ปัจจุบันมีการเจ็บครรภ์ คลอดก่อนกำหนด เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญทางสูติศาสตร์ก่อให้เกิดภาวะทุพพลภาพและการตายของทารกได้ถึงร้อยละ 75
การตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ เราจะเรียกว่าครบกำหนดที่ 38-41 สัปดาห์ คือประมาณ 9 เดือนโดยเฉลี่ย หากคลอดก่อน 37 สัปดาห์ ทางการแพทย์ถือว่าคลอดก่อนกำหนด ทารกที่คลอดก่อนกำหนดน้อย ๆ เช่น 1-2 สัปดาห์ คือคลอดเมื่อ 35 หรือ 36 สัปดาห์ ส่วนใหญ่ก็ไม่มีปัญหาอะไร ทารกที่จะมีปัญหามาก ๆ คือทารกที่คลอดก่อนกำหนดมาก ทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยมาก ๆ คือ มีน้ำหนักตัวตอนเกิดน้อยกว่า 1.5 กิโลกรัม ทารกในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นทารกที่การตั้งครรภ์สิ้นสุดที่อายุครรภ์ประมาณ 32-33 สัปดาห์ ยิ่งคลอดก่อนกำหนดมากเท่าไรปัญหาก็ยิ่งมากขึ้น
ภาวะเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด คือภาวะที่มีการเจ็บครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะนับตั้งแต่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ และก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ในกรณีที่น้ำหนักทารกแรกคลอดน้อยกว่า 2,500 กรัม เรียกว่าทารกน้ำหนักแรกคลอดน้อย พบได้ประมาณร้อยละ 7-12 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งแตกต่างกันไปในประชากรแต่ละกลุ่ม
สาเหตุการคลอดก่อนกำหนด
สาเหตุที่แท้จริงนั้นไม่ทราบแน่ชัด แต่สำหรับในประเทศไทย สถิติคลอดก่อนกำหนดมีจำนวน 64,000-80,000 คน/ปี ซึ่งการคลอดก่อนกำหนดเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อสุขภาพของเด็กในระยะยาว จึงถือเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องดูแลแก้ไข กลุ่มมารดาที่มีภาวะเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด ได้แก่
- หญิงตั้งครรภ์ที่อายุน้อยกว่า 17 ปี หรือมากกว่า 35 ปี
- มีประวัติดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ใช้สารเสพติดระหว่างตั้งครรภ์
- ตั้งครรภ์แฝด มีปัญหารกเกาะต่ำ หรือมีความผิดปกติของมดลูก เช่น มีเนื้องอกที่มดลูกหรือปากมดลูกผิดปกติ ฯลฯ
- มีโรคประจำตัวเช่น โดยเฉพาะเบาหวาน ความดันโลหิตสูงในระหว่างตั้งครรภ์
- มีประวัติคลอดก่อนกำหนดมาก่อน มีโอกาสเป็นซ้ำ
- มีประวัติแท้งบุตรมาก่อน
สัญญาณเตือนอาการ คลอดก่อนกำหนด
โดยปกติในระยะตั้งครรภ์เกิน 6 เดือนขึ้นไป คุณแม่จะรู้สึกว่ามดลูกหดตัวเบา ๆ เป็นพัก ๆ ไม่รู้สึกเจ็บปวด (อย่างที่ชาวบ้านเรียกกันว่าเด็กโก่งตัว) เป็นการฝึกหัดตัวเองของมดลูกที่จะบีบตัวเมื่อถึงกำหนดคลอด การหดตัวของมดลูกแบบนี้เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้ามีการหดตัวบ่อย ๆ ถี่เกินไป ท้องตึงแข็งอยู่เป็นเวลานาน และมีอาการอื่นร่วมด้วย ก็แสดงว่าอาจจะมีการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด
อาการผิดปกติบางอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ที่เป็นสัญญาณเตือนว่าคุณแม่อาจคลอดก่อนกำหนด ได้แก่ ท้องเสียหรือลำไส้บิดตัวมากกว่าปกติ มีอาการปวดท้อง แบบผิดปกติ เช่น ปวดท้องตื้อๆ บริเวณช่วงล่าง ปวดบริเวณท้องน้อยคล้ายๆ กับอาการปวดประจำเดือน มดลูกบีบรัดตัวอย่างรุนแรง และบีบรัดตัวถี่มาก รู้สึกมีแรงกดบริเวณอุ้งเชิงกราน ขาหรือหลัง
คุณแม่บางท่านไม่มีอาการเจ็บปวด แต่มีมูกเลือดออกมาทางช่องคลอด มีน้ำเดิน คือมีน้ำเดินไหลลงมาตามขา เปียกจนชุ่มถึงพื้น หรือออกมาแบบปัสสาวะแต่ไม่หยุดซะที ก็ต้องรีบไปพบแพทย์ค่ะ เพราะแม้ไม่มีอาการเจ็บท้อง แต่หากคุณแม่มีอาการอย่างนี้แล้วก็มักจะคลอดภายใน 24 ชั่วโมง โดยแพทย์อาจจะต้องตัดสินใจผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง เพราะว่าการที่ถุงน้ำแตก มีน้ำเดินแล้วยังไม่คลอด จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อในถุงน้ำ ซึ่งเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์อย่างมากค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ >> “วิธีการป้องกันอาการคลอดก่อนกำหนด” คลิกหน้า 2
อันตรายจากการคลอดก่อนกำหนด
ทารกที่คลอดก่อนกำหนดน้อย ๆ เช่น 1-2 สัปดาห์ หรือคลอดสัปดาห์ที่ 35-36 ส่วนใหญ่จะไม่มีปัญหาอะไร แต่ทารกที่มีปัญหามาก ๆ จะเป็นทารกที่คลอดก่อนกว่ากำหนดมาก ทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยมาก (น้อยกว่า 1,500 กรัม) ซึ่งทารกในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นทารกที่คลอดเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ 32-33 สัปดาห์ และยิ่งถ้าคลอดก่อนกำหนดมากขึ้นเท่าไหร่ปัญหาก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น
“เนื่องจากอวัยวะต่าง ๆ ของทารกที่คลอดก่อนกำหนดยังเจริญเติบโตได้ไม่สมบูรณ์ จึงทำให้อัตราการตายของทารกมีสูงมากกว่าทารกที่คลอดครบกำหนดถึง 3 เท่า และยังพบว่าทารกแรกคลอดจำนวน 2 ใน 3 ที่เสียชีวิตในเดือนแรกเป็นทารกที่คลอดก่อนกำหนด และแม้ทารกแรกเกิดจะมีสุขภาพปกติดีก็ตาม แต่พัฒนาการก็จะไม่เท่ากับทารกที่คลอดครบกำหนด คือ เด็กมักจะอ่อนแอ ดูแลได้ยาก กินอาหารแล้วย่อยได้ยาก และมีการเจริญเติบโตช้ากว่าเด็กปกติ[1] อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรงพยาบาลจะสามารถเลี้ยงเด็กทารกน้ำหนักน้อยให้รอดมาได้และส่วนใหญ่ก็ปกติและแข็งแรงดี แต่ก็มีเด็กส่วนหนึ่งที่มีความพิการ ปัญญาอ่อน สมองเสื่อม หูหนวก ตาบอด ซึ่งเหล่านี้จะเป็นภาระอันใหญ่หลวงตามมาต่อครอบครัวและสังคมทั้งนี้คุณแม่ท้องสามารถป้องกันการคลอดก่อนกำหนดด้วยตัวเองได้ ดังนี้
วิธีการป้องกันอาการ คลอดก่อนกำหนด
การคลอดก่อนกำหนดเป็นปัญหาสำคัญทางด้านอนามัยของแม่และเด็ก แม้ว่าความเจริญทางการแพทย์จะสามารถช่วยให้เด็กที่คลอดออกมาก่อนกำหนดมีชีวิตอยู่รอดได้มากขึ้นกว่าในอดีต แต่ก็ยังพบว่ามีทารกอีกจำนวนที่มีความพิการหรือเสียชีวิต จึงมีความจำเป็นที่จะต้องป้องกันไว้ก่อน ดังนี้
- ส่งเสริมสุขภาพของคุณแม่ให้ดีก่อนการตั้งครรภ์ เช่น ตั้งครรภ์ในอายุที่เหมาะสม (18-34 ปี), ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ, ดูแลตัวเองให้แข็งแรงเพื่อป้องกันโรคที่มีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด
- เมื่อตั้งครรภ์แล้วควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อฝากครรภ์และปฏิบัติตนตามที่ได้รับคำแนะนำ รวมถึงไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งอย่างสม่ำเสมอ
- ในขณะตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ, งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์, หลีกเลี่ยงความเครียด, ลดการทำงานหนักหรือออกกำลังกายเป็นเวลานาน ๆ หรือยกของหนัก, ไม่เดินทางไกลหากไม่จำเป็น รวมถึงปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับผลกระทบของงานที่ทำอยู่ว่ามีผลต่อการคลอดก่อนกำหนดหรือไม่
- การกลั้นปัสสาวะ คุณแม่ท้องกลั้นปัสสาวะนั้นอาจทำให้เกิดอาการติดเชื้อในกระเพราะปัสสาวะได้ ซึ่งอาการเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองมดลูก และเป็นสาเหตุที่ทำให้มดลูกบีบตัว และยังทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้อีกด้วย ซึ่งการที่กลั้นปัสสาวะนอกจากจะทำให้เกิดความทรมานในร่างกายแล้วทำให้มดลูกบีบตัว จึงเป็นสาเหตุของการคลอดก่อนกำหนด
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ >> “วิธีการป้องกันอาการคลอดก่อนกำหนด” คลิกหน้า 3
- การดื่มน้ำ ร่างกายคนเราต้องการน้ำวันละ 8 แก้วขึ้นไป ยิ่งถ้าหากว่าวันไหนมีอากาศร้อนควรรับประทานน้ำให้มากยิ่งขึ้นเพราะว่าถ้าหากว่าคุณแม่ที่มีการตั้งครรภ์และไม่รับประทานน้ำร่างกายขาดน้ำนั้น นอกจากจะทำให้คุณแม่มีอาการเจ็บท้องแล้ว การเจ็บท้องนี้อาจจะลุกลามทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้ ในระยะยาว
- ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ควรรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์และไม่ครบ 5 หมู่ เพราะอาหารก็ย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องการ และอาหารครบ 5 หมู่นั้นก็จัดเป็นหมวดอาหารสำหรับคนท้องที่ควรรับประทาน
- รับประทานอาหารบ่อยๆ หลายๆคนอาจจะไม่เชื่อ เพราะว่าการรับประทานให้ครบ 5หมู่นั้นนับว่าเป็นสิ่งสำคัญแล้วแต่ความเป็นจริงแล้วคุณแม่ที่มีการตั้งครรภ์ต้องการรับสารอาหารต่างๆมากควรรับประทานอาหารบ่อยครั้งซึ่งโดยรวมแล้วสามารถรับประทานได้วันละ 5 ครั้ง โดยวิธีการแบ่งทานนั้นคือ การรับประทานอาหารหลัก 3 มื้อและรับประทานอาหารว่างอีก 2 มื้อ จะช่วยให้โอกาสคลอดก่อนกำหนดน้อยลงไปมาก แต่อย่าลืมดื่มน้ำเยอะๆ
- รักษาโรคช่องคลอดอักเสบต่างๆ หากเป็นโรคช่องคลอดอักเสบอยู่ในระหว่างที่คุณแม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรักษา และลองสอบถามดูว่ายาที่ได้รับมานั้นเหมาะสำหรับคุณแม่ที่มีการตั้งครรภ์และมีบุตรที่อยู่ในวัยกำลังพัฒนาการทารกภายในครรภ์ไหม ซึ่งถ้าหากว่าเป็นโรคช่องคลอดอักเสบและได้รับการรักษานั้นจะสามารถช่วยลดอัตราเสียงในการคลอดก่อนกำหนดได้มาก ซึ่งใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา ควรเข้าพบแพทย์และได้รับการรักษาให้ทันก่อนที่อะไรๆจะสายเกินไป
- ควรมีการตรวจสอบน้ำหนักบ่อยครั้งควรมีการตรวจสอบน้ำหนักอยู่บ่อยครั้ง เพราะว่าอาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานในขณะการตั้งครรภ์ได้ และส่งผลให้เกิดอาการครรภ์เป็นพิษ ซึ่งคุณแม่อาจจะรับประทานอาหารมากในช่วงนี้แต่ให้ระวังควบคุมในเรื่องน้ำตาลเพราะว่า อาจจะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงจนกลายเป็นโรคเบาหวานได้ โดยเฉลี่ยแล้วน้ำหนักของคุณแม่ที่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ควรเพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสมไม่ควรเพิ่มในระดับที่มากจนเกินไป
- รับประทานวิตามินเสริมเพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนด วิตามินสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์นั้น สามารถให้แก่คุณแม่ที่มีการตั้งครรภ์ได้โดยการเสริมสร้างในส่วนต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นวิตามินที่มาทดแทนการรับประทานให้ครบ 5 หมู่ แต่คุณแม่ก็ควรรับประทานอาหารเพิ่มเติมด้วย เพราะวิตามินในส่วนนี้แค่มาเติมเต็มในส่วนที่คุณแม่อาจขาดไป
- รักษาสุขภาพเหงือก คุณแม่หลายๆ คนคงแปลกใจว่า เอ๊ะ!เหงือกนั้นเกี่ยวอะไรด้วย ความเป็นจริงแล้ว เหงือกนั้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการคลอดก่อนกำหนดดังนั้นคุณแม่ควรที่จะรักษาสุขภาพช่องปากให้ดีและแปรงฟันให้สะอาด และควรใช้ไหมขัดฟัน และในระหว่างการตั้งครรภ์ควรไปพบแพทย์ 1-2 ครั้งเพื่อตรวจสอบสุขภาพช่องปาก ถ้าหากว่ามีอะไรจะได้รักษาในทันท่วงที
- การฉีดฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน จากการวิจัยในสมัยใหม่นั้นได้มีการวิจัยและพบว่า การฉีดฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนนั้นจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยว่าคุณแม่ที่มีการตั้งครรภ์มีปัจจัยเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดหรือไม่
คุณแม่ก็ลองสังเกตอาการต่างๆ เกี่ยวกับร่างกายดูว่ามีข้อไหนที่ตรงไหมและควรปฏิบัติอย่างไรไม่ให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด เพื่อที่จะได้ให้ทารกน้อยได้มีสุขภาพที่แข็งแรง
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก
ประสบการณ์จริงจากแม่ : คลอดก่อนกำหนด เพราะลูกเหนื่อย จนเกือบเสียชีวิตในท้อง
ลูกดูดนมแม่ไม่ได้ ปัญหาใหญ่ของทารกป่วย/คลอดก่อนกำหนด
ขอบคุณข้อมูลจาก : medthai.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่