่งหากคิดไปว่ามีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ดิ้นดุ๊กดิ๊กๆ และค่อยๆ เติบโตอยู่ในครรภ์ของคุณ มันคงเป็นสิ่งที่ยากจะบรรยายเลยใช่ไหมล่ะคะ…
ลูกดิ้น หรือทำอะไรบ้าง ตอนอยู่ในท้องแม่? (มีคลิป)
แล้วลูกน้อยในท้องจะเริ่มดิ้นได้ตั้งแต่เมื่อไหร่? ก็เป็นอีกเรื่องที่แม่มือใหม่เฝ้ารอ ซึ่งถ้าเราใช้เครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงหรือเครื่องอัลตราซาวด์ตรวจ ก็จะพบว่าลูกน้อยเริ่มมีการขยับตัวในอายุครรภ์ประมาณ 6 – 7 สัปดาห์ ซึ่งอายุครรภ์ขนาดนี้ทารกจะยังเป็นเพียงตัวอ่อนและสร้างอวัยวะเสร็จสิ้นหลังสัปดาห์ที่ 12 ซึ่งจะสามารถขยับตัวได้แล้วแต่ก็เบามากจนคุณแม่แทบไม่รู้สึก จะถีบแขนขาไปทางไหนก็ยังไม่ชนกับผนังหน้าท้องของคุณแม่
แต่หลังจากตั้งครรภ์เข้าสู่ช่วงปลายเดือนที่ 4 ไปแล้วคุณแม่บางคนอาจจะรู้สึกเหมือนโดนปลาตอด ซึ่งแม่ท้องแต่ละคนจะมีความรู้สึกว่าลูกดิ้นช้าหรือดิ้นเร็วแตกต่างกัน สำหรับคุณแม่ท้องแรกจะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้น ประมาณสัปดาห์ที่ 18-20 ส่วนคุณแม่ท้องหลังๆ อาจจะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นประมาณสัปดาห์ที่ 16-18 เป็นต้นไป
รูปร่างของคุณแม่ตั้งครรภ์ก็มีส่วนในการดิ้นของลูก คุณแม่ที่มีร่างกายผอมบาง หน้าท้องไม่ใหญ่ ไม่หนา มดลูกจะลอยไปสัมผัสที่หน้าท้องได้เร็วกว่าจึงทำให้คุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นได้เร็วกว่าคุณแม่ที่อ้วน สะโพกใหญ่ หน้าท้องหนา.. ยิ่งคุณแม่ตั้งครรภ์ตัวใหญ่ ตัวหนาก็จะยิ่งทำให้รู้สึกว่าลูกดิ้นได้ช้ากว่านั้นเองค่ะ
ลักษณะการดิ้นของลูกจะเปลี่ยนไปตามอายุครรภ์ค่ะ ซึ่งการดิ้นตามความรู้สึกของแม่อาจจะแบ่งได้เป็น 3-4 อย่างใหญ่ๆ ดังนี้ค่ะ
- การดิ้นเบาๆ เคลื่อนตัวที่ละนิด เล็กๆน้อยๆ รู้สึกเหมือนมีอะไรเต้นตุ๊บ ๆ เบา หรือเหมือนมีคลื่นเบา ๆ ในท้อง บางท่านอาจแยกไม่ออกจากการเคลื่อนตัวของลำไส้
- การดิ้นแรงๆ หรือการเตะ หรือการเคลื่อนไหวแบบกระตุก ย่างเข้าไตรมาสที่ 3 ลูกจะดิ้นแรงขึ้น อาจรู้สึกถึงการถีบตัว และขยับตัวอย่างต่อเนื่อง สลับกับการหยุดดิ้นเป็นพัก ๆ ทั้งนี้ เนื่องจากทารกหลับนั่นเอง
- การเคลื่อนแบบเป็นคลื่น เมื่อใกล้จะคลอด คุณแม่จะรู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลง ลักษณะการดิ้นจะเป็นการโก่งตัว ยืดตัว จนบางครั้งคุณแม่ที่ หน้าท้องบาง อาจจะสังเกตเห็นท้องโย้ไปด้านใดด้านหนึ่ง หรือบางครั้งอาจรู้สึกจุกเมื่อลุกดิ้น หรือเหยียดตัวมากดบริเวณใต้กระบังลมค่ะ
- การกระตุกเป็นจังหวะหรือการสะอึก ช่วงใกล้คลอดคุณแม่จะรู้สึกว่ามีการเคลื่อนไหวเบา ๆ เป็นจังหวะ
หากอยากเห็นภาพชัดเจนมาขึ้นเราลองไปดูคลิปวีดีโอนี้กันค่ะ กับภาพถ่ายการอัลตร้าซาวน์ซึ่งตรงกับจังหวะที่ลูกในท้องของคุณกำลังดิ้น จะมีท่าทางอย่างไรบ้างไปชมกันเลย
ขอบคุณคลิปวีดีโอจาก : israel shapiro
อ่านต่อ >> “ลูกน้อยทำอะไรบ้างในแต่ละอายุครรภ์” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
และจากการอัลตร้าซาวน์ก็ทำให้คุณแม่สามารถมองเห็นและได้รู้ว่า ในแต่ละอายุครรภ์ การเคลื่อนไหวของลูกน้อยมีพัฒนาการไปอย่างไรบ้าง ว่าแล้วก็ไปดูกันเลย
- อายุครรภ์ 7-8 สัปดาห์ ลูกน้อยเริ่มหมุนตัวไปมา เช่น งอตัวไปด้านข้าง และมีอาการผวา ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติ ไม่ได้เป็นเพราะลูกน้อยหวาดกลัวหรือตกใจแต่อย่างใด
- อายุครรภ์ประมาณ 9 สัปดาห์ เจ้าตัวน้อยเริ่มขยับแขนขาน้อยๆ รวมทั้งยังเริ่มที่จะดูดนิ้วและฝึกหัดการกลืนอีกด้วย
- อายุครรภ์ประมาณ 10 สัปดาห์ สามารถขยับศีรษะ ยกมือขึ้นมาสัมผัสใบหน้าตนเอง อ้าขากรรไกร รวมทั้งยังยืดเหยียดลำตัวได้ด้วย
- อายุครรภ์ประมาณ 12 สัปดาห์ ในช่วงนี้หนูน้อยไม่เพียงยืดเหยียดลำตัวบิดขี้เกียจ แต่ยังสามารถหาวไปพร้อมๆ กันได้ด้วย
- อายุครรภ์ประมาณ 14 สัปดาห์ลูกน้อยสามารถขยับลูกตาได้แล้ว
- หลังจาก 15 สัปดาห์เป็นต้นไป การเคลื่อนไหวของเจ้าตัวน้อยแรงขึ้นจนคุณแม่สัมผัสได้ ในช่วงแรกๆ อาจรู้สึกเหมือนมีปลาตัวน้อยตอดอยู่ในท้อง พอเข้าสู่ช่วงท้ายของไตรมาสที่สอง คุณจะเริ่มรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวร่างกายของลูก เตะ ต่อย พลิกตัว หรือกระทั่งสะอึก
- และยิ่งอายุครรภ์มากขึ้นเท่าไร เจ้าตัวน้อยก็จะใช้เวลาไปกับการนอนหลับพักผ่อนมากขึ้น ประมาณครั้งละ 20 นาที หรือหนูน้อยบางรายอาจนอนหลับนานถึงครั้งละ 50 – 75 นาที เลยทีเดียว
อย่างไรก็แล้วแต่ การดิ้นของทารกในครรภ์ จะบ่งบอกถึงสุขภาพที่แข็งแรงของลูกได้ แต่หากสังเกตว่าการที่ลูกดิ้นน้อยลงเป็นสิ่งที่ต้องระวัง เพราะมักเกิดร่วมกับภาวะขาดออกซิเจนเรื้อรัง และอยู่ในภาวะที่อันตราย โดยพบว่าลูกจะดิ้นน้อยลง หรือหยุดดิ้น 12-24 ชั่วโมงก่อนที่จะเสียชีวิต การนับลูกดิ้นจึงเป็นวิธีง่ายๆ ที่คุณแม่สามารถใช้ในการดูแลสุขภาพของทารกในครรภ์ อ่านต่อ >> วิธีการนับลูกดิ้น คลิกเลย!
ทั้งนี้ทั้งนั้นการดิ้นของลูกจะตอบสนองต่ออารมณ์ของแม่ และการกระตุ้นทางกายภาพด้วยเสียง แสง รวมถึงการสัมผัส จะช่วยทำให้ทารกในครรภ์มีการเคลื่อนไหวและมีอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น คุณพ่อคุณแม่อาจพูดคุยกับลูกในท้องด้วยคำพูดไพเราะ เล่นกับลูกเพื่อให้ลูกเกิดความคุ้นเคย โดยการพูดย้ำคำย้ำประโยคเพื่อลูกให้เกิดการเคยชินกับเสียง และอาจลูบท้องของคุณแม่หรือตบเบา ๆ ตรงตำแหน่งที่ลูกดิ้น ซึ่งวิธีนี้ก็จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อยและเพิ่มความสัมพันธ์กับลูกน้อยได้ตั้งแต่ยังอยู่ในท้องแม่ค่ะ
อ่านต่อ “บทความน่าสนใจ”คลิก!
- 10 วิธีกระตุ้นให้ลูกดิ้น ต้องเล่นกับลูกในท้อง
- ลูกดิ้น ลูกสะอึก มีความต่างกันอย่างไร?
- เครื่อง MRI เอ็มอาร์ไอ สแกนดูทารกในครรภ์แนวใหม่ เห็นชัดเว่อร์!
อ้างอิงจาก : www.enfababy.com , www.siamhealth.net