ช่วงนี้คุณแม่ท้องกำลังจะเริ่มเข้าสู่ไตรมาสที่สาม โดย พัฒนาการ การตั้งครรภ์ 27-28 สัปดาห์ นี้ คุณแม่จะเริ่มมีอาการเหมือนคนใกล้คลอด มีหน้าท้องที่ใหญ่และลูกน้อยก็ทั้งดิ้นเก่งและตัวใหญ่ขึ้นจนเกือบคับท้องคุณแม่แล้วค่ะ
พัฒนาการ การตั้งครรภ์ 27-28 สัปดาห์
อาการคนท้อง 27-28 สัปดาห์
-
นอนไม่หลับ
คุณแม่อาจเกิดปัญหานอนไม่หลับ ตื่นบ่อย เนื่องจากท้องที่ใหญ่ขึ้น ทำให้รู้สึกเริ่มอุ้ยอ้าย และนอนไม่สบายตัว ทำให้เพลียง่าย วิธีแก้ไขคือ คุณแม่ควรนอนในท่าที่ไม่อึดอัด เช่น ควรนอนตะแคงท่ากอดหมอนข้างโดยให้ขาข้างหนึ่งงอเข่าไว้ ส่วนขาอีกข้างเหยียดออก รวมถึงหาหมอนใบเล็กๆ มารองขาข้างที่งอ ก็จะทำให้รู้สึกสบายขึ้น
-
ปวดหลังมากขึ้น
เพราะน้ำหนักครรภ์ที่มากขึ้น ทำให้ร่างกายและหลังคุณแม่ต้องรับน้ำหนักและปรับสมดุลในการนั่ง ยืน เดิน นอกจากนี้ส่วนที่รับน้ำหนักด้านล่างคือกระดูกเชิงกรานก็ขยายตัวเตรียมพร้อมเพื่อจะคลอด หลังของคุณแม่จึงต้องรับน้ำหนักมากขึ้น ดังนั้นคุณแม่จึงควรปรับท่าทางการยืน เดิน ให้เหมาะสม ไม่ก้ม ยกของหนัก เดินยืนตัว สวมรองเท้าส้นเตี้ยๆ ที่เดินได้สบาย ไม่นั่งเก้าอี้หรือนอนบนเตียงที่นุ่มหรือยุบลงไป ก็จะป้องกันและบรรเทาอาการปวดหลังได้ค่ะ
-
ถ่ายปัสสาวะบ่อยขึ้น
คุณแม่จะมีอาการปวดปัสสาวะบ่อยมากขึ้น เพราะขนาดของมดลูกที่ไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ รวมถึงน้ำหนักตัวและการดิ้นของลูกที่กดลงกระเพาะปัสสาวะอีกด้วย
-
ร้อนง่าย
คุณแม่ท้องส่วนใหญ่มักจะมีอาการขี้ร้อน เหงื่อออกง่าย เพราะระบบสันดาป ฮอร์โมน และปริมาณเลือดในร่างกายที่เปลี่ยนไป ดังนั้นหากคุณแม่มีอาการร้อนง่าย เหงื่อออกง่าย จนรู้สึกหงุดหงิด ควรพยายามใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี อยู่ในอากาศที่โปร่งโล่งและเย็นสบาย เพื่อป้องกันไม่ให้รู้สึกร้อนมากจนหน้ามืด เป็นลม แต่หากร้อนมากอาจพักคลายร้อนแล้วอาบน้ำให้สดชื่นได้บ้าง แต่ไม่ควรอาบน้ำเย็นนานเกินไป
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ติดตาม อาการที่ไม่ควรเกิดขึ้นระหว่างท้องก่อน 37 สัปดาห์ คลิกต่อหน้า 2
สังเกตอาการ
ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ ก็มีอาการคนท้องแบบต่างๆ มากมายเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแพ้ท้อง ปวดนั่นเจ็บนี่เต็มไปหมด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องอันตรายอะไร แค่ทำให้หงุดหงิดบ้างเท่านั้น หากยิ่งอายุครรภ์มากขึ้น การดูแลและเฝ้าสังเกตอาการต่างๆ ก็ยิ่งต้องเข้มข้นมากขึ้น เพราะเป็นช่วงที่ค่อนข้างอ่อนไหวเป็นพิเศษ
มีหลากหลายอาการที่ไม่ควรเกิดขึ้นก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ เพราะอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติที่เป็นอันตรายต่อทั้งแม่และลูกได้ ดังนั้นเรามาสังเกตกันว่า คุณแม่ท้องมีอาการเหล่านี้บ้างหรือไม่
หลากอาการที่ไม่ควรเกิดขึ้นระหว่างท้องก่อน 37 สัปดาห์
แนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ได้สังเกตความผิดปกติของร่างกายและรู้จักกับสัญญาณอาการต่างๆ ที่บ่งบอกถึงความ ความผิดปกติที่เป็นอันตรายต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ค่ะ
- ปวดหน่วงบริเวณอุ้งเชิงกราน รู้สึกเหมือนลูกกำลังจะคลอด
- ปวดหลังส่วนล่าง กรณีที่ไม่เคยปวดมาก่อน
- ปวดท้องมากคล้ายปวดประจำเดือนมากกว่า 4 ครั้งต่อชั่วโมง หรือไม่ปวดเลยแต่มีอาการบีบตัวของมดลูกมากกว่า 4 ครั้งต่อชั่วโมง
- มีอาการตกขาวมากกว่าปกติ ตกขาวสีลักษณะที่ผิดปกติไป เช่น ไหลออกเป็นน้ำ ไหลออกเป็นมูก หรือมีเลือดปน
- ลูกเคลื่อนไหวหรือดิ้นน้อยลงกว่าปกติ
- ปวดท้องอย่างรุนแรง
- มีเลือดออกจากช่องคลอด หรือน้ำคร่ำแตก
- ปวดหรือแสบเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะได้น้อยหรือไม่ปัสสาวะเลย
- อาเจียนอย่างรุนแรง จากอาการปวดหัวหรือมีไข้
- มีไข้ 37 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่า
- มองเห็นภาพไม่ชัด เบลอ หรือเห็นเป็นจุดๆ ลอยอยู่
- ปวดหัวอย่างรุนแรง หรือมีอาการมองเห็นภาพเบลอ พูดไม่ชัด และชาร่วมด้วย
- มีอาการบวมที่ใบหน้า รอบดวงตา หรือมีอาการบวมอย่างฉับพลันที่ขา เท้า ข้อเท้า หรือน้ำหนักขึ้นกระทันหันมากกว่า 1.5 กิโลกรัมใน 1 สัปดาห์
- ปวดขาหรือน่องอย่างรุนแรง ลองยืดขาหรือบรรเทาด้วยวิธีใดๆก็ไม่หาย หรือขาข้างใดข้างหนึ่งบวมมากกว่าอีกข้าง
- ได้รับบาดเจ็บที่หน้าท้อง
- เป็นลม เวียนหัวบ่อย ใจเต้นแรง ใจสั่น
- หายใจลำบาก ไอเป็นเลือด หรือเจ็บหน้าอก
- ท้องผูกอย่างรุนแรงร่วมกับมีอาการปวดท้อง หรือท้องเสียรุนแรงมากกว่า 24 ชั่วโมง
- มีอาการคันมากหรือผื่นขึ้นทั่วตัว
หากคุณแม่มีอาการเหล่านี้ ควรรีบโทรศัพท์หาแพทย์หรือรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด รวมถึงมีอาการอื่นๆ ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แม้จะไม่ใช่อาการที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ก็ตาม สิ่งสำคัญคืออย่าตื่นตระหนกแต่ก็ไม่ควรนิ่งเฉย เพราะอันตรายถึงชีวิตของลูกในท้องค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ติดตาม พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 27-28 สัปดาห์ คลิกต่อหน้า 3
พัฒนาการทารกในครรภ์ 27-28 สัปดาห์
หนูบอกได้เมื่อไม่สบายตัว…ลูกน้อยในช่วงสัปดาห์นี้มีการเติบโตรวดเร็วและร่างกายก็ขยายใหญ่เกือบคับครรภ์คุณแม่ ลูกน้อยจึงเริ่มรู้สึกอึดอัดและตอบโต้ให้คุณแม่รู้สึกได้ว่าเขากำลังอึดอัด เวลาที่คุณแม่อยู่ในท่าที่ไม่สบายตัว ลูกน้อยจะเตะถีบหรือดิ้นอยู่ในครรภ์แรงจนคุณแม่รู้สึกได้
นอกจากนี้ลูกน้อยในครรภ์ยังมีคลื่นสมองและระบบประสาทที่สมบูรณ์มากขึ้น เพราะสมองของลูกจะโตเต็มคับกะโหลกศีรษะ มีรอยหยักและจุดเชื่อมต่อในการเก็บข้อมูลต่างๆ ในสมองมากขึ้นอีกด้วย
ขนาด: ประมาณ 29 – 33 เซนติเมตร น้ำหนัก: 700-800 กรัม
- ดวงตาของลูกน้อยเจริญเติบโตพร้อมจะลืมตาและมองเห็นได้ในอีกไม่ช้า รวมถึงขนตาก็ขึ้นแล้วเช่นกัน
- ร่างกายเริ่มสร้างระบบภูมิคุ้มกันเพื่อเตรียมพร้อมเพื่อใช้ป้องกันตัวเองหลังคลอด
- ลูกน้อยหายใจได้เองแล้ว แต่เป็นการหายใจโดยใช้น้ำคร่ำ ไม่ใช่อากาศ รวมทั้งยังถ่ายปัสสาวะลงในน้ำคร่ำวันละประมาณเกือบครึ่งลิตร
- ลูกน้อยสามารถได้ยินเสียงของคุณแม่และเสียงรอบๆ ตัวได้ เช่น เสียงหัวใจเต้น เสียงจากการย่อยอาหาร หรือแม้กระทั่งเสียงที่ดังมากๆจากนอกครรภ์
- ผิวของลูกเหี่ยวย่นเนื่องจากต้องลอยตัวอยู่ในน้ำ รอยย่นนี้จะหายไปหลังคลอดแล้ว 2-3 สัปดาห์
อ่านบทความอื่นที่น่าสนใจ
อาการท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ เรื่องที่แม่ท้องต้องระวัง !!
การใช้ยาในคุณแม่ตั้งครรภ์ และให้นมลูกน้อย
อาการนอนผวาในทารก สาเหตุ และวิธีแก้ไข
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่