AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เรื่องปากต่อปากของแม่ท้อง เชื่อหรือไม่เชื่อดีนะ? (ไตรมาส 3)

“ความเชื่อเกี่ยวกับการตั้งครรภ์” เรื่องไม่เล็กไม่ใหญ่ ดูเหมือนไม่สำคัญ แต่กลับยิ่งเข้าหูเมื่อตั้งครรภ์ เพราะหลักใหญ่ใจความของเรื่องว่ากันว่า ปากต่อปากกันนั้นมุ่งหวังให้ทั้งแม่ท้องและลูกน้อยสุขภาพดี มาต่อกันที่ไตรมาสสุดท้ายค่ะว่ามีอะไรบ้าง

ไตรมาสสาม ชวนฉงนทั้งก่อนคลอดและหลังคลอด

1. ว่ากันว่า “อย่านอนหงาย รกจะติดหลัง คลอดยาก”

คุณหมอณัฐฐิณีฝากบอกให้คุณแม่คลายกังวลว่าการนอนหงายไม่ทำให้รกติดหลังค่ะ และท่านอนไม่เกี่ยวกับตำแหน่งรกแต่อย่างใด ตำแหน่งของรกนั้นอยู่ตรงไหนก็ตรงนั้นไม่เปลี่ยน และไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหนก็คลอดได้ปกติ ไม่เกี่ยวกับท่านอน การอัลตราซาวนด์จะทำให้รู้ตำแหน่งของรกว่าอยู่ส่วนไหน ยกเว้นกรณีรกเกาะต่ำซึ่งจะค่อนมาใกล้ปากมดลูกถือเป็นภาวะเสี่ยง ถ้าตรวจพบว่ารกเกาะต่ำ คุณหมอจะแนะนำให้คุณแม่นอนพักผ่อน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

“เพียงแต่การนอนหงายเมื่อครรภ์มีขนาดใหญ่ขึ้น อาจไปกดทับเส้นเลือดดำทำให้เลือดเวียนกลับมาเลี้ยงหัวใจน้อยลง เลือดที่จะส่งกลับไปเลี้ยงมดลูกก็น้อยลงไปด้วย จึงแนะนำให้ในไตรมาสสามนี้ คุณแม่ควรนอนตะแคงซ้ายหรือขวาดีกว่าค่ะ”

2. ว่ากันว่า “ใกล้คลอดแล้ว น้ำนมไม่ไหล แสดงว่าฉันต้องเป็นแม่น้ำนมน้อย ชัวร์!”

ไม่เกี่ยวกันค่ะ นมแม่มาจากฮอร์โมนโปรแลคติน (prolactin) ในร่างกายของแม่ทำหน้าที่กระตุ้นเซลล์สร้างน้ำนม ส่วนการไหลของน้ำนม ต้องอาศัยฮอร์โมนออกซิโตซิน (oxytocin) เป็นตัวกระตุ้นให้เต้านมหลั่งน้ำนม ซึ่งฮอร์โมนทั้งสองตัวนี้ในคุณแม่แต่ละคนก็มีการหลั่งช้าเร็วแตกต่างกันไป บางคนมีน้ำนมไหลตอนใกล้คลอด ขณะที่บางคนเริ่มมีน้ำนมไหลหลังคลอดออกมาแล้ว สิ่งที่คุณแม่ควรเข้าใจคือ ยิ่งลูกน้อยดูดนมมากเท่าไหร่ ฮอร์โมนออกซิโตซินจะยิ่งกระตุ้นให้การไหลของน้ำนมดีขึ้นมากเท่านั้นค่ะ

3. ว่ากันว่า “ทำหมันแล้วจะสุขภาพไม่ดี สมรรถภาพทางเพศเสื่อมลง!”

การวางแผนครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ แต่หลังคลอดคุณแม่หลายคนยังกังวลเกี่ยวกับการคุมกำเนิด กรณีทำหมัน คุณหมออธิบายว่า การทำหมันแบบถาวร คือ การตัดส่วนหนึ่งของท่อนำไข่ไปเพียงเล็กน้อย ไม่กระทบกับส่วนอื่นๆ จึงไม่มีผลทำให้สุขภาพแย่ลง แต่มีข้อดีที่ไม่ต้องกินฮอร์โมน ถือเป็นวิธีที่สะดวกสบายและมีประสิทธิภาพมากที่สุด โอกาสท้องหลังทำหมันก็ต่ำ

กรณีกินหรือฉีดฮอร์โมนคุมกำเนิด หลายคนเข้าใจผิดว่าหลังฉีดยาแล้ว ประจำเดือนไม่มา ทำให้มดลูกแห้งนั้น คุณหมอขยายความว่า “ยาคุมกำเนิดไม่ว่าชนิดใดทำหน้าที่ยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน ไข่ไม่ตกจึงไม่มีประจำเดือน เมื่อใดหยุดยา รอให้ร่างกายปรับตัว ประจำเดือนจะมาปกติ ก็สามารถตั้งครรภ์ได้ ไม่ได้ทำให้มดลูกแห้ง การกินยาคุมต่างจากยาฉีดตรงที่ยากิน คุณแม่มีโอกาสลืมได้ ส่วนการฉีดยาคุมกำเนิดจะคุมได้เป็นระยะยาวกว่า คือ 3 เดือนหรือ 6 เดือน เป็นตัวเลือกที่สะดวกขึ้นค่ะ”

รู้หรือไม่! หลังคลอดแม่ท้องยิ่งขยับ สุขภาพยิ่งดี

ถ้ามีเสียงบอกว่า หลังคลอดอย่าเดินมาก หรืออย่าขึ้นลงบันไดมากๆ แผลจะปริ กระเทือนมดลูก คุณหมอฝากบอกว่า

“การคลอดไม่ได้เป็นภาวะการเจ็บป่วย หลังคลอดจึงแนะนำให้คุณแม่เคลื่อนไหวขยับตัวไปมา ใช้ชีวิตตามปกติ ซึ่งจะช่วยให้เลือดไหลเวียน ช่วยสมานแผลอวัยวะภายใน หากคลอดเอง การสมานแผลจะเร็วขึ้น แผลภายในจะหายเร็วกว่าแผลข้างนอก   ส่วนการผ่าท้องคลอดมักให้คุณแม่นอนพักหลังคลอด 1 – 2 วัน จากนั้นคุณหมอสนับสนุนให้คุณแม่หลังคลอดเดิน ขึ้นลงบันไดทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ ได้เหมือนเดิม โดยเฉพาะคุณแม่ที่ผ่าคลอด การเดินจะช่วยให้พังผืดเกิดน้อยลงอีกด้วยค่ะ”

 

อ่านเพิ่มเติม ไตรมาส 1 | ไตรมาส 2

ขอขอบคุณข้อมูลจาก พญ.ณัฐฐิณี ศรีสันติโรจน์ สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลราชวิถี และที่ปรึกษา About Us Advanced Maternity Center

บทความโดย : กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

ภาพ : Shutterstock