คุณแม่จะรู้ว่าท้องแน่นอนแล้ว เพราะ พัฒนาการ การตั้งครรภ์ 11-12 สัปดาห์ จะทำให้คุณแม่มีอาการต่างๆ ตามมามากมาย และลูกน้อยในครรภ์เองก็เติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น
พัฒนาการ การตั้งครรภ์ 11-12 สัปดาห์
อาการคนท้อง 11-12 สัปดาห์
คุณแม่หลายท่านในช่วงนี้อาจมีอาการแพ้ท้องอยู่บ้าง แต่ก็มีบางคนที่อาจรู้สึกสดชื่นขึ้นเพราะอาการแพ้ท้องเริ่มลดลงหรือปรับตัวได้แล้ว ช่วงนี้คุณแม่จึงควรพักผ่อนให้มาก ทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใส รับประทานอาหารที่สะอาด ปลอดภัยและมีประโยชน์ นอกจากนี้อาการอื่นๆ ของคุณแม่ที่สังเกตได้ชัดเจนขึ้นได้แก่
น้ำหนักตัวเริ่มเพิ่มขึ้น
คุณแม่จะเริ่มสังเกตได้ว่าน้ำหนักเพิ่มขึ้น กรณีที่ไม่แพ้ท้องมากจนทานอะไรไม่ได้ โดยอาจจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นนิดหน่อยประมาณครึ่งกิโลกรัม- 1 กิโลกรัม นอกจากนี้ระบบการทำงานต่างๆ ในร่างกายคุณแม่ที่หล่อเลี้ยงลูกน้อยก็มีการเติบโตอย่างรวดเร็วตามไปด้วย
ยอดมดลูกโตขึ้น
ในช่วงนี้หากคุณหมอได้คลำมดลูกคุณแม่จะพบว่ายอดมดลูกของคุณแม่เริ่มโตขึ้นปริ่มอยู่บริเวณหัวหน่าว ทำให้คุณแม่มั่นใจได้ว่ากำลังตั้งครรภ์มีลูกน้อยสมใจแน่นอนค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ท้องอืด มีแก๊ส
สาเหตุหลักๆ มาจากฮอร์โมนแม่ท้องที่ขยันทำงาน ส่งผลให้ระบบย่อยของคุณแม่ทำงานช้าลง ทำให้แก๊สในท้องก่อตัวเพิ่มขึ้น เมื่อแก๊สเพิ่มมากขึ้น กลไกปกติของร่างกายคือการกำจัดออก ดังนั้นวิธีกำจัดที่ดีที่สุดก็คือการเรอและการผายลมนั่นเอง
นอกจากนี้ขนาดมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นจนไปเบียดอวัยวะข้างเคียงอย่างลำไส้และกระเพาะอาหาร ก็ยิ่งทำให้กระบวนการย่อยอาหารทำได้ช้า จนเป็นสาเหตุให้เกิดอาการท้องอืดร่วมด้วยอีกค่ะ
วิธีบรรเทาอาการท้องอืดของแม่ท้อง
- ออกกำลังกาย เพราะการขยับเคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยให้ระบบย่อยทำงานดีขึ้น
- เลือกกิน กินอาหารย่อยง่าย ใยอาหารสูง และไม่ก่อให้เกิดแก๊ส อาหารที่ควรเลี่ยง เช่น หอมหัวใหญ่ ผักกาด ดอกกะหล่ำ ของทอด อาหารที่ใส่ซอสปรุงเยอะๆ ขนมหวาน น้ำโซดา นม เป็นต้น
- กินพอดี ไม่ควรกินอาหารต่อมื้อมากเกินไป การแบ่งมื้อเป็นมื้อย่อยๆ จะช่วยลดอาการท้องอืดได้ดีมาก เพราะกระเพาะอาหารถูกเบียด เนื้อที่ในการรับอาหารก็น้อยตามไปด้วย
- ไม่ต้องรีบ ค่อยๆ กิน ค่อยๆ เคี้ยว เพราะการรีบเคี้ยวรีบกลืน รีบอ้าปากกิน จะเป็นการเปิดทางให้ลมเข้าไปในร่างกายเรามากขึ้น
- ยอมรับ อย่างไรเสียคุณแม่ท้องก็ต้องเผชิญกับอาการเหล่านี้ ถือเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้ เป็นเรื่องธรรมชาติ ดังนั้นสูดลมหายใจเข้าออกลึกๆ และทำใจให้สบายดีกว่าค่ะ
ติดตาม พัฒนาการ การเปลี่ยนแปลงของแม่ท้อง คลิกต่อหน้า 2
ปวดหัว
แม้ช่วงนี้อาการคลื่นไส้อาเจียน และอารมณ์แปรปรวนของคุณแม่จะเริ่มลดลงบ้าง แต่คุณแม่ก็อาจมีอาการปวดหัวและเวียนหัวได้บ้าง ซึ่งไม่ใช่อาการร้ายแรง ยกเว้นอาการปวดหัวรุนแรง สาเหตุเกิดมาจากการทำงานของฮอร์โมนบางตัวร่วมกับความเครียด ความอ่อนล้าทางกายและใจ การพักผ่อนไม่เพียงพอ ความดันโลหิตที่เพิ่มขึ้น น้ำตาลในเลือดต่ำ และร่างกายขาดน้ำ หากคุณแม่คนไหนมีอาการปวดไมเกรนอยู่แล้ว ก็มีแนวโน้มว่าจะปวดบ่อยขึ้นได้
วิธีบรรเทาปวดหัวของแม่ท้อง
- หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ เช่น พักผ่อนน้อย กินอาหารไม่ตรงเวลา ดื่มน้ำน้อย ท่ายืน เดิน นั่ง ไม่ถูกต้อง ไม่ออกกำลังกาย
- หากมีอาการปวดหัว ให้หามุมสงบ แสงไฟไม่จ้า อุณหภูมิพอเหมาะ นั่งหรือนอนพักสักครู่ พร้อมประคบเย็นบริเวณหน้าผาก เบ้าตา หรือท้ายทอย ประมาณ 20 นาที โดยเฉพาะการปวดหัวจากความเครียดและไมเกรน หากมาจากไซนัสอักเสบให้ประคบร้อนสลับเย็นในบริเวณที่ปวดครั้งละ 30 วินาที
- เพื่อป้องกันการอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ ควรแบ่งกินเป็นมื้อย่อยๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูงอย่าง เบเกอรี่ น้ำอัดลม ลูกอม แต่ควรเลือกเป็นผลไม้ แคร็กเกอร์ หรือโยเกิร์ตแทน
- การนวดผ่อนคลายบริเวณไหล่และคอก็ช่วยบรรเทาอาการปวดหัวได้ดี
หากคุณแม่มีอาการปวดหัวรุนแรง หรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อาเจียน มองภาพไม่ชัด หรือมีอาการผิดปกติใดๆ ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ติดตาม พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 11-12 สัปดาห์ คลิกต่อหน้า 3
พัฒนาการทารกในครรภ์ 11-12 สัปดาห์
จากในช่วงสัปดาห์ก่อนๆ ที่ลูกน้อยยังเป็นตัวอ่อนอยู่ มาสู่ในช่วงนี้ลูกน้อยเรียกว่าเป็นทารกได้แล้วค่ะ เพราะลูกน้อยมีอวัยวะครบถ้วนสมบูรณ์มีการพัฒนาของรูปร่างและหน้าตาที่สมบูรณ์มากขึ้น เริ่มมี จมูกใหญ่ขึ้น มีกระดูก ซี่โครง เล็บมือ เล็บเท้า
การเต้นของหัวใจจากสัปดาห์ก่อนที่เต้นเร็วมากจะเริ่มเต้นช้าลงประมาณ 110-160 ครั้งต่อนาที ลูกน้อยเริ่มกลืนน้ำคร่ำและถ่ายปัสสาวะ แถมยังเริ่มเหยียดตัว งอหลัง ยืดแขนขาได้อีกด้วย
ขนาด : 4-7 เซนติเมตร น้ำหนัก: 10-20 กรัม
- ลูกน้อยเริ่มเคลื่อนไหวไปมาแล้ว แต่คุณแม่ยังไม่รู้สึก เพราะลูกยังตัวเล็กมาก
- ผิวของลูกค่อนข้างบาง สามารถมองเห็นเส้นเลือดได้ชัด ศีรษะเริ่มโตขึ้น เริ่มมีขนอ่อนขึ้นปกคลุมร่างกาย
- เหง้าฟันของลูกเริ่มสร้างขึ้นแล้ว แต่อยู่ใต้เหงือก
- ลูกนัยน์ตาย้ายตำแหน่งจากด้านข้างศีรษะมาอยู่ที่ด้านหน้าแล้ว รวมถึงหูก็อยู่ในตำแหน่งที่ควรอยู่ด้วย
- เซลล์ประสาทในสมองของลูกน้อยมีการแตกแขนง แบ่งตัวและมีเส้นใยประสาทที่ยื่นกิ่งก้านสาขามากมาย
- ระบบย่อยเริ่มทำงานแล้ว รวมถึงปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติด้วย เช่น หากสะกิดตัวลูก ลูกก็จะถอยหนีได้
อ่านบทความอื่นที่น่าสนใจ
ขนาดของทารกในครรภ์แต่ละสัปดาห์
อาการท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ เรื่องที่แม่ท้องต้องระวัง !!
อาการคนท้อง แบบแปลกๆ ที่เกิดมักเกิดกับแม่ตั้งครรภ์
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่