AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ผื่นแพ้ PUPPP ในแม่ท้องคืออะไร?

ผื่นแพ้ PUPPP คืออะไร ปกติหรือไม่ที่แม่ท้องจะเป็น หมอแนะ! 8 วิธีแม่ท้องต้องทำป้องกันผื่นคันรุนแรง

 

 

คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ทุกท่านคะ มีหลายเรื่องหลายอย่างเลยใช่ไหมละคะที่เราควรจะต้องระวังและดูแลตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน การดูแลตัวเองให้ดีในแต่ละช่วงไตรมาส รวมไปถึงการดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์ แต่ก็มีอาการหนึ่งค่ะ ที่คุณแม่ท้องหลาย ๆ ท่านประสบและเกิดข้อสงสัยว่า ทั้ง ๆ ที่เราดูแลตัวเองดีแล้ว แต่ทำไมถึงยังเป็นอยู่ ซึ่งอาการที่ทีมงาน Amarin Baby and Kids จะมาพูดถึงในวันนี้ก็คือ อาการ ผื่นแพ้ PUPPP ในขณะตั้งครรภ์นั่นเอง

ผื่นแพ้ PUPPP คืออะไร?

คำว่า PUPPP นั้นย่อมาจากคำว่า Pruritic Urticarial Papules and Plaques of Pregnancy ซึ่งมาความหมายว่า ผื่นลมพิษที่เกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์นั่นเองค่ะ แล้วเจ้าผื่นลมพิษที่ว่านี้นั้นจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับลมพิษ มีอาการคันรุนแรงมากถึงมากที่สุด จนทำให้คุณแม่บางท่านไม่สามารถนอนหลับได้เลย


มีคำถามหนึ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์หลาย ๆ ท่านมักสงสัยเกี่ยวกับเจ้า ผื่นแพ้ PUPPP นั่นก็คือ

“ผื่นนี้จะเป็นอันตรายหรือไม่ แล้วจะส่งผลกระทบอะไรถึงทารกในครรภ์ได้หรือเปล่า”  ด้าน นาวาตรีแพทย์หญิง ณัฐยา รัชตะวรรณ สูตินรีแพทย์ประจำศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ได้ให้คำตอบว่า

“ผื่นแพ้ PUPPP ที่ว่านี้ มีลักษณะเป็นผื่นแดง หรือเป็นปื้นหนาๆ บางครั้งอาจขึ้นเป็นตุ่ม ๆ ทำให้เกิดความรู้สึกคัน  มักพบในช่วงปลาย ๆ ของไตรมาสที่ 3 อาการดังกล่าวไม่ได้มีอันตรายใด ๆ กับคุณแม่หรือทารกในครรภ์เลยค่ะ อย่างมากก็ทำให้รู้สึกเกิดความรำคาญมากกว่า หากคันมากจนทนไม่ไหว แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาค่ะ คุณหมอก็อาจจะต้องให้เพื่อรักษาไปตามอาการ หรืออาจจะเป็นยาแก้แพ้มาทาน และเพื่อความปลอดภัยของทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ ไม่แนะนำให้ซื้อยามารับประทานเองนะคะ  ไปพบแพทย์จะดีที่สุดค่ะ”

เครดิตภาพ: Disease Pictures

ผื่น PUPPP มักจะเริ่มเกิดขึ้นบริเวณท้องก่อนค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ท้องเกิดการแตกลาย จากนั้นผื่นก็จะเริ่มลามไปยังบริเวณแขนขา ก้น เท้า คอ หรือเต้านม และมักจะเกิดขึ้นกับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แรกที่มีอายุครรภ์ในสัปดาห์ที่ 35 ค่ะ จะเป็นอยู่เช่นนั้นประมาณ 6 สัปดาห์ และจะดีขึ้นเองหลังจากที่คลอดลูกแล้วประมาณ 1-2 สัปดาห์ คุณแม่บางท่านเป็นแค่สัปดาห์เดียวก็หาย ถ้าเป็นเช่นนั้นถือว่าโชคดีมาก ๆ เลยละค่ะ

สาเหตุของการเกิดผื่นแพ้ PUPPP 

ไม่มีสาเหตุแน่ชัดว่า ผื่นแพ้ PUPPP นั้นเกิดจากอะไรค่ะ แต่คาดว่าสาเหตุที่เกิดนั้นเกิดจากผนังหน้าท้องของคุณแม่นั้นมีขนาดใหญ่ขึ้น ผิวหนังขยายมาก ๆ จนทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อชั้นใต้ดินในผิวหนัง ซึ่งก็จะกระตุ้นทำให้เกิดการอักเสบที่ชั้นผิวหนังนั่นเอง จึงมักที่จะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสสาม หรือคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝดมากกว่าค่ะ

จากการอักเสบนั้นทำให้เกิดเป็นผื่นคันตามมา นอกเหนือจากการที่หน้าท้องขยายใหญ่ขึ้นแล้วนั้น ยังพบอีกว่า สารพันธุกรรมของลูกในท้องที่เป็นเพศชายก็มีส่วนเช่นเดียวกันค่ะ เพราะมีการรายงานว่า ร้อยละ 70 ของการตั้งครรภ์ที่คุณแม่เป็นผื่นแพ้ PUPPP นั้นมักเป็นลูกชาย

สำหรับการรักษานั้น จะเน้นเป็นการรักษาตามอาการค่ะ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณแม่เกิดอาการคัน ก็จะเป็นการใช้ยาคาลาไมน์ หรือยาทาที่เป็น กลุ่มของยาสเตียรอยด์หรืออาจจะเป็นโลชั่นที่ช่วยทำให้ผิวหนังของคุณแม่ชุ่มชื้นขึ้น ส่วนยาที่จะใช้รับประทานนั้นก็จะเป็นกลุ่มของยาแก้คันที่รู้จักกันในชื่อ คลอเฟน หรือที่คุณแม่เรียกกันว่า CPM รวมถึง Zyrtec นั่นเอง

8 วิธีปฏิบัติป้องกันผื่นคัน

สำหรับวิธีป้องการเกิดผื่นคันนั้น แนะนำให้คุณแม่ปฏิบัติตาม 8 ข้อดังนี้ค่ะ

  1. อย่าสวมใส่เสื้อผ้าที่คับจนเกินไป ให้สวมใสแต่เสื้อผ้าที่สบาย บางเบา และสามารถซับเหงื่อได้ดี เน้นโทนสีที่อ่อน
  2. พยายามไม่ถูสบู่ยังบริเวณที่เป็นผื่นคัน รวมถึงพยายามหลีกเลี่ยงการอาบน้ำด้วยน้ำอุ่นนะคะ เพราะอาจจะยิ่งทำให้บริเวณนั้นแห้ง และคันมากขึ้น
  3. ดื่มน้ำเยอะ ๆ ให้ได้อย่างน้อยวันละ 8 – 10 แก้ว
  4. หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางหรือครีมที่ทำให้ตัวเหนียว พยายามล้างหน้าและอาบน้ำบ่อย ๆ เพื่อให้ผิวได้หายใจ ต่อมเหงื่อก็จะไม่อุดตันค่ะ
  5. อย่าใส่เสื้อผ้าที่หมักหมม และต้องสวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาดทุกวัน เพราะอาจก่อให้เกิดเชื้อราหรือแบคทีเรียได้
  6. หมั่นสระผมให้สะอาดเป็นประจำทุกวัน หรือจะตัดผมสั้นเพื่อที่สามารถดูแลได้ง่ายก็ได้นะคะ
  7. พยายามหลีกเลี่ยงแสงแดด หรืออยู่ในสถานที่อับชื้น เพราะอาจจะยิ่งทำให้เกิดผดผื่นขึ้นตามตัวได้ง่ายขึ้น
  8. หลีกเลี่ยงการใช้น้ำหอม เพราะอาจส่งผลให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวคุณแม่ได้

นอกเหนือจากนี้ เครื่องประดับบางชนิดก็มีส่วนด้วยเช่นกันนะคะ ดังนั้น พยายามหลีกเลี่ยงการใส่สร้อมคอ กำไล ตุ้มหู และสร้อยข้อมือก่อนค่ะ หากหายดีแล้ว ค่อยใส่ก็ไม่มีใครว่านะคะ

ขอบคุณที่มา: Wikipedia, Health Line และโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์

อ่านต่อบทความอื่นที่น่าสนใจ:

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids