AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ตั้งครรภ์ 5-6 สัปดาห์ และพัฒนาการทารกในครรภ์

หลังจากสัปดาห์ก่อน พัฒนาการ การตั้งครรภ์ ตั้งแต่เกิดการปฎิสนธิจนถึง 4 สัปดาห์  คุณแม่หลายคนอาจยังอยู่ในภาวะยังไม่แน่ใจ หรือยังไม่รู้ตัวได้ว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่ แต่ พัฒนาการ การตั้งครรภ์ 5-6 สัปดาห์ ช่วงนี้จะเริ่มมีสัญญาณบ่งบอกที่ชัดเจนขึ้น จนรู้สึกเอะใจว่าคราวนี้สงสัยจะท้องชัวร์แน่ๆ แต่จะมีสัญญาณอะไร และพัฒนาการทารกในครรภ์อย่างไรบ้าง มาสำรวจกันค่ะ

พัฒนาการ การตั้งครรภ์ 5-6 สัปดาห์

อาการคนท้อง 5-6 สัปดาห์

เหนื่อยล้า จู่ๆ ก็มีอาการเหนื่อยล้าทั้งกายและใจ อ่อนเพลียหรือหมดแรงง่าย ง่วงนอนตลอดเวลา

คลื่นไส้ ส่วนมากมักจะมีอาการนี้เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 6 ของการตั้งครรภ์ แต่ก็มีไม่น้อยทีเดียวที่มีอาการก่อน โชคร้ายหน่อยอาจคลื่นไส้ทั้งเช้า กลางวัน แต่บางคนก็โชคดีที่ไม่มีอาการนี้เลยจนคลอด

ปัสสาวะบ่อย เดี๋ยวก็ต้องลุกเข้าห้องน้ำอีกแล้ว ทั้งที่เพิ่งปัสสาวะไปเมื่อกี้นี้ หรือต้องลุกเข้าห้องน้ำทั้งคืนจนไม่ได้หลับได้นอน

วิงเวียน หน้ามืดง่าย อาจรู้สึกวิงเวียนศีรษะบ่อยๆ อย่างไม่มีสาเหตุ บางครั้งก็รู้สึกหน้ามืดร่วมด้วย

จมูกไว พักนี้รู้สึกเหมือนเป็นยอดมนุษย์ ได้กลิ่นอะไรต่อมิอะไรไวไปหมด แถมกลิ่นที่เคยชอบกลับชวนให้เวียนหัว เช่น น้ำหอม ดอกไม้ สบู่ แป้ง หรือแม้กระทั่งกลิ่นสามี

เจ็บหน้าอก รู้สึกเจ็บหน้าอกตลอดเวลา แถมอ่อนไหวง่าย โดนนิดหน่อยก็เจ็บแปลบทันที หน้าอกมีขนาดใหญ่และหนักขึ้น หรือหัวนมมีสีเข้มขึ้น

อยากอาหาร เริ่มอยากกินโน่นนี่ กินเท่าไรก็ไม่อิ่ม อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

อารมณ์แปรปรวน รู้สึกหงุดหงิดง่าย ใครทำอะไรก็ขวางหูขวางตา หรือเหวี่ยงวีนขึ้นมาจนบางทีตัวเองก็ตกใจ มีสาเหตุมาจากฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นและความรู้สึกที่สับสนปะกันกัน ระหว่างความสุข ความตื่นเต้นหรือกังวลต่างๆ คุณแม่จึงควรพยายามพักผ่อนให้มาก ไม่เครียด ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย เพราะหากคุณแม่เครียดกังวลร่างกายเหนื่อยล้า จะทำให้เกิดอาการแพ้ท้องได้มากยิ่งขึ้น

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของแม่ท้องสัปดาห์ที่ 3-4 คลิกหน้า 2

การเปลี่ยนแปลงของแม่ท้อง สัปดาห์ที่ 3-4

อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น หากใครที่ตั้งใจให้ตั้งครรภ์มักจะมีการวัดอุณหภมิร่างกายไว้ หรือเรียกสั้นๆว่า BBT ย่อมาจาก  Basal Body Temperature โดยมักจะทำการวัดอุณหภูมิช่วงตื่นนอนตอนเช้า เพื่อหาวันไข่ตก ซึ่งอุณหภูมิตัวนี้มักจะสูงขึ้นตั้งแต่วันไข่ตกไปจนถึงหลังจากมีประจำเดือนไปแล้ว 2 สัปดาห์ หากอุณหภูมิยังคงสูงอยู่เกิน 2 สัปดาห์ อาจแสดงว่ากำลังตั้งครรภ์

ประจำเดือนยังไม่มา ถือเป็นสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดว่ากำลังตั้งครรภ์หรือไม่ หากทุกครั้งประจำเดือนมาค่อนข้างปกติ แต่ครั้งนี้กลับไม่มาเสียทีจนน่าเอะใจ ก็คงต้องออกไปหาซื้อชุดทดสอบการตั้งครรภ์มาตรวจรอลุ้นผลกันแล้วล่ะ

ยังมีอาการอื่นๆ อีกที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ปวดหัว ปวดหลังช่วงล่าง ท้องผูก ท้องอืด  ปวดบีบๆ บริเวณท้องน้อย หายใจหอบ เป็นต้น อาการเบื้องต้นที่กล่าวมา ถืออาการปกติของคนท้องและจะค่อยๆ หายไปได้เองเมื่อเริ่มเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 หรือประมาณ 14-27 สัปดาห์ ซึ่งสาเหตุล้วนเกิดจากฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงและทำงานอย่างขะมักเขม้นเพื่อรองรับลูกน้อยให้เติบโตอย่างสมบูรณ์และแข็งแรง

นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีก

มดลูก มดลูกของคุณแม่เตรียมสภาพแวดล้อมให้พร้อมรองรับลูกน้อย ด้วยการเพิ่มการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเทอโรนให้มากขึ้น จึงทำให้เกิดอาการของคนท้องต่างๆ ทั้งแพ้ท้อง คลื่นไส้ อารมณ์แปรปรวน เจ็บหน้าอกและอื่นๆ  นอกจากนี้มดลูกจะเริ่มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ตัวอ่อนมีการฝังตัว โดยผนังมดลูกจะมีความนุ่มขึ้นเพื่อรองรับการฝังตัวของตัวอ่อน

รังไข่ หลังจากที่ลูกน้อยซึ่งเป็นตัวอ่อนฝังตัวในเยื่อบุโพรงมดลูกแล้ว ถุงน้ำในรังไข่จะสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพื่อดูแลครรภ์ ซึ่งการทำงานนี้เองเป็นสาเหตุทำให้รังไข่หยุดผลิตไข่ในรอบต่อมา จึงเป็นสาเหตุทำให้คุณแม่ไม่มีประจำเดือน

ปากมดลูก ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มมากขึ้น จะทำให้คุณแม่มีมูกข้นเหนียวมาปิดปากมดลูกไว้ เพื่อป้องกันเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ตัวลูกน้อย ทำให้คุณแม่อาจจะรู้สึกได้ว่ามีตกขาวมากขึ้น รวมถึงปากมดลูกของคุณแม่จะนุ่มและบางลง

เตือนคุณแม่ ! คุณแม่ควรงด ละ เลิก หลีกเลี่ยง แอลกอฮอลล์ บุหรี่ ยาบางชนิด หรือสารเคมีใดๆ ที่ผลต่อลูกน้อยโดยเด็ดขาดและทันที เพราะพัฒนาการทารกในครรภ์ช่วง 3 เดือนแรก เป็นช่วงเวลาสำคัญของการพัฒนาอวัยวะหลักต่างๆ ได้แก่ สมอง หัวใจ ศีรษะ กล้ามเนื้อ กระดูกและฟัน เนื้อเยื่อ ไขสันหลัง เพื่อลดการเกิดความผิดปกติต่างๆ และควรกินโฟเลตอย่างสม่ำเสมอ

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อ พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 5-6 สัปดาห์ คลิกหน้า 3

พัฒนาการทารกในครรภ์ 5-6 สัปดาห์

ถุงน้ำคร่ำและถุงไข่แดงจะพัฒนามากขึ้นในสัปดาห์ที่ 5-6 นี้ ถุงน้ำคร่ำจะช่วยปกป้องลูกน้อย ส่วนถุงไข่แดงจะทำหน้าที่สร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงและลำเลียงสารอาหารจากแม่มาสู่ลูกจนกว่ารกจะพัฒนาอย่างสมบูรณ์

การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ระยะแรกนี้ร่างกายและอวัยวะจะถูกพัฒนามาจากเซลล์พื้นฐาน 3 กลุ่ม ได้แก่

1.เซลล์ชั้นในสุด (Endoderm) จะพัฒนาไปเป็นอวัยวะภายในร่างกาย คือ ตับ ตับอ่อน ปอด ต่อมไทรอยด์ กระเพาะปัสสาวะ ท่อไต

2.เซลล์ชั้นกลาง (Mesoderm) จะเกิดการเปลี่ยนแปลง พัฒนาไปเป็นโครงกระดูก กล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อทั่วไป ม้าม หลอดเลือด เม็ดเลือดแดง เซลล์ผิวหนังชั้นในสุด และอวัยวะเพศ ทั้งอัณฑะ รังไข่

  1. เซลล์ชั้นนอก (Ectoderm) เซลล์กลุ่มนี้จะพัฒนาไปเป็นผิวหนัง เลนส์ตา ต่อมเหงื่อ เต้านม หัวนม ขน เล็บ และฟัน

ขนาดพัฒนาการทารกในครรภ์ในสัปดาห์ที่ 5-6 ลูกน้อยจะมีขนาดประมาณ 0.4 มิลลิเมตร (ขนาดประมาณเมล็ดแอ๊ปเปิ้ล) แต่เมื่อเติบโตจนถึงปลายสัปดาห์ที่ 6 ตัวอ่อนของลูกน้อยจะมีความยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร หนักไม่ถึง 1 กรัม และมีลักษณะตัวงอคล้ายกุ้ง และสามารถเริ่มแยกได้แล้วว่าส่วนไหนเป็นศีรษะ ลำตัว และแขนขา

แม้หัวใจของลูกน้อยจะมีขนาดเท่าเมล็ดแอปเปิ้ล แต่สามารถเต้นได้ 100-160 ครั้งต่อนาที (เต้นมากกว่าหัวใจของคุณแม่ถึง 2 เท่า) อวัยวะสำคัญต่างๆ เริ่มมีการสร้างเป็นรูปเป็นร่าง เช่น ปอด ลำไส้ ตับ รวมถึงตา หู จมูก ปาก ส่วนแขนขานั้นก็เริ่มยื่นออกมาจากลำตัวเป็นเพียงแท่งสั้นๆ ระบบไหลเวียนโลหิตก็เริ่มทำงานแล้วเช่นกัน ตอนนี้ลูกน้อยสามารถเคลื่อนไหวไปมาได้ แต่ก็เบามากจนคุณแม่ไม่รู้สึก

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อ บทความอื่นๆที่น่าสนใจ

ผ่าคลอด หรือ คลอดธรรมชาติ แบบไหนดีกว่ากัน?

9 สมุนไพรอันตรายที่แม่ท้องต้องระวัง !!

เตือนจากแม่ถึงแม่!! ลูกแพ้อาหาร เพราะแม่ท้องโด๊ปอาหารกลุ่มเสี่ยงมากเกินไป