AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

แจก ตารางจดบันทึกลูกดิ้น พร้อมวิธีนับลูกดิ้น เพื่อความปลอดภัยของลูกในท้อง

ตารางจดบันทึกลูกดิ้น

แจกฟรี! แบบฟอร์ม ตารางจดบันทึกลูกดิ้น ..หากคุณแม่ท้องอยากรู้ว่าลูกในท้องยังแข็งแรงดีอยู่หรือไม่ ต้องรู้ วิธีนับลูกดิ้น พร้อมจดบันทึก การดิ้นของลูก ทุกครั้ง เพื่อจะได้รู้ว่าลูกในท้องยังปลอดภัยดี!

ตารางจดบันทึกลูกดิ้น พร้อมวิธีนับลูกดิ้น
เพื่อความปลอดภัยของลูกในท้อง

ลูกดิ้นดี…มีชัยไปกว่าครึ่ง!

ทารกสามารถดิ้นได้ตั้งแต่อายุ 8 สัปดาห์ หรือเทียบเท่าผลองุ่น 1 ลูก แต่กว่าคุณแม่จะรู้สึกว่า ลูกดิ้น นั้นก็เป็นช่วงไตรมาสที่ 2 แล้ว โดยในท้องแรกอาจจะรู้สึกถึงการดิ้นของลูกน้อยในท้องได้ เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 18 – 20 สัปดาห์ แต่ถ้าในการตั้งครรภ์ท้องต่อๆ มาจะรู้สึกได้เร็วกว่า คือตั้งแต่อายุครรภ์ 16-18 สัปดาห์ เพราะคุณแม่มีประสบการณ์เคยสัมผัสลูกดิ้นมาก่อนนั่นเอง หรืออาจขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น คุณแม่หน้าท้องหนา เป็นต้น แต่ถ้าเมื่อไหร่ 25 สัปดาห์แล้วยังสัมผัสไม่ได้ว่าลูกดิ้น แนะนำให้คุณแม่ไปพบสูติแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียดค่ะ

ลูกน้อยขณะอยู่ในท้อง

ซึ่งทางการแพทย์ก็ได้มีงานวิจัยโดยการทำอัลตราซาวน์พบว่า… การดิ้นของลูกน้อยในครรภ์ เกิดจากหลายอิริยาบถ เช่น ก้ม โค้ง สะอึก หมุนตัว หายใจ กำมือ ยืดแขน ยืดขา เตะ กระตุก พยักหน้า หาว ดูดนิ้ว แลบลิ้น ฯลฯ แต่การตอดต่อเนื่องยาวๆ ไม่นับว่าเป็นการดิ้น  ซึ่งการดิ้นที่คุณแม่มักรู้สึกได้คือ การเคลื่อนไหวของแขนขา และลำตัวของลูกน้อย โดยหากลูกกำลังเคลื่อนไหวแขนขา คุณแม่จะรู้สึกว่าลูกดิ้น ร้อยละ 50 ของการดิ้นจริง แต่หากลูกเคลื่อนไหวแขนขาและลำตัวพร้อมกัน คุณแม่จะรู้สึกว่าลูกดิ้น ร้อยละ 38-80 ของการดิ้นจริง ซึ่งลูกจะเคลื่อนไหวทั้งวันในช่วงที่ตื่นและจะเคลื่อนไหวมากที่สุดในช่วงกลางคืน

ทำไมลูกถึงดิ้น

เมื่อเวลาผ่านไปลูกก็จะเจริญเติบโตขึ้น มีการงอ และยืดแขนขาทำให้คุณแม่รู้สึกว่า ลูกถีบ ศอก หรือพลิกตัว เมื่อคุณแม่ตกใจลูกก็จะดิ้นตามอารมณ์หรือเสียงที่ดัง เมื่อคุณขยับ และลูกอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สบายลูกก็จะขยับตัว การรับประทานอาหารบางประเภทจะทำให้ลูกดิ้นมากขึ้น เมื่อคุณหลับคุณก็จะรู้สึกว่าลูกหลับด้วย

Good to know : ลูกน้อยในครรภ์จะมีช่วงหลับและตื่นไม่ตรงกันกับคุณแม่ ช่วงระยะเวลานอนหลับของลูกน้อยในครรภ์ ต่อรอบนาน 20 นาที ถึง 2 ชั่วโมง นอกจากนี้แล้วลูกน้อยในครรภ์ยังมีการดิ้นในแต่ละช่วงเวลาของวันไม่เท่ากัน โดยพบว่าจะดิ้นมากระหว่าง เวลา 21.00-01.00 น. และจะดิ้นมากเมื่อมารดารับประทานอาหารเสร็จใหม่ๆ

 อ่านต่อ >> วิธีการนับลูกดิ้นเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยในท้อง” คลิกหน้า 2

 

ลักษณะการดิ้นของลูกน้อยในครรภ์

การดิ้นของทารกในครรภ์ซึ่งจะหมายถึง การเตะ (Kick) การยืดหรือบิดตัว หรือจากที่กล่าวมาข้างต้น แต่การสะอึกของทารกในครรภ์ (hiccups) เป็นการเคลื่อนไหวแบบหนึ่งที่ดูเหมือนการดิ้น แต่ไม่นับว่าเป็นลูกดิ้น ถือเป็นการเคลื่อนไหวแบบกระตุก เป็นจังหวะที่สม่ำเสมอ ระยะห่างประมาณ 1 วินาทีจนบางครั้งคิดว่าเป็นการเต้นของหัวใจ

ทั้งนี้ถ้าลูกดิ้นติดกันเป็นชุด ให้ถือเป็น 1 ครั้ง ซึ่งเด็กแต่ละคนจะดิ้นไม่เหมือนกัน โดยคุณแม่อาจเห็นหรือรู้สึกได้ว่าเจ้าตัวเล็กของเรานั้นมีท่าดิ้นประจำตัวอยู่ บางคนชอบโก่งตัวไปด้านซ้าย บางคนด้านขวา

โดยองค์ประกอบที่มีผลต่อการดิ้นของทารกในครรภ์ ได้แก่ ปริมาณน้ำคร่ำ ระดับกลูโคสในเลือดคุณแม่ อาหารที่คุณแม่กินเข้าไป รวมทั้งสิ่งภายนอกที่มากระตุ้น เช่น แสง เสียง เป็นต้น

ภาพการดิ้นของลูกน้อยในครรภ์ Cr. pic : imgur.com/gallery/kjq0RaB

 

ความสำคัญของการนับลูกดิ้นในครรภ์

การที่ลูกน้อยในครรภ์ดิ้นน้อยลง มักเกิดร่วมกับภาวะขาดออกซิเจนจนเรื้อรัง และอยู่ในภาวะอันตราย โดยลูกทารกในครรภ์ที่ดิ้นน้อยลงหรือหยุดดิ้นจะพบเป็นเวลาประมาณ 12-48 ชั่วโมง ก่อนที่จะเสียชีวิต ดังนั้นใช้ ตารางจดบันทึกลูกดิ้น หรือ การนับลูกดิ้น จะช่วยในการตรวจค้นคว้า และแก้ไขภาวะที่อาจทำให้ลูกน้อยเสียชีวิตในครรภ์ ทั้งนี้หากคุณแม่รู้สึกว่าลูกน้อยในครรภ์ดิ้นน้อยลง ก็นับว่าเป็นสัญญาณอันตราย ต้องรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไปว่าลูกน้อยในครรภ์ของเรามีสุขภาพที่ไม่ดีจริงหรือไม่

การนับลูกดิ้น

ควรเริ่มที่อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ หรือประมาณ 7 เดือน และนับต่อเนื่องไปจนกระทั่งถึงกำหนดคลอด ทั้งนี้การนับลูกดิ้นในช่วงอายุครรภ์น้อยนั้น  จะแปรผลยาก เนื่องจากการดิ้นของทารกยังไม่สม่ำเสมอ บางวันก็ดิ้นมาก บางวันก็ดิ้นน้อย การแปลผลและตัดสินใจจากผลการนับลูกดิ้นนั้นลำบาก จึงแนะนำให้เริ่มนับลูกดิ้นและจดบันทึกตามข้อแนะนำข้างต้นเมื่อลูกเริ่มมีการดิ้นสม่ำเสมอคือเมื่ออายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป

ตารางจดบันทึกลูกดิ้น พร้อมวิธีนับลูกดิ้น เพื่อความปลอดภัยของลูกในท้อง

ข้อแนะนำในการนับ และใช้ ตารางจดบันทึกลูกดิ้น

 คลิกหน้า 3 เพื่อดู ตารางบันทึกลูกดิ้น

 

วิธีนับลูกดิ้น

 

ตัวอย่างบันทึกลูกดิ้น ที่ “ปกติ”

ภาพตัวอย่าง ตารางจดบันทึกลูกดิ้น ซึ่ง บันทึกนี้ แปลว่า ลูกดิ้นเป็นปกติ

 

แบบฟอร์มการนับลูกดิ้น ตารางจดบันทึกลูกดิ้น

แบบฟอร์มการนับลูกดิ้น ตารางจดบันทึกลูกดิ้น

คลิกที่นี่! เพื่อดาวน์โหลด ตารางบันทึกลูกดิ้น

 

ทั้งนี้ การบันทึกลูกดิ้นในสมุดสีชมพู หรือ สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก ที่ได้ตอนฝากครรภ์ ก็มีตารางจดบันทึกลูกดิ้น ให้คุณแม่ใช้ได้เหมือนกัน หรือเพื่อทันเข้ากับคุณแม่ยุค 4.0 ก็มี แอพพลิเคชั่นนับลูกดิ้น ที่คุณแม่สามารถดาวน์โหลดลงโทรศัพท์มือถือไว้เพื่อ นับการดิ้นของลูก ก็จะสะดวกได้อีกทางหนึ่ง

 

ระบบ Android คลิกดาวน์โหลดแอพ ที่นี่ >> Kickme – Baby Kicks Counter

 

ระบบ iOS คลิกดาวน์โหลดแอพ ที่นี่ >> การนับจำนวนการดิ้นของทารก

 

และจาก ตารางจดบันทึกลูกดิ้น ถ้าหากครบ 12 ชั่วโมง แล้วลูกยังดิ้นไม่ครบ 10 ครั้ง ให้คุณแม่รีบไปพบคุณหมอ โดยคุณหมออาจจะใช้เครื่องฟังเสียง ฟังเสียงหัวใจหรือตรวจอัลตราซาวนด์ หรือใช้เครื่องตรวจสภาพของลูกน้อยในครรภ์ เพื่อดูว่าผิดปกติหรือไม่ต่อไป

 

อย่างไรก็ดี การดิ้นของลูก ในครรภ์เป็นสิ่งสำคัญที่บ่งบอกว่า ลูกน้อยมีชีวิตปกติดี ในทางตรงกันข้าม ถ้าลูกไม่ดิ้นหรือดิ้นน้อยลง อาจเป็นสัญญาณว่าลูกน้อยในครรภ์อาจกำลังตกอยู่ในอันตราย โดยเฉพาะเมื่อใกล้ครบกำหนดคลอด  ถ้าลูกดิ้นน้อยหรือดิ้นห่างลงไปเรื่อยๆ หรือหยุดดิ้น ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับลูก ซึ่งบางทีอาจร้ายแรงมากจนลูกเสียชีวิตได้ ซึ่งถ้าไม่มีเวลาแต่คุณแม่อยากทราบว่าลูกดิ้นเป็นปกติหรือไม่ ก็ควรสังเกตและนับจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นต่อวันแบบคร่าวๆ ได้

อ่านต่อบทความน่าสนใจอื่นๆ คลิก :


ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.sikarin.com , topicstock.pantip.com

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids