พัฒนาการ การตั้งครรภ์ 37-38 สัปดาห์ นี้ คุณแม่จะหายใจสะดวกขึ้นเพราะท้องลด รวมทั้งคุณหมออาจจะนัดคุณแม่เพื่อตรวจถี่ขึ้นด้วย ไปดูกันค่ะว่าคุณหมอจะนัดตรวจอะไร และลูกน้อยของแม่จะเตรียมพร้อมคลอดแล้วหรือยัง
พัฒนาการ การตั้งครรภ์ 37-38 สัปดาห์
อาการคนท้อง 37-38 สัปดาห์
-
ตรวจครรภ์ถี่ขึ้น
ตั้งแต่อายุครรภ์คุณแม่เข้าสู่ไตรมาสที่สาม คุณหมอมักจะนัดตรวจครรภ์ถี่ๆ ขึ้นทุก 1-2 สัปดาห์ โดยตรวจหาไข่ขาวในปัสสาวะ ตรวจวัดความดันโลหิต และติดตามอาการบวมต่างๆ เพื่อตรวจเช็กอาการครรภ์เป็นพิษ และความพร้อมก่อนคลอด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนหรืออันตรายต่างๆ รวมถึงตรวจว่าลูกน้อยในครรภ์มีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ มีน้ำหนักตัวที่เหมาะสมได้มาตรฐานหรือไม่ เพื่อช่วยในการวางแผนการคลอด ประเมินผลสุขภาพและติดตามดูแลลูกน้อยในครรภ์คุณแม่ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการคลอดคุณภาพ ที่จะทำให้คุณแม่และลูกน้อยแข็งแรงปลอดภัยมากที่สุด
-
ท้องลด
เมื่อลูกน้อยกลับตัว เอาศีรษะลงในอุ้งเชิงกรานคุณแม่แล้ว คุณแม่จะรู้สึกเบาสบายบริเวณลิ้นปี่ รู้สึกหายใจสะดวกขึ้น แต่คุณแม่บางคนอาจยังไม่มีอาการท้องลดในช่วงนี้ แต่ท้องจะไปลดในช่วงใกล้เจ็บครรภ์คลอดก็ได้ค่ะ
-
ขยันก่อนคลอด
อาการนี้อาจเกิดขึ้นได้กับคุณแม่บางท่าน เนื่องจากเห็นว่าช่วงนี้ยังพอมีเวลาที่จะจัดห้อง จัดบ้านเพราะกลัวว่าหลังคลอดจะไม่มีเวลาทำ จึงขยันทำงานบ้านได้ แต่ขอแนะนำว่าคุณแม่ควรงดการจัดบ้านและกิจกรรมงานเหล่านี้ แล้วเก็บออมแรงและพลังงานไว้เพื่อใช้ในการคลอดจะดีที่สุดค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ติดตาม อาการเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ รีบหาหมอด่วน คลิกต่อหน้า 2
รู้จักกับครรภ์เป็นพิษ
คุณแม่ท้องคงจะเคยได้ยินคำว่าครรภ์เป็นพิษกันมาบ้างแล้ว ยิ่งผ่านครึ่งหลังของไตรมาสที่สองเป็นต้นมา คงจะเริ่มได้ยินบ่อยขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นหนึ่งในภาวะอันตรายและเกิดขึ้นได้บ่อยที่สุด โดยสาเหตุของภาวะครรภ์เป็นพิษนี้ในปัจจุบันยังไม่มีระบุแน่ชัด ว่าเกิดจากอะไร แต่จากการศึกษาวิจัยต่างๆ สันนิษฐานว่าเกิดจากความผิดปกติในเซลล์ของรก ทำให้การไหลเวียนโลหิตระหว่างรกและมดลูกลดน้อยลงและไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของลูก ตลอดจนภาวะอื่นๆ ของคุณแม่เอง ซึ่งภาวะเสี่ยงของการเกิดครรภ์เป็นพิษ มีอะไรบ้าง มาดูกันค่ะ
- คุณแม่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไต โรคภูมิแพ้ตนเอง ภาวะเลือดจับตัวเป็นก้อน ฯลฯ
- มีพี่น้องใกล้ชิดเคยเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ (ญาติฝั่งมารดา ได้แก่ แม่ พี่สาว-น้องสาว ป้า-น้า ยาย)
- คุณแม่อายุน้อยกว่า 20 ปี หรือมากกว่า 35 ปี
- ตั้งครรภ์แรกหรือตั้งครรภ์หลัง กับสามีคนใหม่
- ตั้งครรภ์แฝด
- เคยเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษในครรภ์ก่อน
- อื่นๆ เช่น เครียดจัด ขาดสารอาหาร อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีพิษ ฯลฯ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
กรณีครรภ์เป็นพิษแบบไม่รุนแรง
หากคุณแม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษที่อายุครรภ์ยังไม่ถึง 37 สัปดาห์ มีอาการไม่รุนแรง และลูกแข็งแรงดี มักจะยังไม่ต้องทำคลอด แต่คุณหมอจะคอยติดตามผล และให้คุณแม่คอยวัดและบันทึกความดันโลหิตที่บ้านอย่างสม่ำเสมอ แต่หากคุณแม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษที่อายุครรภ์ 37 สัปดาห์หรือมากกว่า คุณหมออาจจะเร่งคลอด โดยเฉพาะกรณีที่ปากมดลูกเริ่มบางและเปิดบ้างแล้ว หรือหากเร่งคลอดแล้วไม่สามารถคลอดได้ คุณหมอจึงจะผ่าคลอด
กรณีครรภ์เป็นพิษแบบรุนแรง
เนื่องจากต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด คุณแม่จึงต้องนอนโรงพยาบาลจนกว่าจะคลอด และต้องได้รับยาเพื่อป้องกันการชัก และยาสำหรับลดความดันโลหิต หากคุณแม่มีอายุครรภ์ 34 สัปดาห์หรือมากกว่า อาจจะต้องเร่งคลอด หากอายุครรภ์น้อยกว่า 34 สัปดาห์ คุณหมอจะให้ยาเพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโตของปอดแก่ลูกน้อยในครรภ์ โดยทุกอย่างขึ้นอยู่กับภาวะวิกฤติของสุขภาพคุณแม่และลูกน้อย
วิธีป้องกันการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ
ยังไม่มีวิธีใดป้องกันการเกิดภาวะนี้ได้อย่าง 100% แต่วิธีที่จะช่วยตรวจพบได้อย่างรวดเร็วก็คือการฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ และพบคุณหมออย่างสม่ำเสมอค่ะ
เตือนคุณแม่ !
หากมีอาการบวม โดยเฉพาะใบหน้า มือ ร่วมกับอาการปวดหัว เวียนหัว หน้ามืด เจ็บหน้าท้องส่วนบน น้ำหนักขึ้นเร็วผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของครรภ์เป็นพิษได้
ติดตาม พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 37-38 สัปดาห์ คลิกต่อหน้า 3
พัฒนาการทารกในครรภ์ 37-38 สัปดาห์
หนูอาศัยภูมิคุ้มกันจากคุณแม่…ลูกน้อยในครรภ์ยังคงต้องอาศัยภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ จากคุณแม่ผ่านทางรก หากคุณหมอมีภูมิคุ้มกันต่อโรคใด ลูกน้อยก็จะได้รับภูมิคุ้มกันโรคนั้นตามไปด้วย และเมื่อหลังคลอดลูกน้อยก็ยังจะได้รับภูมิคุ้มกันนี้ผ่านทางน้ำนมแม่ด้วยค่ะ
ขนาด: ประมาณ 46-48 เซนติเมตร น้ำหนัก: 2,300-2,700 กรัม
- เล็บมือ เล็บเท้าของลูกน้อยจะเริ่มยาวมากขึ้น
- ลูกน้อยเติบโตสมบูรณ์มีการทำงานของปอดและร่างกายส่วนอื่นๆ ที่ดี
- สมองของลูกในช่วงนี้ก็พัฒนาและเรียนรู้ได้ดีขึ้นมาก ทั้งการจดจำ การฟังและอื่นๆ
- ในลำไส้ของลูกน้อยจะมีขี้เทา ซึ่งเป็นสารที่หลั่งในระบบทางเดินอาหาร ปนกับขนอ่อนและเซลล์ต่างๆ ที่หลุดออกตามทางเดินอาหารของลูก ซึ่งส่วนใหญ่ลูกน้อยจะถ่ายขี้เทาออกมาหลังคลอด แต่ก็มีบางคนที่ถ่ายขี้เทาออกมาในน้ำคร่ำได้
อ่านบทความอื่นที่น่าสนใจ
เชื้อราในช่องคลอด เป็นง่าย หายยาก เรื่องที่คุณผู้หญิงต้องระวัง!
มดลูกเข้าอู่ช้า และอาการผิดปกติของมดลูกหลังคลอด
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่