AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

หมอสูติฯตอบ! คลอดลูก “แบบผ่ากับคลอดเอง” อะไรดีกว่ากัน?

คลอดลูก "แบบธรรมชาติ หรือ ผ่าคลอด" อย่างไหนดีกว่ากัน? [เรื่องจริงจากหมอสูติฯ]

คลอดลูกคลอดเองกับผ่าคลอด” อย่างไหนดีกว่ากัน? ตามมาฟังเรื่องเล่าจากหมอสูติฯ เมื่อหมอที่กำลังตั้งท้อง ต้องทำคลอดคนไข้ และตัวเองก็ถึงกำหนดคลอด คุณหมอจะเลือกคลอดลูกของตัวเองแบบไหน?

คลอดลูก “แบบธรรมชาติ หรือ ผ่าคลอด” อย่างไหนดีกว่ากัน?
[เรื่องจริงจากหมอสูติฯ]

คำถามยอดฮิตที่คนไข้ท้องถามหมอสูติ หนีไม่พ้นคำถามที่ว่า “คลอดเองตามธรรมชาติหรือผ่าตัดคลอด อย่างไหนจะดีกว่ากัน” >> คำตอบทางวิชาการ คงเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า คลอดตามธรรมชาติดีกว่าหลายอย่าง แผลหายเร็วกว่า มดลูกเข้าอู่เร็ว แม่ให้นมลูกได้ ไม่มีแผลผ่าตัดหน้าท้อง ไม่มีพังผืดในท้อง มีลูกได้หลายคน ลูกแข็งแรงกว่า แต่คลอดเอง ก็อาจเจ็บปวด ใช้เวลานาน กำหนดเวลาไม่ได้ มีแผลที่ช่องคลอด หากมีข้อบ่งชี้ เช่น เชิงกรานแคบ ทารกผิดท่า ตกเลือด ทารกหัวใจเต้นช้า ฯลฯ ต้องผ่าท้องคลอดลูกจึงจะปลอดภัย

นอกจากเหตุผลทางวิชาการแล้ว ก็เป็นเหตุผลจากประสบการณ์การคลอดของหมอสูติเอง

หมอสุมิตรา (ชื่อสมมุติ) เป็นหมอที่ตั้งครรภ์ ขณะที่เป็นแพทย์ประจำบ้าน ซึ่งต้องทำงานหนัก เพื่อสอบเอาวุฒิบัตรสูติ-นรีเวช

เธอได้รับเลือกเข้ามาเป็นแพทย์ประจำบ้านแผนกสูติ-นรีเวช ของสถาบันที่มีชื่อเสียงแห่งนี้ ซึ่งมีอัตราการแข่งขันสูงมาก ที่ได้รับเลือกเพราะเธอเป็นลูกศิษย์ของสถาบันแห่งนี้ จบแพทยศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 1

อ่านต่อ “ความเหนื่อยยากเมื่อต้องตั้งครรภ์ในช่วงงานหนัก” หน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ในช่วงการปฏิบัติงานเป็นแพทย์ประจำบ้านหมอทุกคนทำงานหนักมาก ต้องตื่นแต่เช้าดูแลคนไข้ ต้องเข้าผ่าตัดเช้าจรดเย็น ไม่มีพักกลางวัน มื้อกลางวันฝากคนงานห้องผ่าตัดให้ช่วยซื้ออาหารมาให้ รีบกินเพื่อเข้าผ่าตัดรายต่อไป กลางคืนอยู่เวรถึงเช้า เช้ามาทำงานต่อ โดยเฉพาะช่วงอยู่ห้องคลอด ต้องเฝ้าคลอด บางครั้งต้องรวบยอดกินตอนเย็น บางครั้งขณะเฝ้าคลอด ทารกในครรภ์หัวใจเต้นช้า อาจจะเสียชีวิต หมอต้องรีบช่วยเหลือให้เร็วที่สุด เรียกว่าหัวใจแทบจะหยุดเต้นตามเด็กในครรภ์ทีเดียว บางครั้งขณะคลอดธรรมชาติ คลอดยากต้องใช้เครื่องมือช่วยคลอด หมอก็ต้องใช้แรง เพื่อดึงเด็กทารกออกมาให้ทันเวลา บางครั้งผ่าตัดคลอด คนไข้เกิดตกเลือด หมอผู้ผ่าตัดก็ต้องเร่งมือห้ามเลือดสุดชีวิตมิฉะนั้นคนไข้จะเสียชีวิต เป็นความเหนื่อย เครียด ชนิดที่คนที่ไม่เผชิญจะไม่เข้าใจ

ตอนเป็นแพทย์ประจำบ้าน หมอสุมิตราทำงานดีเด่นมาก ขยัน รับผิดชอบ มีความรู้ดี เป็นหัวหน้าชั้นปี เธอเป็นความหวังของสถาบัน ที่จะสอบได้เป็นอันดับหนึ่งของประเทศเมื่อเป็นแพทย์ประจำบ้านปีที่ 2 เธอมีปัญหาเรื่องฮอร์โมน เมื่อรับประทานยารักษาฮอร์โมน เธอตั้งครรภ์ ทั้งที่เดิมไม่คุมกำเนิดก็ไม่เคยท้อง อาจารย์แผนกสูติ-นรีเวช ไม่มีใครอยากให้แพทย์ประจำบ้านท้อง เพราะไม่คล่องตัวในการทำงาน หมอสุมิตราเองก็รู้ เมื่อเธอท้อง เธอพยายามทำงานหนักเท่าเดิม ทำตัวเหมือนคนไม่ท้อง ไม่ได้นอนหลับพักผ่อนเหมือนหมอคนอื่นๆ การตั้งครรภ์จึงเกิดปัญหามากมาย เริ่มด้วยจะแท้ง มีเลือดออก ต้องฉีดยากันแท้ง ในคนไข้ทั่วไปต้องหยุดงาน นอนพักผ่อน จนกว่าเลือดจะหยุด แต่หมอสุมิตราไม่ได้หยุดงาน

ต่อมาเธอมีอาการจะคลอดก่อนกำหนด ต้องให้ยาห้ามคลอด ความเครียด ความเหนื่อย การไม่ได้กิน ไม่ได้นอน ทำให้เด็กในครรภ์ไม่เจริญเติบโต ตามมาด้วยอาการครรภ์เป็นพิษ หมอสุมิตราบวมทั้งแขนขาใบหน้า ความดันโลหิตสูง ทั้งๆที่ตั้งใจจะคลอดเองตามธรรมชาติ แต่เมื่ออายุครรภ์ 35 สัปดาห์ ทารกหยุดเจริญเติบโต ต้องรีบผ่าคลอดมิฉะนั้นจะเสียชีวิตหลังจากจบไปทำงานเป็นหมอสูติ หมอสุมิตรามีลูกอีกสองคน ผ่าตัดคลอดทั้งหมด

เรียกว่าการผ่าคลอด ช่วยชีวิตลูกในท้องของเธอ ดังนั้นหากถามหมอสุมิตราผู้เคยผ่าคลอด แม้หมอจะบอกว่าคลอดธรรมชาติดีกว่า แต่หมอจะคุ้นเคย มีประสบการณ์กับการผ่าตัดคลอดมากกว่า ทั้งรู้สึกว่าสะดวกดีกำหนดวันผ่าตัดคลอดได้ ตัวเธอเองก็ไม่เคยประสบปัญหาจากการผ่าตัด

อ่านต่อ “ประสบการณ์ตั้งครรภ์ของหมอสูติฯ ผู้แท้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า” หน้า 3

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ส่วนหมอเปรมใจ (ชื่อสมมุติ) เรียนจบเป็นหมอสูติแล้วจึงแต่งงาน เธอมาทำงานโรงพยาบาลในต่างจังหวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีหมอสูติแค่ 2 คน นอกจากต้องทำงานในเวลาราชการแล้ว กลางคืนต้องอยู่เวรวันเว้นวัน

หมอเปรมใจแต่งงานนาน 1 ปีจึงท้อง เพราะมีความรู้ ท้องแรก เธอสังเกตว่าตนเองไม่แพ้ท้องเลย ซึ่งแสดงว่าฮอร์โมนของการตั้งครรภ์น่าจะต่ำ  ผลการตรวจอัลตร้าซาวนด์ ตอนท้อง6 สัปดาห์ พบว่าเธอตั้งครรภ์ไข่ลม มีแต่ถุงการตั้งครรภ์ไม่มีเด็ก ซึ่งตามธรรมชาติต้องแท้ง เธอใจเย็นมาก ไม่โวยวาย ไม่เสียใจ หลังจากที่รู้ว่าท้องไข่ลม ต้องแท้งแน่ๆ เธอรอให้แท้งเอง นานถึง 1 เดือนเศษ ก็แท้งเองครบ ไม่ต้องขูดมดลูก เธอเป็นตัวอย่างให้หมอสูติคนอื่นๆเห็นว่าการรอให้แท้งเองในตั้งครรภ์ไข่ลม ไม่มีอันตรายใดๆ หลังจากนั้นหมอเปรมใจปล่อยให้ท้องอีก ท้องที่สอง ท้องได้ 8 สัปดาห์ ทารกตายในครรภ์ หมอเปรมใจยังคงใจเย็น รอนาน 1 เดือน ก็แท้งเองตามธรรมชาติ แท้งครบไม่ต้องขูดมดลูก เธอไปตรวจหาสาเหตุการแท้ง พบว่าตนเองมีกลุ่มอาการภูมิต้านทานผิดปกติ (Antiphospholipid syndrome) จึงรับประทานยาต้านเกล็ดเลือด ต่อมาจึงท้องที่ 3

เมื่อตั้งครรภ์ ขณะที่หมอสูติแนะนำให้คนไข้พักผ่อนตอนกลางวันอย่างน้อยครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง หมอเปรมใจไม่เคยได้พักผ่อน เมื่อท้องโตขึ้น เวลาเข้าห้องผ่าตัด ผ่าตัดคนไข้ เธอยืนข้างเตียงผ่าตัด เอาท้องวางไว้กับเตียงผ่าตัด หมอสูติผู้หญิงไม่ได้รับการยกเว้นอยู่เวร ไม่ว่าจะท้องแก่แค่ไหน ก็อยู่เวรทั้งคืน จนกว่าจะคลอด ในช่วงท้องแก่เป็นเรื่องลำบากมาก  หลายครั้งที่ต้องตื่นไปดูคนไข้คลอด หรือผ่าตัดคนไข้ เกิดอาการหน้ามืดเป็นลม ต้องนอนพักในห้องผ่าตัดนั่นเอง จนกว่ามีแรงจึงจะกลับบ้าน

ตอนหมอเปรมใจท้อง คุณแม่คุณพ่อของหมอเปรมใจซึ่งมีลูกสาวคนเดียว ห่วงหมอเปรมใจมาก ท่านทั้งสองซึ่งเกษียณอายุแล้ว เดินทางมาจากต่างจังหวัด มาอยู่หอพักด้วย มาช่วยดูแล ครั้งหนึ่งเห็นลูกสาวอยู่เวร โดนตามไปผ่าตัดแล้วไม่กลับหอพัก ก็โทรศัพท์ตามที่ห้องคลอด ห้องผ่าตัด พยาบาลบอกกลับหอพักแล้ว ท่านทั้งสองตกใจมาก รีบออกจากหอพักจะไปตามลูก จึงพบว่าหมอเปรมใจนั่งเอนอยู่ที่ตีนบันได เธอกลับมาจากการผ่าตัดคนไข้คลอดแต่เหนื่อยมาก เดินขึ้นบันไดไม่ได้ เลยนั่งรอที่ตีนบันได ในช่วงนั้นเธอท้องแก่มากแล้ว

เมื่อตั้งครรภ์ครบคลอด คืนหนึ่งหมอเปรมใจ ถูกตามมาดูคนไข้คลอดยาก เธอใช้คีมช่วยคลอดลูกของคนไข้ ขณะดึงคีม หมอเปรมใจล้ม ก้นจ้ำเบ้า เธอรู้สึกเจ็บครรภ์คลอด ทำคลอดเสร็จ เย็บแผลให้คนไข้ เธอนอนรอในห้องคลอด ร้องครางด้วยความปวดเหมือนคนไข้ทั่วไป คลอดลูกเองตามธรรมชาติ ในวันเดียวกับทำคลอดลูกให้คนไข้ หลังจากนั้นเธอมีลูกอีกสองคน คลอดเองตามธรรมชาติทุกคน

หากถามหมอเปรมใจ หมอซึ่งเป็นคนใจเย็น แข็งแรงอดทน คลอดง่าย ก็จะตอบว่าคลอดเองดี หายเร็ว เจ็บปวดก็พอทนได้ เพราะหมอเองก็เคยคลอดธรรมชาติมาก่อนถึงสามท้อง

สรุปแล้ว คลอดลูก ไม่ว่าจะเลือกวิธีคลอด แบบ คลอดธรรมชาติหรือผ่าตัดคลอด ก็ควรพิจารณาถึงความสะดวก สุขภาพร่างกายของคุณแม่ท้อง  ความตั้งใจของคุณแม่ (คุณแม่บางคนตั้งใจอยากคลอดเองมาก) รวมถึงการประเมินจากคุณหมอเจ้าของครรภ์ด้วย เพราะแม้คุณแม่ท้องหลายท่านจะอยากคลอดเอง แต่อาจมีหลายปัจจัยทำให้ต้องเลือกการผ่าตัดคลอด ดังเช่นคุณหมอสุมิตราในเรื่องนี้ค่ะ

เพราะไม่ว่าจะ ” คลอดลูก ” แบบไหน
ก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของชีวิตการเลี้ยงลูกอันแสนยาวไกล จริงไหมคะ 🙂

 

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก :

 

ขอบคุณเรื่องจาก  : พญ.ชัญวลี ศรีสุโข
สูตินรีแพทย์ ระดับนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หัวหน้าแผนกสูตินรีเวช โรงพยาบาลพิจิตร