AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

คุณแม่ท้องแฝดรูปร่างเล็ก เช่น “คุณโอปอล์” ทำไมจึงเสี่ยง?

จากข่าวเมื่อวานนี้ที่คุณหมอโอ๊ค-สมิทธิ์ อารยะสกุล สามีของคุณโอปอล์-ปาณิสรา ให้สัมภาษณ์ถึงคุณโอปอล์ซึ่งต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเนื่องจากมีความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด คุณหมอโอ๊คบอกว่ากอดคุณโอปอล์แล้วรู้สึกว่าท้องแข็ง จึงสงสัยว่ามดลูกบีบรัดตัว เกรงจะเป็นอันตรายต่อทั้งคุณแม่และคุณลูกจึงพาคุณโอปอล์ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล และแพทย์สั่งให้คุณโอปอล์นอนพักนิ่งๆ เพื่อชะลอการคลอด เนื่องจากขณะนั้นอายุครรภ์เพียง 6 เดือน ซึ่งถือว่าเร็วมาก แพทย์ที่ปรึกษาเรียลพาเรนติ้ง จึงมีข้อสันนิษฐานที่เป็นประโยชน์ต่อคุณแม่ท่านอื่นๆ ถึงสาเหตุไว้ดังนี้

1. ท้องลูกแฝด แต่คุณแม่เป็นคนตัวเล็ก

“คุณแม่ที่ตัวเล็ก คือมีน้ำหนักก่อนตั้งครรภ์ คิดดัชนีมวลกาย* (BMI) น้อยกว่า 20 กิโลกรัม/เมตร2 ถือว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่จะมีลูกตัวเล็กกว่าคนทั่วไป 2 เท่า คำว่าลูกตัวเล็กอาจจะเกิดจากการที่คุณแม่ตัวเล็กกว่าเกณฑ์ มีการคลอดก่อนกำหนด หรือลูกได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เกิดภาวะเจริญเติบโตช้าในครรภ์ จึงทำให้ตัวเล็ก ดังนั้นกรณีที่คุณแม่ตัวเล็กตั้งครรภ์ลูกแฝด จะต้องเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนมากกว่าคนทั่วไป เช่น การคลอดก่อนกำหนด หรือภาวะเจริญเติบโตช้าในครรภ์ จนทำให้ลูกตัวเล็กกว่าเกณฑ์ปกติมากขึ้น และหลังตั้งครรภ์ครบ 7 เดือน ควรเตรียมหยุดงาน นอนพักผ่อนอยู่กับบ้าน เพื่อป้องกันภาวะที่มดลูกจะบีบตัว ทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด

ข้อมูลจาก นาวาตรี พญ.ณัฐยา รัชตะวรรณ สูตินรีแพทย์ประจำศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ (จากคอลัมน์ Pregnancy Q&A นิตยสารเรียลพาเรนติ้ง ฉบับเดือนกันยายน 2558)

2. คุณแม่เป็นเวิร์คกิ้งวูแมน ทำงานอยู่ตลอดเวลา

“ความเสี่ยงในการแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดในไตรมาสที่ 2 ส่วนหนึ่งมาจากการบีบรัดตัวของมดลูกด้วย ซึ่งวิธีการรักษาที่ช่วยลดความเสี่ยงได้มากที่สุดคือการนอน ส่วนการให้ยาคลายกล้ามเนื้อมดลูกยังไม่ค่อยมีข้อพิสูจน์ว่าช่วยรักษาได้ชัดเจน แต่ด้วยไลฟ์สไตล์ของคุณแม่ในปัจจุบันที่ต้องทำงานนอกบ้าน หมอจึงพิจารณาให้ยาคลายมดลูกเพื่อช่วยอีกทางหนึ่ง แต่หากคุณแม่สามารถหยุดทำงานหรือเป็นแม่บ้านอยู่แล้ว การนอนพักรักษาก็จะเป็นวิธีที่ให้ผลแน่นอนที่สุดครับ”

ข้อมูลจาก รศ.นพ.ตวงสิทธิ์ วัฒกนารา หน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

เรียลพาเรนติ้งขอเป็นกำลังใจให้ครอบครัวคุณโอปอล์และลูกแฝดตัวน้อยมีสุขภาพปกติแข็งแรงโดยเร็วนะคะ

 

ภาพ : Instagram opalpanisara

* ค่าดัชนีมวลกาย คำนวณได้จาก น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง เช่น น้ำหนัก 50 กิโลกรัม ส่วนสูง 162 เซนติเมตร (= 1.62 เมตร) จะได้ 50/(1.62)2 = 50/2.6244 = 19.05 กิโลกรัม/เมตร2