AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

แม่ท้อง อารมณ์แปรปรวน รับมืออย่างไร ไม่กระทบลูกในท้อง

แม่ท้อง

นอกจากสภาพร่างกายของแม่ท้องที่เปลี่ยนไป จะทำให้คุณแม่รู้สึกอึดอัดหงุดหงิดได้แล้ว ฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงยังทำให้ แม่ท้อง อารมณ์แปรปรวน ร่วมด้วย ฉะนั้น เพื่อไม่ให้แม่ท้องต้องหงุดหงิดเครียด อันจะส่งผลต่อลูกน้อยในท้อง เราจึงชวนแม่ท้อง รับมืออารมณ์แปรปรวนได้อย่างเข้าใจค่ะ

แม่ท้อง อารมณ์แปรปรวน รับมืออย่างไร

เข้าใจอารมณ์แปรปรวนของแม่ท้อง

ช่วงเวลาของการตั้งครรภ์เป็นช่วงแห่งความสุขและตื่นเต้นก็จริง แต่ในขณะเดียวกัน คุณแม่ก็รู้สึกเครียดและวิตกกังวลไปด้วย คุณแม่หลายท่านมีคำถามวนเวียนอยู่ในใจตลอดเวลา เช่น เอ๊ะ! เราจะเป็นแม่ที่ดีได้ไหมนะ ลูกจะแข็งแรงหรือเปล่า หนังสือคู่มือที่กำลังอ่านอยู่ดีที่สุดแล้วหรือยัง แล้วถ้ามีลูกอีกคนค่าใช้จ่ายจะมากขึ้นเท่าไร แล้วเราจะไหวไหม คุณสามีจะเห็นว่าเราอ้วนฉุ ไม่สวยเหมือนเดิมหรือเปล่า ความสัมพันธ์ของเรากับสามีและลูกคนโตจะเปลี่ยนไปไหม เราจะมีเวลาให้สามีและลูกพอไหม…

ความกังวลเหล่านี้บวกกับสรีระร่างกายที่เปลี่ยนไป และฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง อาจทำให้คุณแม่ที่เคยอารมณ์ดีแจ่มใสเปลี่ยนไปเป็นคนละคน เราเรียกภาวะนี้ว่า “อารมณ์แปรปรวนในขณะตั้งครรภ์”

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ แม่ท้อง อารมณ์แปรปรวน ได้อย่างไร

ความเครียด ความอ่อนเพลีย เมื่อยล้า ฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนที่เปลี่ยนแปลง จะไปส่งผลต่อสารสื่อประสาท (Neurotransmitter) ซึ่งเป็นตัวส่งต่อข้อมูลต่างๆ ในสมอง และควบคุมอารมณ์ โดยอารมณ์แปรปรวนจะเกิดมากที่สุดในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก คือช่วงตั้งครรภ์สามเดือนแรกคุณแม่จะมีฮอร์โมนแปรปรวนอยู่ จึงอาจทําให้เกิดอารมณ์หงุดหงิดได้ แถมบางครั้งคุณแม่ยังมีภาวะกังวลซึมเศร้าอีกโดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ท้องที่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ทำให้อาการอารมณ์แปรปรวนยิ่งเกิดได้ง่ายขึ้น แต่ส่วนใหญ่พอตั้งครรภ์เลย 4 – 5 เดือนไปแล้วหรือในช่วงไตรมาสที่ 2 อาการ แม่ท้อง อารมณ์แปรปรวน จะลดลงและหายไป จากที่เคยเหวี่ยง ในช่วงไตรมาสแรกๆ พอเข้าไตรมาสสองและสามอารมณ์ก็จะดีเหมือนก่อนตั้งครรภ์ค่ะ

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ติดตาม ชวน แม่ท้องรับมืออารมณ์แปรปรวน คลิกต่อหน้า 2

ซึ่งภาวะอารมณ์ที่แปรปรวนในแม่ท้องจะไม่เกี่ยวกับอารมณ์ตอนเกิดมาแล้วของลูกค่ะ แต่ทางที่ดีคุณแม่ท้องควรทำความเข้าใจและรู้จักอารมณ์ตัวเอง โดยควรควบคุมไม่ให้ตัวเองมีอาการเหวี่ยงง่ายและหงุดหงิดเพราะจะทําให้คุณแม่ไม่ยอมรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หรืออาหารที่ไม่ถูกปาก เพราะภาวะโภชนาการที่ไม่สมบูรณ์จะเป็นตัวที่ส่งผลกระทบต่อลูกน้อยได้ เนื่องจากหากลูกเกิดมาตัวเล็กจะโยเยกินนมได้น้อย มีภาวะท้องอืดได้ง่าย ทําให้ดูเหมือนเป็นเด็กอารมณ์ไม่ดี เลี้ยงยากนั่นเองค่ะ

ทําไม… แม่ท้อง อารมณ์แปรปรวน ตอนเย็น

มีบ่อยครั้งที่คุณแม่ท้องหลายๆ ท่านมักมีอารมณ์แปรปรวนในช่วงเย็น มาดูกันว่าสาเหตุเหล่านี้เกิดจากอะไรค่ะ

ความจริงคุณแม่และหลายๆ คนรู้กันอยู่แล้วว่าช่วงตั้งครรภ์ อารมณ์แปรปรวนของคุณแม่ จะเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนที่มีการเปลี่ยนแปลงขณะตั้งครรภ์โดยตรง แต่การที่แม่ท้องบางคนมีอาการเฉพาะช่วงเย็น อาจจะเป็นเพราะช่วงเวลาดังกล่าว คุณแม่จะเหน็ดเหนื่อยจากการทํางานมาแล้ว หรือเกิดความเครียดจากการเดินทางกลับบ้าน ทั้งนั่งอยู่ในรถนานเพราะรถติด ฝนตกหรืออื่นๆ และคุณแม่บางคนกลับจากทํางานแล้ว ยังต้องมาทํางานบ้านเองต่ออีก จึงยิ่งเพิ่มระดับความหงุดหงิด ทำให้อารมณ์แปรปรวนเพิ่มมากขึ้นไปอีก ทางที่ดีคุณแม่ควรทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ปล่อยวางบ้าง และบริหารความเครียด อย่าปล่อยให้ตัวเองกดดันจนเกินไป หรือลองเอ่ยปากขอคุณสามีให้เข้ามาช่วยดูแลงานบ้านแทนก่อน เชื่อว่าคุณสามีที่น่ารักต้องเต็มใจแน่นอนค่ะ

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ติดตาม ชวน แม่ท้องรับมืออารมณ์แปรปรวน คลิกต่อหน้า 3

รับมืออารมณ์แปรปรวนกันดีกว่า

  1. อธิบายให้คนใกล้ตัวเข้าใจ : คนใกล้ตัวอาจจะเป็นคุณสามี ลูกคนโต หรือ เพื่อนสนิท ที่ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ด้วยกัน อธิบายให้เข้าใจว่าเราไม่ได้ตั้งใจ และอย่าถือโทษโกรธกัน หาเวลากระชับความสัมพันธ์ เช่น ไปเที่ยวต่างจังหวัดด้วยกัน และขอร้องให้ช่วยเป็นน้ำ เวลาคุณแม่เป็นไฟ
  2. ทำใจสบายๆ : คุณแม่บางท่านเป็น super woman ซึ่งมักจะทำทุกอย่างด้วยตนเอง และคาดหวังผลเลิศ ลองพยายามลดภาระงาน และภารกิจส่วนตัวลงบ้าง หัดปล่อยวาง บางครั้งผลงานอาจออกมาใม่สมบูรณ์แบบ บางอย่างที่ให้คนอื่นไปทำได้ ก็ความผ่อนภาระของตัวเองลงบ้าง
  3. หาที่ปรึกษาเพื่อพูดคุยเรื่องที่เป็นกังวล : การได้พูดสิ่งที่เป็นกังวลออกมากับคนที่เรารัก บางครั้งก็อาจได้คำตอบกับสิ่งที่สงสัย ขอให้คุณแม่พูดความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา และอย่าลืมให้ผู้รับฟังได้แสดงความรู้สึกบ้างนะคะ
  4. ทำกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกดี : หาเวลาส่วนตัวเพื่อนวดผ่อนคลาย ดูหนังเรื่องโปรด เดินช้อปปิ้ง หรือหาเวลางีบยามบ่าย
  5. กำจัดความเครียด : นอนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8-10 ชั่วโมง กินอาหารคุณภาพดี ออกกำลังกายเบาๆ อาจเข้าคลาสโยคะ ฝึกสมาธิ เพื่อผ่อนคลายความเครียด

แต่ถ้าหากพยายามทุกวิถีทางแล้ว ยังไม่สามารถจัดการกับอารมณ์แปรปรวนได้ หรือมีอาการหงุดหงิดนานกว่า 2 สัปดาห์ มีอาการกระวนกระวายมากขึ้น โดยไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น นอนไม่หลับ รับประทานอาหารได้น้อย ไม่มีสมาธิ และไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้ ความจำสั้น หลงลืมง่าย โดยเฉพาะเรื่องที่เพิ่งจะผ่านไปร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณของโรคซึมเศร้า ซึ่งคุณแม่ต้องพบคุณหมอ และอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยา หรือการบำบัดทางจิตค่ะ


ข้อมูลโดย : พญ. กันดาภา ฐานบัญชา สูติแพทย์ โรงพยาบาลบี แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์

อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ

คุณแม่ท้อง มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม?

ประสบการณ์จริง เมื่อคุณแม่ท้องเป็นโรคหัวใจ

ลูกน้อยคลอดก่อนกำหนด เพราะมีน้ำคร่ำมากไป

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids