พัฒนาการ การตั้งครรภ์ 31-32 สัปดาห์ นี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงไตรมาสสาม เป็นช่วงที่คุณแม่ใกล้สู่ ประตูห้องคลอดเข้าไปทุกที ด้วยความที่ครรภ์มีขนาดใหญ่จึงทำให้คุณแม่มีอาการต่างๆ มากขึ้น รวมทั้งปัญหาการนอนไม่หลับ เราจึงนำเคล็ดลับแก้ไขปัญหานี้มาฝากค่ะ
พัฒนาการ การตั้งครรภ์ 31-32 สัปดาห์
อาการคนท้อง 31-32 สัปดาห์
เพราะครรภ์ที่ขยายใหญ่และใกล้คลอด ทำให้คุณแม่รู้สึกอึดอัด เกิดภาวะต่างๆ ได้ง่ายๆ ดังนี้
- มดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นไปเบียดกระเพาะปัสสาวะจึงทำให้ปวดปัสสาวะบ่อยมาก
- อาจเกิดอาการวิงเวียน เมื่อคุณแม่นอนหงาย และจะหายไปเมื่อเปลี่ยนท่านอน หรือลุกนั่งเร็วเกินไปก็ทำให้เกิดอาการวิงเวียนได้เช่นกัน
- ผิวแห้ง หรือแตกลาย จึงควรบำรุงผิวให้ชุ่มชื้นเสมอด้วยโลชั่นหรือครีมที่มีมอยซ์เจอไรเซอร์
- อารมณ์แปรปรวน อ่อนไหว อ่อนล้า นอนไม่ค่อยหลับ
- ปวดหลัง ปวดขา หรืออุ้งเชิงกราน ดังนั้นจึงควรฝึกการเดิน การนั่ง การนอนให้ถูกต้องเพื่อลดอาการปวดที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว ไม่ให้ปวดมากกว่าเดิม
- รู้สึกหิวตลอดเวลาทั้งๆ ที่เพิ่งกินข้าวไป นั่นเพราะลูกนำสารอาหารจากคุณแม่ไปใช้ คุณแม่ต้องพยายามต่อสู้กับอารมณ์หิวนี้ให้ได้ ไม่อย่างนั้นอาจจะกินมากไป และมีน้ำหนักเกินได้
- น้ำหนักตัวมากขึ้นทำให้รู้สึกอึดอัดและงุ่มง่ามมากขึ้น และยังส่งผลต่ออาการปวดบริเวณหลังช่วงล่างมากขึ้น
- อาจเกิดอาการกรดไหลย้อน ปัสสาวะบ่อย ขาเป็นตะคริว ท้องอืด ท้องผูก ผายลมบ่อยและอั้นไม่ได้เป็นริดสีดวง ขาและเท้าบวม ฝันประหลาด เหล่านี้ล้วนทำให้คุณแม่ตื่นกลางดึก นอนไม่หลับ และอ่อนเพลีย
- บางคนเกิดอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome) คือรู้สึกปวดแสบ กล้ามเนื้อกระตุกหรือเหมือนมีอะไรไต่ที่ขา ต้องขยับขาตลอดเวลา ซึ่งอาจเกิดจากการขาดธาตุเหล็กและโฟเลต และจะหายไปเมื่อคลอด
ติดตาม 5 วิธีง่ายๆ แก้ปัญหาแม่ท้องนอนไม่หลับ คลิกต่อหน้า 2
ชวนคุณแม่…แก้ปัญหาการนอน
ปัญหาที่แม่ท้องไตรมาสสามทุกคนต้องพบเจอคือการตื่นกลางดึก เพราะถูกรบกวนจากเหตุปัจจัยต่างๆ เช่น ปวดปัสสาวะบ่อย ขาเป็นตะคริว ปวดหลัง กรดไหลย้อน ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง เป็นต้น ทำให้เกิดอาการงัวเงีย ไม่สดชื่น เครียด หงุดหงิด และวิตกกังวล จากการสำรวจจากหลายๆ สถาบันพบว่า 4 ใน 5 ของหญิงตั้งครรภ์ มักจะประสบปัญหาเรื่องการนอนหลับ (คุณแม่มีเพื่อนแล้ว) ดังนั้นสิ่งที่คุณแม่ท้องจะทำได้ในขณะนี้ก็คือ เตรียมตัวและเตรียมใจให้พร้อม และลองนำเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ นี้ไปลองปรับใช้ดู ซึ่งอาจจะช่วยคุณแม่ได้ไม่มากก็น้อยค่ะ
- ตื่นเพราะปวดปัสสาวะบ่อย
วิธีแก้ ดื่มน้ำระหว่างวันให้เพียงพอ ไม่ควรดื่มน้ำปริมาณมากๆ ตอนใกล้นอน ก่อนนอนให้ปัสสาวะก่อน ระหว่างปัสสาวะให้โน้มตัวมาข้างหน้าด้วย จะช่วยให้ขับปัสสาวะได้หมด สุดท้ายงดดื่มชาหรือกาแฟเพราะจะยิ่งไปกระตุ้นให้ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น
2. ตื่นเพราะเป็นตะคริว
วิธีแก้ ออกกำลังกายเป็นประจำ และฝึกยืดกล้ามเนื้อที่ขาก่อนนอน จะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้ดี
3. ตื่นเพราะนอนไม่สบาย
วิธีแก้ ปรับท่านอนให้ถูกต้องด้วยการนอนตะแคงซ้ายและงอเข่า (ช่วยเรื่องการไหลเวียนโลหิตได้ดี) หาหมอนมารองด้านหลังเพื่อกันการนอนหงายโดยไม่รู้ตัว และหมอนรองบริเวณเข่าเพื่อช่วยลดอาการปวดหลังช่วงล่าง ปัจจุบันมีหมอนสำหรับคนท้องและที่นอนทำจากโฟม พื้นผิวจะเป็นหลุมคล้ายถาดใส่ไข่ ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่ท้องนอนหลับได้สบายขึ้น
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
4. ตื่นนอนเพราะกรดไหลย้อน
วิธีแก้ แบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อเล็กๆ หลายๆ มื้อ งดกินอาหารหนักๆ ในมื้อเย็น ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ด ไขมันสูง และอาหารที่มีกรด เช่น มะเขือเทศ หลังจากกินแล้ว ไม่ควรนอนทันที ควรเดินเล่นหรือนั่งสักพัก และเวลานอนให้หนุนหมอนสูง ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้น
5. นอนหลับยาก
วิธีแก้ ฝึกเข้านอน ตื่นนอน เป็นเวลา ปรับสภาพแวดล้อมในห้องนอนให้เหมาะต่อการนอน ทั้งแสง เสียง และอุณหภูมิ งดทำกิจกรรมที่ทำให้สมองตื่นตัวก่อนนอน เช่น เล่นเกม เล่นมือถือ ออกกำลังกาย เป็นต้น งดการงีบหลับในตอนเย็น และควรฝึกทำสมาธิ เล่นโยคะ หรืออาบน้ำอุ่นก็จะช่วยได้ดี
หากลองทำทุกอย่างแล้วก็ยังนอนไม่หลับ อย่าฝืนหลับเด็ดขาด เพราะจะยิ่งเครียดไปใหญ่ ลุกจากที่นอนแล้วไปหาอะไรๆน่าเบื่อทำแทน เช่น อ่านหนังสือเล่มเดิม ดูหนังเรื่องเดิม ฯลฯ และไม่ควรเปิดไฟจนสว่างจ้า
บทความแนะนำ คนท้อง กับการนอนที่ดี ส่งผลให้ลูกในท้องสุขภาพแข็งแรง
ติดตาม พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 31-32 สัปดาห์ คลิกต่อหน้า 3
พัฒนาการทารกในครรภ์ 31-32 สัปดาห์
หนูเริ่มเอาหัวลงแล้ว …ลูกน้อยในช่วงสัปดาห์นี้บางคนอาจเริ่มอยู่ในท่าเอาศีรษะลงเพื่อเตรียมตัวคลอดแล้ว แต่ในบางคนก็อาจจะยังไม่ลง ก็ไม่มีปัญหาเพราะยังมีเวลาอยู่อีกมากค่ะ แต่หากตั้งครรภ์เกิน 36 สัปดาห์แล้ว ลูกน้อยยังอยู่ในท่าก้น ลูกจะตัวโตคับครรภ์จนไม่สามารถกลับตัวได้ ก็จะต้องอยู่ในท่าก้นตลอดไปจนครบกำหนดคลอด
ขนาด: ประมาณ 36- 38 เซนติเมตร น้ำหนัก: 1,100-1,300 กรัม
- ลูกมักขยับแขนขา เตะผนังหน้าท้องคุณแม่จนนูนออกมาเห็นได้ชัดเจน
- ผิวหนังของลูกน้อยจะเรียบเนียนขึ้น ขนอ่อนขึ้นปกคลุมทั่วร่างกายและจะคงอยู่จนกว่าจะคลอด
- ลูกฝึกหายใจด้วยการเคลื่อนไหวกระบังลม ดังนั้นบางครั้งลูกน้อยจะเกิดอาการสะอึกบ้าง ซึ่งคุณแม่จะรู้สึกได้
- ลูกมีวงจรการนอนหลับและตื่นนอนเป็นของตัวเอง คือตื่นนอนเป็นเวลา เมื่อตื่นแล้วก็จะคึกคักและซนมาก เช่น ทำหน้าทำตาแสดงอารมณ์ ขยับตัวไปมา กระทุ้งพุงคุณแม่
- สมองของลูกน้อยพัฒนาเต็มที่อย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ตา กล้ามเนื้อ และปอดทำงานได้ดีขึ้น
- ระบบย่อยของลูกน้อยทำงานได้สมบูรณ์แล้ว
อ่านบทความอื่นที่น่าสนใจ
ไตรมาส 3 กระตุ้นพัฒนาการ เตรียมลูกน้อยสู่โลกกว้าง
รวม ค่าคลอด โรงพยาบาลรัฐ ปี 2560
คัมภีร์แม่ท้องแบบง่ายๆ (ไตรมาส 3)
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่