พัฒนาการ การตั้งครรภ์ 39-40 สัปดาห์ ถือเป็นสัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์แล้ว คุณแม่คงจะทั้งตื่นเต้นที่ได้เห็นหน้าลูกและกังวลใจเรื่องการคลอดไปพร้อมกัน แต่อย่ากังวลใจไปค่ะ มาดูว่าในช่วงนี้จะมีสัญญาณที่บอกเรื่องการคลอดอะไรบ้าง เพื่อให้คุณแม่ได้เตรียมพร้อมรับมือได้อย่างดีที่สุด
พัฒนาการ การตั้งครรภ์ 39-40 สัปดาห์
อาการคนท้อง 39-40 สัปดาห์
-
สัญญาณบอกเตรียมคลอด
ช่วงนี้เป็นโค้งสุดท้ายของการตั้งครรภ์ของคุณแม่จริงๆ ค่ะ เพราะเป็นช่วงเวลาทองที่ลูกน้อยพร้อมจะคลอดเมื่อไรก็ได้ ซึ่งจะมีสัญญาณต่างๆบ่งบอกล่วงหน้า สัญญาณที่ว่านี้มีอะไรบ้างนะ
-
มูกเลือดออกจากช่องคลอด
คุณแม่อาจพบว่ามีหยดเลือดสีชมพู สีแดง หรือสีน้ำตาล ไหลออกมาจากช่องคลอด ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าใกล้คลอดในอีกไม่กี่ชั่วโมง ไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์นี้แล้ว โดยปกติหากยังไม่ถึงเวลาคลอด ปากมดลูกจะยังไม่เปิดและมีมูกข้นเหนียวคอยปิดไว้เพื่อช่วยป้องกันเชื้อโรคเข้าไป แต่เมื่อใกล้คลอด ปากมดลูกจะบางลงและนิ่มขึ้น เส้นเลือดบริเวณนั้นจึงฉีกขาด ทำให้มูกข้นที่หลุดออกมามีเลือดปน
-
ท้องลด
เพราะลูกน้อยเคลื่อนที่ลงต่ำ โดยไปอยู่ในบริเวณเชิงกราน ทำให้ท้องของคุณแม่ที่ยื่นขึ้นย้อยต่ำลง ในท้องแรก ท้องมักจะย้อยต่ำลงในช่วงก่อนคลอด 2-4 สัปดาห์ แต่ในท้องที่สองพบว่า ท้องกลับไม่ย้อยต่ำลงเลยจนกว่าจะคลอด นั่นเพราะกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานของคุณแม่ขยายไปตั้งแต่ท้องแรก จึงไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวก่อนนั่นเอง
-
เจ็บจี๊ดเหมือนไฟช็อต
เมื่อลูกน้อยเคลื่อนต่ำลงมาบริเวณเชิงกราน ซึ่งเป็นจุดรวมของเส้นประสาทต่างๆ มากมาย จึงทำให้เกิดอาการเจ็บจี๊ดเหมือนไฟช็อตบริเวณอุ้งเชิงกรานลงไปถึงขา ซึ่งมักเกิดขึ้นก่อนคลอด 2 สัปดาห์ อีกทั้งยังทำให้ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น หรือทำให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ดได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ติดตาม อาการคนท้อง 39-40 สัปดาห์ คลิกต่อหน้า 2
-
ท้องเสีย
ร่างกายเริ่มหลั่งฮอร์โมนโพรสตากลาดินออกมา ฮอร์โมนตัวนี้จะกระตุ้นให้มดลูกเริ่มบีบตัวเพื่อคลอด รวมถึงช่วยให้ปากมดลูกบางและเปิดออกด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็ไปกระตุ้นให้เกิดการขับถ่ายบ่อยขึ้น
-
ปวดหลัง
เพราะลูกเคลื่อนตัวลงด้านล่าง ทำให้หลังส่วนล่างของคุณแม่ต้องแบกรับน้ำหนักมากขึ้น รวมถึงกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่ขยายตัวมากขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมคลอด ก็มีส่วนทำให้ปวดหลังมากขึ้น
-
น้ำคร่ำแตก
โดยส่วนมากน้ำคร่ำมักจะแตกหลังจากที่คุณแม่มีอาการเจ็บท้องคลอดแล้ว มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เกิดขึ้นก่อน และหากเกิดมีน้ำคร่ำแตก ควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ
-
เจ็บท้องคลอด
ก่อนหน้านี้คุณแม่จะเจอกับการเจ็บท้องหลอก คือการบีบตัวของมดลูกแบบไม่สม่ำเสมอและเกิดเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่การเจ็บท้องจริงนั้นจะแตกต่างออกไป คือ จะเจ็บถี่และมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น จาก 10 นาที ลดลงเหลือ 8 นาที หรือ 5 นาที เป็นต้น และแต่ละครั้งก็จะเจ็บนาน อาการอื่นๆ เช่น มีอาการท้องแข็ง รู้สึกปวดจากหลังมาหน้าท้อง เป็นต้น
-
หายใจสะดวกขึ้น
เพราะลูกเคลื่อนตัวต่ำลงไปใกล้เชิงกรานหรือที่เรียกว่าท้องลด แต่จะทำให้ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น
-
รู้สึกง่วงนอนกว่าเดิม
อาจเพราะร่างกายการพักผ่อนและออมแรงไว้สำหรับภารกิจสำคัญในการคลอดที่จะเกิดขึ้น
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
เตรียมของใช้ไปคลอด
เมื่อใกล้กำหนดคลอด แนะนำให้คุณแม่เตรียมอุปกรณ์ของใช้ในการเลี้ยงลูกน้อยไว้ให้พร้อม ทั้งผ้าอ้อม เครื่องนอน อุปกรณ์การให้นม อุปกรณ์การทำความสะอาดต่างๆ เพราะหลังคลอด คุณแม่และคุณพ่ออาจจะต้องไปหาซื้อกันอย่างฉุกละหุกค่ะ รวมทั้งควรจัดเตรียมอุปกรณ์ของใช้ล่วงหน้าก่อนไปคลอด ดังนี้
– เอกสารสำคัญต่างๆ เช่น ใบฝากครรภ์ บัตรประจำตัวโรงพยาบาล บัตรประชาชน เอกสารที่ต้องใช้เพื่อทำสูติบัตรลูก เบอร์โทรศัพท์สำคัญของคนในครอบครัว และเบอร์ฉุกเฉินต่างๆ
– เสื้อผ้าลูกน้อยตอนกลับบ้าน ทั้งผ้าอ้อม ผ้าห่อตัว เสื้อผ้า ถุงมือถุงเท้า หมวกเด็กอ่อน
– ของใช้ส่วนตัวคุณแม่ ทั้ง แปรงสีฟัน ยาสีฟัน เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ลิปมัน และอื่นๆ
ติดตาม พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 39-40 สัปดาห์ คลิกต่อหน้า 3
พัฒนาการทารกในครรภ์ 39-40 สัปดาห์
หนูสมบูรณ์เต็มที่พร้อมออกมาดูโลก…เพราะปอดของลูกน้อยมีการพัฒนาเต็มที่ มีการทำงานที่สมบูรณ์ พร้อมที่จะหายใจได้หลังคลอด รวมทั้งอวัยวะทุกส่วนก็มีการเจริญเติบโตเต็มที่ ลูกน้อยในครรภ์คุณแม่จึงมีลักษณะอ้วนกลมอยู่เต็มโพรงมดลูกของคุณแม่ กำลังนอนหดแขนขาคู้ตัวอยู่ และอยากออกมาพบคุณแม่แล้วค่ะ
ขนาด: ประมาณ 49-51 เซนติเมตร น้ำหนัก: 2,800-3,000 กรัม
- ฮอร์โมนจากรก จะช่วยเตรียมเต้านมคุณแม่ให้ผลิตน้ำนม ในขณะเดียวกันก็จะทำให้ลูกน้อยมีเต้านมและหัวนมที่เต่งตึงได้ด้วย แต่อาการเหล่านี้ของลูกน้อยจะหายไปได้เองใน 2-3 วัน
- ผมของลูกน้อยจะยาวขึ้นประมาณนิ้วกว่าๆ
- ไขที่ติดอยู่รอบตัวลูกเริ่มลอกออกแล้ว แต่อาจยังมีบางส่วนหลงเหลือให้เห็นได้หลังคลอด
- สมองของลูกยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีน้ำหนักสมองแรกเกิดประมาณ 400 กรัม (ประมาณ 25% ของสมองผู้ใหญ่)
- อวัยวะต่างๆ ของลูกน้อยพร้อมที่จะทำงานทันทีหลังคลอด
- ลูกน้อยแรกคลอดอาจดูเหมือนมีตัวเหี่ยวย่น จากการบีบรัดของช่องคลอดเวลาคลอด รวมถึงอวัยวะเพศอาจดูบวมใหญ่ แต่ผิวของลูกจะเต่งตึงขึ้น และอวัยวะเพศจะยุบลงได้เองภายใน 1-2 วัน
- ลูกน้อยเพศชายมักจะมีน้ำหนักมากกว่าเด็กผู้หญิงเล็กน้อย
อ่านบทความอื่นที่น่าสนใจ
ภาวะปกติ VS ไม่ปกติของ สะดือเด็กแรกเกิด
7 ปัญหาผดผื่นในเด็กแรกเกิด ที่พ่อแม่ควรรู้!
จัดกระเป๋าเตรียมคลอด และเตรียมของใช้เด็กแรกเกิด
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่