AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

วัคซีนสำหรับแม่ท้อง ฉีดอย่างไรให้ปลอดภัย

การฉีดวัคซีนหญิงตั้งครรภ์ ตั้งแต่ก่อนท้อง-หลังคลอด

หากบ้านไหนกำลังวางแผนจะมีเจ้าตัวน้อยอยู่ล่ะก็ นอกจากเรื่องเตรียมร่างกายและใจแล้ว อย่าลืมใส่เรื่อง “การฉีดวัคซีน” เข้าไปในแผนด้วยนะคะ เพราะมีวัคซีนสำคัญหลายตัวเลยที่ฉีดได้เฉพาะก่อนท้องเท่านั้น แต่หากไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร เรามีวิธีง่ายๆ มาแนะนำค่ะ

วัคซีนหญิงตั้งครรภ์ ตั้งแต่ก่อนท้อง-หลังคลอด ควรฉีดอะไรบ้าง เมื่อไหร่ดี?

“ก่อนท้องต้องฉีด”

วัคซีนสำหรับแม่ท้องมีหลายชนิด ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคภัยต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของลูกและสุขภาพของแม่ แต่ก็มีบางชนิดที่ห้ามฉีดระหว่างตั้งครรภ์เพราะอาจมีผลข้างเคียงต่อลูกน้อยได้

สำหรับวัคซีนที่ต้องฉีดก่อนท้อง ได้แก่

โดยอันดับแรก คุณแม่ต้องไปตรวจที่โรงพยาบาลด้วยตัวเองก่อนว่า ตัวเองมีภูมิคุ้มกันของโรคเหล่านี้หรือไม่ หากยังไม่มีก็ควรจะฉีด ที่สำคัญคือต้องคุมกำเนิดหลังฉีดอีก 1 เดือนก่อน จึงจะตั้งครรภ์ได้

1. วัคซีนหัดเยอรมัน

ถ้ามีการติดเชื้อ คุณแม่จะมีอาการคล้ายไข้หวัดและมีผื่นขึ้นร่วมด้วย หากติดเชื้อในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ อาจส่งผลให้ลูกน้อยมีความผิดปกติ อวัยวะพิการ เช่น หัวใจ สมอง หู ตา แขนและขา เป็นต้น (วัคซีนหัดเยอรมันนี้จะมีวัคซีนหัดและคางทูมรวมอยู่ด้วยในเข็มเดียวกัน)

2. วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี

ไวรัสตับอักเสบบีเป็นไวรัสที่ติดจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น เลือด น้ำลาย น้ำมูก อสุจิ เป็นต้น ซึ่งสามารถติดจากแม่สู่ลูกได้ ลักษณะอาการของโรคจะแตกต่างกันไป บางคนไม่มีอาการจึงเรียกว่าเป็นพาหะ บางคนมีอาการรุนแรง เช่น ตาเหลือง ตัวเหลือง อ่อนเพลีย ตับอักเสบ หรือเสียชีวิต นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งตับในอนาคตอีกด้วย

3. วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส

การติดเชื้อระหว่างการตั้งครรภ์ในช่วง 20 สัปดาห์แรก เป็นสาเหตุทำให้เกิดความพิการของลูกน้อยในครรภ์ เช่น ศีรษะผิดปกติ ตาบอด แขนขาผิดปกติ เป็นต้น

นอกจากวัคซีนทั้ง 3 ชนิดที่กล่าวมานี้ ยังมีอีกชนิดหนึ่งที่ปัจจุบันนิยมฉีดกันมากคือ วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (จำนวน 3 เข็ม) ซึ่งควรฉีดก่อนตั้งครรภ์เช่นกัน แต่หากฉีดอยู่แล้วและเกิดการตั้งครรภ์ ก็ควรหยุดฉีดเช่นกัน แล้วค่อยฉีดต่อหลังคลอด

Q&A

Q. หากตอนท้องไม่ได้ฉีดวัคซีนทั้งสามชนิดนี้ จะทำอย่างไรดี

หากคุณแม่ไม่ได้รับวัคซีนเหล่านี้ ต้องดูแลสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรงและระมัดระวังเป็นพิเศษ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนพลุกพล่านหรือสถานที่ที่มีเด็กๆ จำนวนมาก เช่น เนิร์สเซอรี่ โรงเรียน เป็นต้น และไม่อยู่ใกล้คนเป็นหวัด หากมีอาการผิดปกติ ต้องรีบมาพบแพทย์ทันที

Q. หากคุณแม่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี จะช่วยป้องกันไม่ให้ลูกติดได้อย่างไร

หลังคลอดไม่เกิน 12 ชั่วโมง คุณหมอจะฉีดวัคซีนและภูมิต้านทานให้กับลูกน้อย เพื่อช่วยเร่งภูมิ ทำให้ลูกน้อยมีโอกาสติดเชื้อน้อยลง

Q. หากฉีดวัคซีน โดยไม่รู้ว่าตั้งครรภ์แล้วจะเป็นอันตรายหรือไม่           

จากการศึกษายังไม่พบว่าเป็นอันตรายต่อลูกในท้องจนต้องยุติการตั้งครรภ์ เพียงแต่คุณหมอจะเฝ้าระวังและติดตามอาการเป็นพิเศษ ในกรณีที่คุณแม่ฉีดวัคซีนไปแล้วแต่ยังไม่ครบจำนวนเข็ม และเกิดการตั้งครรภ์ คุณแม่สามารถมาฉีดต่อหลังคลอดได้โดยไม่ต้องเริ่มฉีดใหม่

“ระหว่างอุ้มท้องเจ้าตัวน้อย”

ระหว่างที่ตั้งท้อง มีวัคซีนเด่นๆ ที่แม่ท้องต้องฉีดเช่นกัน วัคซีนสำหรับแม่ท้องเหล่านี้มีความปลอดภัยต่อแม่และลูกสูง ได้แก่

1. วัคซีนไข้หวัดใหญ่

การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในคุณแม่ท้อง จะมีความรุนแรงกว่าปกติ และส่งผลถึงลูกน้อยด้วย การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ นอกจากจะช่วยป้องกันแม่แล้ว ยังส่งภูมิคุ้มกันนี้ให้ลูกน้อยหลังคลอดได้อีก 6 เดือนเลยทีเดียว

2. วัคซีนป้องกันบาดทะยัก

ถึงแม้การคลอดในปัจจุบันจะมีความก้าวหน้าและเครื่องมือที่ทันสมัย แต่ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อบาดทะยักได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกัน ในกรณีที่คุณแม่เคยฉีดไปแล้วหรือมีภูมิอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องฉีดซ้ำ หรือหากเคยฉีดครบ 3 เข็ม แต่เกิน 10 ปี อาจต้องฉีดหนึ่งเข็มเพื่อกระตุ้นภูมิ

3. วัคซีนคอตีบ ไอกรน

โรคคอตีบและไอกรน เป็นโรคที่ติดจากการจาม ไอ ผ่านระบบทางเดินหายใจ และมักก่อโรครุนแรงในเด็กจนถึงเสียชีวิตได้ โรคนี้เคยหายไป แต่ปัจจุบันพบการระบาดใหม่อีกครั้ง จึงมีการแนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิดนี้เพิ่มเติม โดยเฉพาะในแม่ท้อง ปกติจะฉีดวัคซีนกันบาดทะยัก 3 เข็ม สองเข็มแรกจะฉีดระหว่างท้อง ซึ่งในเข็มที่สองนี้จะเพิ่มวัคซีนคอตีบ ไอกรน เข้าไปด้วย

Q&A

Q. ฉีดวัคซีนในช่วงไตรมาสแรกได้หรือไม่

ก็อาจฉีดได้ แต่ไม่แนะนำ เพราะช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เป็นช่วงที่ลูกน้อยมีการเจริญโตของอวัยวะสำคัญต่างๆ ดังนั้นจึงมักหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนในช่วงนี้เพื่อลดความเสี่ยง และไปฉีดในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือ 3 มากกว่า

Q. การฉีดวัคซีนมีผลข้างเคียงร้ายแรงหรือไม่

วัคซีนเหล่านี้มีความปลอดภัย ผลข้างเคียงที่พบมีเพียงอาการเจ็บปวดบริเวณที่ฉีดเท่านั้น

“หลังคลอด”

สำหรับการฉีดวัคซีนหลังคลอด สามารถฉีดได้ทุกตัว และไม่มีผลต่อการให้นมลูก สำหรับวัคซีนที่แนะนำให้ฉีดก่อนออกจากโรงพยาบาล ได้แก่ วัคซีนหัด คางทูม หัดเยอรมัน วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส วัคซีนป้องกันไวรัสดับอักเสบบี ซึ่งเป็นวัคซีนสำหรับคุณแม่ที่ไม่ได้ฉีดก่อนท้องนั่นเอง

หากมีแผนจะมีลูกน้อยแล้ว อย่าลืมจูงมือกันไปฉีดวัคซีนเตรียมตัวกันไว้ก่อนนะคะ จะได้ไม่กังวลใจว่าคุณแม่และลูกน้อยจะไม่แข็งแรง แต่หากเกิดตั้งท้องแล้วยังไม่ได้ฉีด ก็อย่าเครียดไป แค่ดูแลตัวเองเพิ่มอีกนิดและทำตามที่คุณหมอแนะนำ เท่านี้ก็หายห่วงแล้วค่ะ

 

จากคอลัมน์ Pregnancy Focus นิตยสารเรียลพาเรนติ้ง ฉบับเดือนธันวาคม 2558

ขอขอบคุณข้อมูลจาก พญ. ลัลธพร พัฒนาวิจารย์ สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลราชวิถี และที่ปรึกษา About Us Advanced Maternity Center

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

ภาพ: Shutterstock