AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ทำไมแม่ท้องอ่อนต้องแพ้ท้อง?

แพ้ท้อง ตั้งครรภ์ อาเจียน

แพ้ท้อง เป็นอาการยอดนิยมของคุณแม่ท้องอ่อน แล้วทำไมว่าที่คุณแม่ถึงต้องมีอาการแพ้ท้องในช่วงนี้ด้วยล่ะ เรามาดูเรื่องราวของคุณผู้อ่าน และคำอธิบายจาก นพ. สกิทา ม่วงไหมทอง สูตินรีแพทย์ กันค่ะ

Mom Talks

“ช่วงไตรมาสแรก เหม็นข้าวที่กำลังหุง เหม็นสามีที่เพิ่งอาบน้ำเสร็จใหม่ๆ สามีเองก็มีอาการหน้ามืด อยากอาเจียน อยู่ดีๆ ก็อยากกินของแปลกๆ แปลกที่ว่าคือ เขาเป็นชาวต่างชาติ แต่อยากกินแกงส้ม จิ้มแจ่ว แคบหมู

พอเข้าไตรมาสที่สอง เราไปเที่ยวยุโรปกันสองคน เราอ้วกฝากทุกประเทศที่ผ่าน สิ่งที่เปลี่ยนไปจากไตรมาสแรกคือ ติดกลิ่นสามีมาก บางครั้งเอาเสื้อที่เขาใส่แล้วมาดม รู้สึกสบายใจอย่างบอกไม่ถูก ขาบินกลับมาสิงคโปร์ สามีเลิกบุหรี่หักดิบเพื่อลูก เรื่องนี้ดีใจมากค่ะ” เรื่องจากคุณ Shompoonut Jemilin McMurray

แพ้ท้อง อาการยอดนิยมของคุณแม่ท้องอ่อน

คราวนี้ เรามาอ่านคำอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญกันดีกว่าค่ะ

แพ้ท้อง เป็นอาการยอดนิยมของคุณแม่ท้อง พบบ่อยในไตรมาสแรก พอหลัง 12-16 สัปดาห์ อาการจึงจะค่อยๆ ดีขึ้น มีส่วนน้อยที่เป็นนานกว่านั้น

สำหรับสาเหตุหลักของอาการแพ้ท้องเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน beta hCG ในร่างกาย ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ส่วนจะแพ้แค่ไหน ขึ้นอยู่กับความไวต่อฮอร์โมนของแต่ละคน

อ่านต่อ “ปัจจัยอื่นที่ทำให้แพ้ท้องได้” หน้า 2

นอกจากนี้ก็ยังมีปัจจัยด้านจิตใจอีก เช่น ความเครียด วิตกกังวล การรับมือกับการเปลี่ยนแปลง การสนับสนุนช่วยเหลือจากคนในครอบครัว เป็นต้น พบว่าคุณแม่ที่มีความเครียดมาก หรือครอบครัวไม่สนับสนุน จะมีอาการแพ้ท้องมากกว่าปกติ

แพ้มากแค่ไหนส่ออันตราย

โดยธรรมชาติ ลูกสามารถดึงสารอาหารและออกซิเจนจากร่างกายแม่ไปใช้ได้ ถึงแม้ว่าแม่จะกินได้น้อยมากๆ ก็ตาม ยกเว้นถ้ารุนแรงมากๆ คือเกลือแร่ในร่างกายมีความผิดปกติ รวมถึงมีการดึงไขมันในร่างกายของแม่มาใช้ จนเกิดสารคีโตนในเลือด หากมีสารตัวนี้สูงมากเกินไป จะส่งผลต่อลูกได้ ความแตกต่างของแพ้ท้องรุนแรงกับแพ้ท้องปกติคือ แพ้ท้องรุนแรงจะอ่อนเพลียมาก กินอะไรไม่ได้เลย แม้แต่น้ำ และอาเจียนตลอด รวมถึงมีสัญญาณของอาการขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ตาโหลลึก เป็นต้น

แพ้ท้องมาก อันตรายไหม

ยาแก้แพ้ท้อง มีไหม?

ยาแก้แพ้ท้องมี 2 รูปแบบ คือ รูปแบบกินและรูปแบบฉีด ยาแพ้ท้องส่วนมากที่ใช้กันคือ ยากลุ่มไดเมนเฮดรามีน หรือดรามามีน (ยาแก้เมารถ เมาเรือ) ยาตัวนี้ปลอดภัย แต่ข้อเสียคือง่วง ถ้าคุณแม่กินต้องพักผ่อน หากไม่ได้พักผ่อน อาการจะเป็นมากขึ้นได้ หรือหากพักผ่อนไม่ได้จริงๆ ก็อาจจะเลี่ยงไปใช้ยาแก้อาเจียนแทน ที่ใช้กันทั่วไปก็คือ พลาซิล โมทิเลี่ยม ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ควรซื้อกินเอง แต่ควรปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์ก่อนเสมอ

อ่านต่อ “วิธีบรรเทาอาการแพ้ท้อง” หน้า 3

วิธีบรรเทาอาการแพ้ท้อง

ควรปรับเปลี่ยนการกินจาก 3 มื้อ เป็น 6 มื้อ โดยเพิ่มมื้อระหว่างอาหารเข้าไป และแต่ละมื้อกินน้อยลง หลีกเลี่ยงอาหารย่อยยาก เลือกกินอาหารที่แห้งๆ เช่น แคร็กเกอร์ เวเฟอร์ หรือจะเป็นน้ำหวาน น้ำแดงชง น้ำขิง โจ๊ก ข้าวต้ม ควรเริ่มกินตั้งแต่ช่วงเช้าเลย อย่าปล่อยให้ท้องว่าง กินก่อนล้างหน้าแปรงฟันตอนเช้าก็จะช่วยได้ ซึ่งการกินแบบนี้แนะนำให้ทำตลอดช่วงการตั้งครรภ์

ทำไงดี? อยากกินแต่ของแปลกๆ

ภาษาแพทย์เรียกว่า ไพก้า (Pica) อาจจะสัมพันธ์กับคุณแม่ที่ขาดธาตุเหล็ก ทำให้รู้สึกอยากกินของแปลกๆ เช่น ดิน ชอล์ค เป็นต้น เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเช่นกัน ซึ่งไม่แนะนำให้กินจริงๆ เพราะเป็นอันตรายได้

แพ้ท้องอยากกินของแปลก

ภาพ: nasciezkachwiedzy.blogspot.com

หากจู่ๆ ก็หายแพ้ท้องฉับพลัน แสดงว่าครรภ์ไม่สมบูรณ์จริงหรือ?

มีความจริงบางส่วน พบว่า หากมีทารกเสียชีวิตในครรภ์ หรือเป็นครรภ์ไข่ลม ระดับฮอร์โมนจะลดต่ำลง เพราะรกไม่ทำงาน ไม่สร้างฮอร์โมนออกมา ร่างกายคุณแม่ก็จะหายแพ้ท้อง เป็นสัญญาณที่จะต้องระมัดระวังว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนหรือเปล่า หรือเกิดจากการที่อาการดีขึ้นเฉยๆ ซึ่งเราจะแยกได้ก็ต่อเมื่อไปฝากครรภ์ สัญญาณที่ไม่ดีจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เลือดออกทางช่องคลอด ปวดท้อง เป็นต้น เพราะว่าโดยส่วนใหญ่ แพ้ท้องจะไม่ส่งผลกระทบอะไรที่รุนแรง และการหายแพ้ท้องมักจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง

อ่านต่อ “ทำไมสามีจึงแพ้ท้องแทนได้ด้วย?” หน้า 4

สามีแพ้ท้องแทน เพราะ?

น่าจะเป็นปัจจัยทางด้านจิตใจและการเตรียมความพร้อมของคุณพ่อมากกว่า เกิดจากการตื่นเต้น ดีใจ กลัว จากการมีสมาชิกใหม่มากกว่า

แพ้ท้องแทนเมีย

ไม่มีอาการแพ้ท้องเลย แปลกไหม?

ก็ไม่แปลกอะไร แต่ปกติจะแพ้ทุกท้องอยู่แล้ว ข้อสังเกตง่ายๆ คือ ถ้าในครอบครัวมีคนเคยแพ้ท้อง คุณแม่ก็อาจจะแพ้ท้องเหมือนกันได้ และแพ้ท้องไม่ได้มีแค่อาเจียน แต่จะมีอาการเวียนศีรษะ (ไม่ถึงกับบ้านหมุน) ง่วงนอน อ่อนเพลีย มากกว่าปกติ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการเปลี่ยนแปลงในช่วงตั้งครรภ์

ขอขอบคุณความอนุเคราะห์ข้อมูลจาก นพ. สกิทา ม่วงไหมทอง สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลศิริราช และที่ปรึกษา About Us Advanced Maternity Center

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids

ภาพ: Shutterstock