AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

แม่ตัวเล็กแต่ท้องลูกแฝด เสี่ยงอะไรบ้าง?

Q: เป็นคนตัวเล็กค่ะ สูง 155 น้ำหนัก 39-40 ไม่เคยเกินไปมากกว่านี้ ตอนนี้กำลังตั้งครรภ์ลูกแฝด อยากทราบว่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่าคนทั่วไปไหมคะ เพราะตอนนี้แพ้ท้องหนักมาก และเริ่มมีอาการเท้าบวมด้วยค่ะ

คุณแม่ที่ตัวเล็ก คือมีน้ำหนักก่อนตั้งครรภ์ คิดดัชนีมวลกาย* (BMI) น้อยกว่า 20 กิโลกรัม/เมตร2 ถิอว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่จะมีลูกตัวเล็กกว่าคนทั่วไป 2 เท่า คำว่าลูกตัวเล็กอาจจะเกิดจากการที่คุณแม่ตัวเล็กกว่าเกณฑ์ มีการคลอดก่อนกำหนด หรือลูกได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เกิดภาวะเจริญเติบโตช้าในครรภ์ จึงทำให้ตัวเล็ก

ดังนั้นกรณีที่คุณแม่ตัวเล็กมีการตั้งครรภ์ลูกแฝด จะต้องเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนมากกว่าคนทั่วไป เช่น การคลอดก่อนกำหนด หรือภาวะเจริญเติบโตช้าในครรภ์ จนทำให้ลูกตัวเล็กกว่าเกณฑ์ปกติมากขึ้น

คำแนะนำของหมอคือ ช่วงที่มีอาการแพ้ท้อง คุณแม่ต้องหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดที่ทำให้แพ้ท้องหนักขึ้น เช่น ของทอด ของมัน ควรกินอาหารมื้อเล็กๆ แต่บ่อยๆ แบ่งเป็น 4-5 มื้อต่อวัน ดื่มน้ำอุ่น กินผักและผลไม้มากขึ้น อาจจะกินของหวานนิดหน่อย เช่น คุกกี้ แก้คลื่นไส้อาเจียน

จากนั้นพอหายจากอาการแพ้ท้อง เข้าเดือนที่ 3-4 ก็ควรกินอาหารที่มีโปรตีนสูง ง่ายที่สุด คือกินไข่ทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1-2 ฟอง อาหารทะเลอย่างน้อย อาทิตย์ละ 2 ครั้ง ทำน้ำหนักให้เพิ่มอย่างน้อยเดือนละ 2 กิโลกรัม หลังตั้งครรภ์ครบ 7 เดือน เตรียมหยุดงาน นอนพักผ่อนอยู่กับบ้าน เพื่อป้องกันภาวะที่มดลูกจะบีบตัว ทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด ส่วนเรื่องขาบวม ต้องแยกว่าเป็นภาวะบวมจากการไหลเวียนเลือดไม่สะดวกของคนท้อง ซึ่งไม่อันตราย หรือภาวะขาบวมร่วมกับครรภ์เป็นพิษ ทางที่ดีควรปรึกษาสูติแพทย์ประจำค่ะ

* ค่าดัชนีมวลกาย คำนวณได้จาก น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง เช่น น้ำหนัก 50 กิโลกรัม ส่วนสูง 162 เซนติเมตร (= 1.62 เมตร) จะได้ 50/(1.62)2 = 50/2.6244 = 19.05 กิโลกรัม/เมตร2

 

จากคอลัมน์ Pregnancy Q&A นิตยสารเรียลพาเรนติ้ง ฉบับเดือนกันยายน 2558

บทความโดย : นาวาตรี พญ. ณัฐยา รัชตะวรรณ สูตินรีแพทย์ประจำศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์

ภาพ : Shutterstock