ในช่วงสัปดาห์นี้ พัฒนาการ การตั้งครรภ์ 29-30 สัปดาห์ ลูกสาวและลูกชายของคุณแม่จะเริ่มหล่อและสวยขึ้นค่ะ ลูกรักจะมีผมที่ดกดำขึ้น แถมยังมีไขมันใต้ผิวหนังมากขึ้น ทำให้รอยเหี่ยวย่นบนผิวลูกน้อยเริ่มหายไปอีกด้วยค่ะ
พัฒนาการ การตั้งครรภ์ 29-30 สัปดาห์
อาการคนท้อง 29-30 สัปดาห์
อาการปวดต่างๆ ของคุณแม่ตั้งครรภ์ช่วงนี้อาจจะมีเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อยตามขนาดครรภ์ของคุณแม่ที่เพิ่มขึ้นค่ะ แต่ไม่ต้องกังวลไปนะคะ เพราะทุกอย่างมีทางแก้ และสามารถหายไปได้เองแน่นอนค่ะ ว่าแต่จะมีอาการอะไรบ้าง ไปดูกันค่ะ
-
ปวดร้าวลงขา
โดยส่วนใหญ่ในสัปดาห์นี้ลูกน้อยมักจะอยู่ในท่าก้ม ทำให้ส่วนศีรษะของลูกไปกดทับเส้นประสาทเซียติก (Sciatic Nerve) ที่คอยหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อร่างกายช่วงล่างของคุณแม่ จึงทำให้เกิดอาการปวดร้าวเป็นระยะๆ ตั้งแต่สะโพกไล่ลงไปด้านหลังขา คุณแม่จะรู้สึกดีขึ้นเมื่อลูกเปลี่ยนไปอยู่ท่าอื่น ซึ่งช่วงนี้คงต้องให้คุณแม่อดทนไปก่อน
-
ปวดหลังช่วงล่างและข้อต่างๆ
เมื่อขนาดท้องมีขนาดใหญ่ขึ้น หลังของคุณแม่จึงต้องแบกรับน้ำหนักและมีการแอ่นตัวมากขึ้นเพื่อรักษาสมดุลของร่างกาย บวกกับฮอร์โมนรีแล็กซินที่ทำให้กล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นยืดกว่าปกติ จึงทำให้เกิดอาการปวดหลังขึ้นได้ นอกจากนี้ อาจยังปวดตามข้อต่างๆ ทั่วร่างกายด้วย เช่น ข้อนิ้ว ข้อมือ ข้อเท้า เข่า ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในอิริยาบถเดิมๆ ซ้ำๆ นานๆ ระมัดระวังการนั่ง การยืน การเดินให้ดี และงดยกของหนัก
-
เจ็บท้องหลอก
พอเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 อาการเจ็บท้องเหมือนจะคลอดอาจเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว แต่ไม่ใช่การเจ็บคลอดจริง เป็นเพียงการซ้อมหดรัดตัวของมดลูกเพื่อให้ร่างกายเตรียมพร้อมเท่านั้น โดยมักรู้สึกเจ็บบริเวณช่องท้องนาน 15-30 วินาที บางครั้งนานถึง 2 นาที แต่เมื่อเปลี่ยนท่าทางหรือทำกิจกรรมอื่น อาการก็จะหายไป ซึ่งบางคนอาจมีอาการเช่นนี้มาตั้งแต่อายุครรภ์สัปดาห์ที่ 20 แล้ว
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ติดตาม อาการคนท้องอื่นๆ ที่มักพบในช่วงนี้ คลิกต่อหน้า 2
อาการคนท้อง ในช่วงนี้ นอกจากปวดแล้วยังมีอาการอื่นๆ อีก เช่น
- คุณแม่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 7-10 กิโลกรัม (ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลซึ่งอาจมากกว่าหรือน้อยกว่า)
- เต้านมของคุณแม่กำลังผลิตน้ำนมอย่างขะมักเขม้น เรียกว่า น้ำนมเหลือง อาหารมื้อแรกสำหรับลูกน้อย ช่วงนี้อาจมีน้ำนมไหลออกมาบ้าง
- หายใจสั้น เหนื่อยง่าย เพราะลูกน้อยตัวโตขึ้นจนเบียดปอด รวมทั้งมีอาการกรดไหลย้อนหรือแสบร้อนที่หน้าอก และท้องผูก เพราะลูกโตจนเบียดกระเพาะอาหารและลำไส้เช่นกัน
- นอนไม่หลับ ยิ่งใกล้คลอดมากเท่าไร หลายคนยิ่งมีปัญหาจากการนอนไม่หลับ ทั้งจากอาการปวดต่างๆ ฮอร์โมน ปัสสาวะบ่อย ขนาดท้องที่ใหญ่ขึ้น ฯลฯ
ชวนคุณแม่นับลูกดิ้น
สำหรับคุณแม่มือใหม่อาจจะยังงงๆ ว่า นับลูกดิ้นทำอย่างไร เรามี 4 วิธีง่ายๆ ดังนี้ค่ะ
- นับหลังรับประทานอาหารเช้า กลางวัน เย็น เวลาเดิมทุกวัน เป็นเวลา 1 ชั่วโมง (ทั้งนี้ คุณหมอแต่ละท่านอาจจะมีวิธีนับแตกต่างกันไป)
- นับรวมแล้วให้ได้อย่างน้อย 10 ครั้ง (รวมไปถึง การถอง เตะ ต่อย ม้วนตัว ขยับตัว ส่าย โยกตัว)
- จดบันทึกสถิติทุกครั้ง พอเวลาผ่านไป คุณแม่จะเห็นว่าช่วงเวลาที่ลูกน้อยดิ้นนั้นใกล้เคียงกัน (ปัจจุบันมีแอพลิเคชั่นสำหรับนับการดิ้นของลูกมากมาย เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เพิ่มความสะดวกสบายได้เป็นอย่างดี)
- ขณะนับให้คุณแม่นอนตะแคง หรือนั่งในท่าที่สบาย และก่อนนับให้แน่ใจทุกครั้งว่าลูกไม่ได้นอนหลับปุ๋ยอยู่
การนับการดิ้นของลูกเป็นสิ่งดีที่นอกจากจะได้ใช้สื่อสารกับลูกแล้ว ยังช่วยป้องกันการเกิดภาวะทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้อย่างดีเยี่ยม ดังนั้นคุณแม่ท้องห้ามขี้เกียจเป็นอันขาดนะคะ
เตือนคุณแม่!
หากลูกดิ้นน้อยลงกว่าปกติ และมีแนวโน้มว่าน้อยลงเรื่อยๆ หรือไม่ดิ้นเลย รวมถึงหากคุณแม่มีอาการปวดท้องถี่ๆมากกว่า 5 ครั้งในหนึ่งชั่วโมง ให้รีบไปพบคุณหมอทันทีค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ติดตาม พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 29-30 สัปดาห์ คลิกต่อหน้า 3
พัฒนาการทารกในครรภ์ 29-30 สัปดาห์
หนูมีผมและเล็บแล้ว…สมองของลูกน้อยในช่วงนี้จะมีรอยย่นมากขึ้น รอยย่นนี้ยิ่งมีมากยิ่งบรรจุเซลล์สมองได้มากขึ้น ซึ่งมีผลต่อการทำงานของสมองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และระบบประสาทพื้นฐานเริ่มทำหน้าที่แล้ว ลูกน้อยสามารถดูดซึมสารอาหารจากแม่มาเก็บไว้ใช้ได้มากขึ้น ส่วนการสร้างเม็ดเลือดแดงจะเปลี่ยนจากสร้างที่ม้ามมาเป็นที่ไขกระดูกแทน ขนอ่อนที่ปกคลุมร่างกายเริ่มหายไปเหลือแค่บริเวณหลังและไหล่เท่านั้น สัปดาห์นี้เรายังสามารถมองเห็นเล็บและผมที่เริ่มยาวของลูกได้ชัดเจนอีกด้วย
ขนาด: ประมาณ 34 – 36 เซนติเมตร น้ำหนัก: 900-1,000 กรัม
- ลูกน้อยดิ้นเก่งมาก แทบจะเคลื่อนไหวตลอดเวลา คุณแม่อาจรู้สึกเจ็บแปลบนิดหน่อยนะคะ
- ศีรษะของลูกน้อยมีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับสมองที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องและซับซ้อนมากขึ้น
- กล้ามเนื้อและปอดพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ดีจนกว่าจะถึงเวลาใกล้คลอด
- การได้ยินของหูลูกน้อยดีเยี่ยม และลูกก็ไม่กลัวแสงที่ลอดผ่านเข้ามาแล้ว แต่กลับรู้จักหลับตาและลืมตา แถมร้องไห้โยเยได้อีกด้วย
- สามารถควบคุมอุณหภูมิร่างกายของตัวเองได้ และไขกระดูกที่มีหน้าที่ผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงก็พัฒนาสมบูรณ์แล้ว
- ลูกน้อยปัสสาวะในน้ำคร่ำถึงวันละครึ่งลิตรต่อวัน และสะอึกเป็นด้วย
อ่านบทความอื่นที่น่าสนใจ
ปวดหลัง อาการยอดฮิตที่แม่ท้องต้องรับมือ
ไขข้อข้องใจ ที่ตรวจครรภ์ ตรวจอย่างไร-ตอนไหนดี?
ทารกฉี่สีส้ม สีอิฐ สีเลือด อันตรายหรือไม่?
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่