คุณแม่หลายคนคงเคยได้ยินกับปัญหาภาวะ รกค้างในมดลูกหลังคลอด และมีความกังวล อยากจะหาวิธีทำให้รกหลุดออกไป ซึ่งภาวะรกค้างคือการที่รกไม่หลุดออกมาหลังจากคลอดลูกน้อยแล้วภายใน 30 นาที โดยแบ่งเป็น รกไม่คลอดทั้งอัน และรกคลอดออกมาเพียงบางส่วนมีเศษตกค้าง
ถ้าคลอดลูกแล้ว รกไม่คลอดทั้งอัน รกจะเข้าไปขัดขวางการหดรัดตัวของมดลูก ทำให้เลือดออกมาจากมดลูกเพราะแผลที่เป็นรอยเกาะ เรียกว่า ตกเลือดหลังคลอด ซึ่งเป็นสาเหตุการตายของคุณแม่ได้ ส่วนรกที่ยังมีเศษตกค้างอยู่ในมดลูกบางส่วนอาจทำให้ติดเชื้อและทำให้เลือกออกผิดปกติทางช่องคลอดได้
ปัจจัยเสี่ยงภาวะรกค้าง
1.การผ่าคลอด ทำให้รกค้างในครรภ์ถัดไป จากรอยแผลผ่าตัด ทำให้รกมาเกาะบริเวณแผลลึกขึ้น
2.การแท้งที่ได้รับการขูดมดลูก ยิ่งขูดหลายครั้งยิ่งเสี่ยง ทำให้รกเกาะติดแน่นขึ้น และลึกขึ้นอย่างผิดปกติ
3.รกเกาะต่ำ เพราะบริเวณส่วนล่างมดลูกมีชั้นกล้ามเนื้อบางกว่าส่วนบน
4.มีรกน้อย คือมีรก 2 อัน อันหนึ่งใหญ่ปกติ อันหนึ่งเล็ก หลังคลอดรกใหญ่ออกมาแล้ว รกเล็กยังค้างอยู่
5.การแท้งติดเชื้อ ทำให้มีการอักเสบในโพรงมดลูก เนื้อเยื่อรกเปื่อยยุ่ย ฉีกขาดง่าย ไม่คลอดออกมาทั้งอัน
6.ออกแรงดึงรกมากเกินไป ขณะที่รกยังไม่ลอกตัว ทำให้รกบางส่วนขากดค้างในมดลูก
7.มีประวัติรกค้างในครรภ์มาก่อน
วิธีสังเกตตัวเองว่ามีรกค้างหรือไม่?
ถ้าหลังคลอดมีภาวะผิดปกติ เช่น เป็นไข้ น้ำคาวปลาไม่น้อยลง หรือไม่หมดภายใน 3 – 4 สัปดาห์ หรือมีกลิ่นเหม็น ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที
อ่านต่อ “วิธีการรักษา และการดูแลตัวเองของคุณแม่ที่เคยรกค้าง” คลิกหน้า 2
วิธีการรักษา
หลังคลอดลูกน้อยถ้าพบว่ามีภาวะรกค้าง ต้องรีบบอกคุณหมอทันที คุณหมอจะเอารกที่ค้างออก โดยสวมถุงยางมือแล้วล้วงเอารกออกมาเมื่อหลังคลอด เพื่อลดโอกาสตกเลือดหลังคลอด
แต่ถ้ารกค้างเป็นบางส่วน คุณแม่มักจะมีอาการอักเสบร่วมด้วย ต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ รวมทั้งขูดมดลูกเพื่อเอารกที่ค้างออก โดยภาวะรกค้างสามารถเกิดขึ้นซ้ำได้ เพราะการขูดมดลูกอาจทำให้เกิดแผล ทำให้รกเกาะแน่นขึ้น
คุณแม่ที่เคยมีรกค้างควรรอนานเท่าไหร่ถึงจะตั้งครรภ์อีก?
การตั้งครรภ์ของคุณแม่ที่มีรกค้างไม่มีข้อกำหนดชัดเจน แต่โดยทั่วไปจะแนะนำให้มีลูกห่างกันประมาณ 2-3 ปี เพื่อให้มีเวลาเลี้ยงลูกแต่ละคนได้อย่างเต็มที่
คุณแม่รกค้างดูแลตัวเองอย่างไร?
คุณแม่ควรไปฝากครรภ์ตามปกติเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ และบอกคุณหมอว่าเคยมีปัญหารกค้าง คุณหมอจะได้เตรียมตัว วางแผนการดูแลเพราะเหตุการณ์มักเกิดซ้ำ และรุนแรงขึ้น คุณหมออาจตรวจเพิ่มเติมถ้ามีปัญหารกเกาะต่ำ เพราะถ้ามีภาวะนี้จะอันตรายมาก ทำให้เลือดออกมากจนอาจทำให้เสียชีวิตได้ การรักษาจะเป็นการผ่าตัด และอาจจะต้องตัดมดลูกโดยไม่ล้วงรกออกมาเลย
อ่านเพิ่มเติมคลิก “รกต่ำ อันตราย!!”