เข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 แล้ว หากพัฒนาการการตั้งครรภ์ในสัปดาห์ก่อน ไข่และสเปิร์มมาเจอกัน และมีตัวอ่อนเป็นลูกน้อยเรียบร้อยแล้ว พัฒนาการ การตั้งครรภ์ 3-4 สัปดาห์ และพัฒนาการทารกในครรภ์ช่วงนี้ก็จะเริ่มเข้าสู่การฝังตัวในมดลูก และเตรียมตัวนับถอยหลังอีก 9 เดือน คุณแม่ก็จะเจอหน้าลูกน้อยแล้ว
พัฒนาการ การตั้งครรภ์ 3-4 สัปดาห์
สัญญาณแรกของการตั้งครรถ์
ในสัปดาห์นี้หากคุณแม่คนไหนยังไม่รู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกค่ะ เพราะในช่วงสัปดาห์ต้นๆ แบบนี้ สัญญาณที่บ่งบอกมีน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย ยิ่งใครที่ประจำเดือนมาไม่ปกติอยู่แล้ว ก็ยิ่งเอะใจยากหน่อย แต่สำหรับคุณแม่ที่วางแผนไว้ อาจเตรียมซื้อที่ตรวจครรภ์ไว้ได้เลย โดยสิ่งที่ทำให้ผลตรวจครรภ์เป็น 2 ขีดก็คือ ฮอร์โมนเอชซีจี (hCG) หรือ Human Chorionic Gonadotropin ซึ่งถือเป็นสัญญาณแรกของการตั้งครรภ์
ฮอร์โมนเอชซีจีจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อไข่ที่ได้รับการผสมแล้วไปฝังตัวที่ผนังมดลูก โดยเซลล์ส่วนที่จะพัฒนาเป็นรกทำหน้าที่เป็นผู้ผลิต เพื่อบอกร่างกายของคุณแม่ให้หยุดผลิตไข่ เพราะได้มีสิ่งมีชีวิตถือกำเนิดแล้ว ฮอร์โมนนี้จะไปปรากฏอยู่ในเลือดและปัสสาวะ ดังนั้นเมื่อคุณแม่ทำการทดสอบการตั้งครรภ์ ผลจึงออกมาเป็นบวก หรือขึ้น 2 ขีดนั่นเอง
อีกสัญญาณการตั้งครรภ์หนึ่งที่คุณแม่บางคนอาจพบได้ แต่ก็น้อยมาก นั่นคือ เลือดล้างหน้าเด็ก (Implantation Spotting) ชื่อฟังดูน่ากลัว แต่ไม่ใช่เรื่องน่าวิตก เพราะเป็นเรื่องปกติของกลไกในร่างกาย เกิดจากตัวอ่อนไปฝังตัวในผนังมดลูกจึงทำให้มีเลือดออก ลักษณะของเลือดคือ มีสีแดงจางๆ สีน้ำตาล หรือมูกสีชมพูออกทางช่องคลอดเล็กน้อย เรียกว่าออกน้อยมาก จนบางคนต้องใช้ทิชชู่เช็ดจึงจะรู้ว่ามี บางคนออกมาแค่ครั้งเดียวก็หายไปเลย แต่บางคนอาจเป็นนานสองวัน แต่เลือดจะไม่ออกต่อเนื่องเหมือนประจำเดือน รวมทั้งไม่มีอาการปวดท้องร่วมด้วย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของแม่ท้อง คลิกหน้า 2
อาการคนท้อง 3-4 สัปดาห์
ถึงแม้สัปดาห์นี้คุณแม่ยังไม่รู้สึกว่าตัวเองตั้งครรภ์ แต่เมื่อตัวอ่อนฝังในผนังมดลูกแล้ว ร่างกายของคุณแม่จะปล่อยสารโปรตีนอีพีเอฟ (Early Pregnancy Factor – EPF) เพื่อปกป้องตัวอ่อน ไม่ให้ร่างกายคิดว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม ส่วนใครที่เอะใจ ก็สามารถซื้อที่ตรวจครรภ์มาตรวจได้ และควรเลือกตรวจในตอนเช้าเป็นอันดับแรก เพราะเป็นช่วงที่มีฮอร์โมนเอชซีจีสูงมาก หลายคนหลังจากตรวจแล้วอาจได้ผลเป็นลบ อย่างเพิ่งถอดใจ ให้รออีก 2-3 วัน แล้วจึงค่อยตรวจใหม่อีกครั้ง นอกจากนี้คุณแม่อาจจะยังมีอาการที่แสดงว่ากำลังตั้งครรภ์ได้แก่
เจ็บหน้าอก
อาการเจ็บหน้าอก คัดตึงเต้านมเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการตั้งครรภ์ โดยคุณแม่จะรู้สึกคัดตึงเต้านม หรือเจ็บเล็กน้อยบริเวณหัวนม หน้าอกอาจนุ่มนิ่มขึ้น วงปานนมหรือลานนมมีสีเข้มขึ้น หรือเห็นเส้นเลือดดำบริเวณเต้านมได้ชัดขึ้น
ปัสสาวะบ่อย
คุณแม่จะปัสสาวะบ่อยขึ้น และตอนกลางคืนอาจต้องลุกไปห้องน้ำกลางดึกอยู่บ่อยๆ สาเหตุเพราะร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์จะผลิตเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ มากขึ้น ไตจึงต้องขับของเสียมากขึ้น ทำให้มีของเหลวในกระเพาะปัสสาวะมาก จนต้องเข้าห้องน้ำเพื่อปัสสาวะบ่อยๆ
คลื่นไส้อาเจียน
คุณแม่บางคนก็อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนในช่วงแรกๆ ของการตั้งครรภ์ได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะเริ่มเป็นในสัปดาห์ที่หก อาการที่เป็นคือรู้สึกคลื่นไส้ในตอนเช้า เพราะเป็นช่วงที่คุณแม่จะมีระดับฮอร์โมนสูง แต่บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ได้ทั้งวัน วิธีบรรเทาอาการคือ หลังตื่นนอนอย่าลุกขึ้นทันที อาจนั่งพักสักนิด แล้วหาเครื่องดื่มอุ่นๆ ที่มีรสชาติพอไม่มาก เช่น น้ำเต้าหู้ ช็อกโกแลตอุ่น น้ำขิง หรืออื่นๆ จิบในตอนเช้า และพยายามทานอาหารอ่อนๆ ที่ย่อยง่ายเพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียน
หลีกเลี่ยงอาหารที่มีเครื่องเทศกลิ่นแรง กลิ่นฉุน เช่น หัวหอม กระเทียม พริกไทย เพราะจะทำให้เกิดอาการแพ้กลิ่นต่างๆ ได้ รวมถึงเลี่ยงอาหารประเภทของทอด เนื่องจากกลิ่นน้ำมัน และความมัน อาจจะยิ่งทำให้คุณแม่รู้สึกคลื่นไส้และอาเจียนได้
อ่อนเพลีย
จากผลของฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ จะทำให้คุณแม่รู้สึกอ่อนเพลีย เมื่อยล้า เหนื่อยง่าย วิธีดูแลคือ การพักผ่อนให้เพียงพอ เข้านอนให้เร็วขึ้น กินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ และดื่มน้ำให้มากขึ้น รวมถึงควรงดการดื่มชา กาแฟ ขนมหวาน การออกกำลังและการทำงานที่หนักและเหนื่อยจนเกินไป
นอกจากนี้คุณแม่ควรพยายามทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ไม่เครียด เช่น ฟังเพลงเบาๆ สบายๆ อยู่ในบรรยากาศและอากาศที่ดี แช่ตัวหรือแช่เท้าในน้ำอุ่นเพื่อผ่อนคลาย หรือการให้สามีช่วยนวดไหล่ นวดขา นวดเท้า เพื่อคลายความตึงของร่างกายและส่งผลถึงความสบายใจได้ด้วย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ เรื่องพัฒนาการทารกในครรภ์ คลิกหน้า 3
พัฒนาการทารกในครรภ์ 3-4 สัปดาห์
- สัปดาห์นี้ลูกน้อยจะเริ่มฝังตัวในผนังมดลูกแล้ว และเริ่มแบ่งกลุ่มเซลล์ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มชั้นนอก ส่วนนี้จะพัฒนาเป็นระบบประสาท ผิวหนัง ฟัน ผม เลนส์ตา ต่อมต่างๆ กลุ่มชั้นกลาง จะพัฒนาเป็นระบบกล้ามเนื้อ อวัยวะสืบพันธุ์ ระบบขับถ่าย เส้นเลือดหัวใจ และกระดูก กลุ่มชั้นใน จะพัฒนาเป็นระบบย่อย อวัยวะหายใจ ตับ และตับอ่อน
- ตัวอ่อนสร้างเลือดและเส้นเลือดอย่างรวดเร็ว เพราะต้องใช้ออกซิเจนและสารอาหารจากแม่ในการเจริญเติบโต โดยลำเลียงผ่านท่อเล็กจิ๋วที่เชื่อมระหว่างตัวอ่อนและหลอดเลือดในผนังมดลูกของแม่
ขนาด: ประมาณเท่าปลายเข็ม – 2 มม. อาจยังไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
อ่านต่อบทความอื่นๆที่น่าสนใจ
สารอาหารเพื่อสุขภาพแม่ท้อง ดีต่อทารกและคุณแม่ตลอดการตั้งครรภ์
จริงหรือไม่? 8 ความเชื่อคนท้อง เกี่ยวกับสุขภาพแม่และลูก
ลูกน้อยเสียชีวิตในครรภ์ ภาวะที่คุณแม่ต้องระวัง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่