คนท้องเป็นตะคริว เป็นอาการที่พบได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์ในไตรมาสที่สอง และเป็นเรื่องปกติที่ทำให้แม่ท้องเกิดความทรมาน คนท้องเป็นตะคริว มีสาเหตุค่ะ มาดูกันค่ะว่าทำไมถึงเป็นตะคริวได้บ่อย และมีวิธีป้องกันอย่างไรได้บ้าง
คนท้องเป็นตะคริว แก้ได้ไหม? ถ้าเป็นขณะเดินทางทำอย่างไร
ตะคริวคืออะไร?
ตะคริว (Muscle cramps) คือ อาการที่กล้ามเนื้อมีการเกร็งตัวหรือหดเกร็ง ทำให้มีอาการปวดและเป็นก้อนแข็ง อาการนี้จะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และไม่สามารถบังคับไม่ให้เกิดได้ อาการตะคริวจะเป็นร่วมกับอาการปวดหรือเจ็บกล้ามเนื้อที่เกิดจากการหดเกร็ง แต่อาการนี้จะไม่เป็นไปตลอด จะเป็นอยู่ชั่วระยะหนึ่ง แล้วอาการจะทุเลาลงไปได้เอง ตะคริวสามารถเกิดขึ้นได้กับกล้ามเนื้อส่วนไหนก็ได้ อาจจะเกิดกับกล้ามเนื้อเพียงมัดเดียวหรือหลาย ๆ มัดพร้อมกัน โดยมักเกิดขึ้นในขณะที่แม่ท้องกำลังออกกำลังกายหรือเดิน และในขณะนั่งพักหรือนอนพักเป็นเวลานาน
ทำไม? คนท้องเป็นตะคริว
ที่ คนท้องเป็นตะคริว บ่อย ๆ เป็นเพราะร่างกายของหญิงตั้งครรภ์ต้องการใช้แคลเซียมเพิ่มขึ้นในปริมาณมหาศาล เพื่อใช้สร้างกระดูกและฟันของลูกในท้อง ในช่วงก่อนท้องร่างกายผู้หญิงต้องการแคลเซียมเพียงวันละ 500-600 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ในขณะตั้งครรภ์แม่ท้องต้องการแคลเซียมมากถึง 1,000-1,200 มิลลิกรัมต่อวัน ดังนั้นแม่ท้องที่ขาดแคลเซียม ก็จะทำให้มีอาการตะคริวได้นั่นเอง นอกจากนี้ แม่ท้องที่มีฟอสฟอรัสมากเกินไปในกระแสเลือด และการที่แม่ท้องมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ คนท้องเป็นตะคริว ได้เช่นกัน เพราะการที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ขาทั้งสองข้างของแม่ท้องต้องแบกรับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ทำให้ระบบหมุนเวียนโลหิตตึงแน่นเกินไปบริเวณขา และการที่เลือดไหลเวียนไปที่ส่วนล่างได้ไม่ดีพอ ทำให้เกิดตะคริวได้
คนท้องเป็นตะคริวตอนไหน?
โดยทั่วไป แม่ท้องจะเริ่มเป็นตะคริวในช่วงสัปดาห์ที่ 16 ของการตั้งครรภ์เป็นต้นไป ก่อนช่วงนี้มักจะไม่เป็นตะคริว เป็นเพราะในช่วงนั้น ร่างกายยังไม่ได้ต้องการแคลเซียมหนักมากเท่าช่วงนี้ (กระดูกและฟันของลูกในท้องจะเริ่มสร้างในสัปดาห์ที่ 16) และในช่วงสัปดาห์ที่ 16 นี่เอง มักจะเป็นช่วงที่แม่ท้องเริ่มหายแพ้ท้องแล้ว จึงรับประทานอาหารได้มากขึ้น ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ จึงเป็นสาเหตุที่เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี จนเกิดอาการตะคริวได้นั่นเอง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ ป้องกันตะคริวตอนท้อง และวิธีคลายตะคริวแบบทันใจ
วิธีป้องกันตะคริวตอนท้อง
การป้องกันไม่ให้เป็นตะคริวตอนท้อง มีวิธีการดังนี้
-
ออกกำลังกายเบา ๆ โดยเน้นการยืดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณน่องขาและเท้า ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มักเป็นตะคริวบ่อย ๆ ตอนตั้งครรภ์ โดยการนั่งหรือนอนเหยียดขา แล้วกระดกปลายเท้าเข้าหาตัว การยืดกล้ามเนื้อสม่ำเสมอจะช่วยให้ร่างกายคลายความตึงล้า และมีความยืดหยุ่น จึงลดโอกาสเกิดตะคริวได้ สำหรับแม่ท้องที่มักจะเป็นตะคริวในตอนกลางคืน ควรทำก่อนเข้านอน เพื่อช่วยลดโอกาสเป็นตะคริวในตอนกลางคืน
-
พยายามอย่ายืนนาน ๆ หรือนั่งนานเกินไปโดยเฉพาะการนั่งไขว่ห้าง เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อเกร็งกว่าปกติ ส่งผลให้อาจเกิดตะคริวได้ง่าย
-
ป้องกันภาวะขาดน้ำด้วยการดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
-
ประคบอุ่นบริเวณเท้าหรือน่อง หรือการอาบน้ำอุ่นในตอนเย็นอาจช่วยได้
-
เลือกรองเท้าที่เหมาะสม และใส่สบาย เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อบริเวณเท้าเกร็งมากเกินไป
-
อาจวางเท้าบนหมอนหรือยกเท้าสูงกว่าลำตัวสักเล็กน้อยเวลานอน อาจช่วยลดการเกิดตะคริวได้
-
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียม (เช่น กล้วย ส้ม), แคลเซียม (เช่น นม ปลาเล็กปลาน้อยที่รับประทานก้างได้), วิตามินอี (เช่น ถั่ว น้ำมันพืช) สำหรับแม่ท้องที่มักเป็นตะคริวตอนกลางคืน อาจป้องกันได้ด้วยการรับประทานอาหารประเภทปลาและไข่ในมื้อเย็น หรือดื่มนมก่อนเข้านอน
- ไม่ใส่กางเกงที่รัดแน่นจนเกินไป เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดบริเวณขาและเท้าให้มากขึ้น
- ใส่ถุงเท้าตอนนอนเพื่อป้องกันการเกร็งของเท้า
วิธีคลายตะคริวแบบทันใจ
ก่อนอื่นต้องอย่าตกใจค่ะ ตั้งสติว่าอาการปวดที่เป็นอยู่นั้น เกิดจากตะคริวใช่หรือไม่ หากเป็นตะคริวขณะนั่งหรือใช้ชีวิตประจำวันอย่างอื่นอยู่ ควรหยุดการเคลื่อนไหวหรือใช้งานกล้ามเนื้อส่วนที่เป็นตะคริวไปก่อนชั่วคราว หากเป็นตะคริวในตอนกลางคืนขณะนอนหลับ ให้นอนอยู่นิ่ง ๆ และตั้งสติค่ะ และเริ่มทำการคลายตะคริว โดยใช้วิธีต่อไปนี้
- ใช้มือนวดกล้ามเนื้อมัดที่เป็นตะคริวเบา ๆ จนกว่ากล้ามเนื้อจะคลายตัว (สามารถใช้โปรโมชั่นคนท้องในตอนนี้ให้เป็นประโยชน์ โดยการสะกิดสามีให้ช่วยนวดให้ก็ได้นะคะ) หากกล้ามเนื้อคลายตัวแล้ว อาจนวดต่อด้วยการใช้มือบีบนวดไล่จากเอ็นร้อยหวายขึ้นมาจนถึงข้อเข่า ซึ่งจะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
- ทำการเหยียดกล้ามเนื้อ บริเวณที่เป็นตะคริว ดังนี้
- ถ้าเป็นตะคริวที่น่อง ให้เหยียดหัวเข่าให้ตรงและดึงปลายเท้ากระดกเข้าหาหัวเข่าให้ได้มากที่สุดอย่างช้า ๆ (ห้ามทำการกระตุกหรือกระชากอย่างรวดเร็ว เพราะจะทำให้เจ็บปวดจนกล้ามเนื้อฉีกขาดได้) และอาจเอื้อมมือไปดึงปลายเท้าเข้าหาตัวด้วยก็ได้ โดยให้ทำค้างไว้ประมาณ 1-2 นาที แล้วคลายออกประมาณ 1-2 นาที แล้วทำซ้ำจนกว่าตะคริวจะคลาย
- ตะคริวที่ต้นขา ให้เหยียดหัวเข่าให้ตรง ยกเท้าขึ้นให้สูงจากพื้นเล็กน้อยและกระดกปลายเท้าลงล่าง (ไปทางด้านตรงข้ามกับหัวเข่า) โดยให้ทำค้างไว้ประมาณ 1-2 นาทีเช่นกัน
- ในช่วงที่กล้ามเนื้อหดเกร็งมาก ให้ใช้วิธีประคบด้วยน้ำอุ่นจัด ๆ ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการลงได้ หรือเมื่อมีอาการปวดหรือเจ็บกล้ามเนื้อมาก การประคบเย็นอาจช่วยบรรเทาอาการนี้ได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ ถ้าเป็นตะคริวขณะเดินทาง หรือ ขับรถ ทำอย่างไรดี
ถ้าเป็นตะคริวขณะเดินทาง หรือ ขับรถ ทำอย่างไรดี
สำหรับแม่ท้องที่ต้องเดินทางบ่อย ๆ หรือขับรถนาน ๆ ทำให้ต้องนั่งอยู่บนรถนาน ก็อาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงให้เกิดตะคริวได้ ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีเคล็ดลับดี ๆ มาฝากค่ะ
- เตรียมเสื้อผ้าสวมใส่สบาย กางเกงที่รัดขาและน่องเก็บไว้ก่อนดีกว่า
- ควรมีที่พักเท้า เมื่อนั่งรถหรือที่นั่งบนเครื่อง คุณแม่ควรถอดรองเท้า และอาจใช้กระเป๋าถือเป็นที่วางพักเท้า
- เปลี่ยนอิริยาบถทุกชั่วโมง หากเดินทางโดยรถยนต์ ควรยอมเสียเวลาแวะพัก ส่วนถ้าเป็นบนเครื่อง ก็ลุกเดินตามทางเดินนั่นละค่ะ เตรียมถุงเท้าบางๆ หรือรองเท้าแตะแบบสลิปเปอร์ไว้สวมระหว่างเดินก็ดี และพยายามเหยียดขา ยืดเส้นยืดสายทุกครึ่งชั่วโมง
- หากเป็นตะคริวขณะขับรถ ควรรีบเปิดไฟฉุกเฉินเพื่อขอเบี่ยงไปที่ข้างทาง โดยไม่พยายามที่จะรีบเหยียบเบรค ให้ค่อย ๆ ผ่อนเบรค จนสามารถเลี้ยวรถเข้าข้างทางได้ จากนั้นให้เริ่มทำการคลายกล้ามเนื้อ
สำหรับแม่ท้องที่เป็นตะคริวบ่อย ๆ เป็นทุกคืน แม้จะทำการคลายกล้ามเนื้อแล้ว อาการตะคริวก็ยังไม่ค่อยจะลดลง ควรไปปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลที่ฝากครรภ์ โดยแพทย์อาจจะซักถาม และตรวจร่างกายเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เป็นตะคริวได้ หรืออาจพิจารณาให้วิตามินเกลือแร่เสริมที่ไม่อันตรายต่อลูกในท้องให้รับประทานเพื่อป้องกันการเป็นตะคริว และให้คำแนะนำในการดูแลรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไปค่ะ
อ่านต่อบทความดี ๆ ได้ที่นี่
ท้องแข็งใกล้คลอด เป็นแบบไหน? ท้องแข็งแบบไหนอันตราย
คนท้อง ท้องอืด รับมือได้ไม่ยากอย่างที่คิด
คนท้องมือชา เท้าชา เกิดจากอะไร? มีวิธีรักษาอย่างไร?
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก : medthai
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่