หน้าฝนต้องระวัง โรคผื่นกุหลาบ เป็นตอนท้องอันตราย - Amarin Baby & Kids
โรคผื่นกุหลาบ

หน้าฝนต้องระวัง โรคผื่นกุหลาบ เป็นตอนท้องอันตราย

event
โรคผื่นกุหลาบ
โรคผื่นกุหลาบ

ในหน้าฝนที่มักจะมาพร้อมโรคสารพัด โรคผื่นกุหลาบ ก็เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบได้บ่อยในฤดูฝน โรคชื่อสวยแต่เมื่อเป็นแล้วไม่สวยเลย โดยเฉพาะหากเป็นในขณะตั้งครรภ์

หน้าฝนต้องระวัง โรคผื่นกุหลาบ เป็นตอนท้องอันตราย

“โรคผื่นกุหลาบ” หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า “Pityriasis rosea” เป็นโรคผิวหนังที่คาดว่าสัมพันธ์กับการได้รับเชื้อไวรัส ที่สามารถแพร่กระจายผ่านการไอ จาม และสัมผัสโดนสารคัดหลั่งอย่างน้ำมูกและน้ำลายของผู้ป่วยโดยตรง หรือการรับประทานอาหารโดยไม่ใช้ช้อนกลาง เป็นต้น ในประเทศไทยโรคนี้มักพบได้บ่อยในฤดูฝน โดยจะมีผื่นขึ้นบริเวณผิวหนัง 2-6 สัปดาห์ แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีผื่นอยู่นานถึง 3-4 เดือนหรือมากกว่า ทำให้โรคนี้มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “โรคผื่นร้อยวัน” ซึ่งโรคนี้มีโอกาสเป็นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง โดยมากมักพบในช่วงอายุตั้งแต่ 10-35 ปี และมักเป็นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 เท่า

แม้ผื่นกุหลาบจะเป็นโรคไม่สามารถติดต่อจากคนสู่คน ผ่านการสัมผัสผิวหนังที่เป็นโรคได้ และไม่เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต สามารถหายเองได้แม้ไม่ได้รับการรักษาใด ๆ แต่หากเป็นนานเกินไปก็อาจมีความจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติม เช่น การตัดชิ้นเนื้อผิวหนังเพื่อดูรายละเอียดภายใต้กล้องจุลทรรศน์ เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้นและรับการรักษา หากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น ผู้ป่วยโรคผื่นกุหลาบจะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ โรคเซ็บเดิร์ม โรคสิว และรังแค สูงกว่าคนทั่วไป และยังพบว่ามักมีการกำเริบของผื่นมากขึ้นในผู้ที่มีความเครียดสูงด้วย โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นกับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ในช่วงแรก ๆ ซึ่งมีรายงานว่า การเกิดผื่นกุหลาบในผู้ป่วยตั้งครรภ์ เป็นความเสี่ยงทำให้เกิดการแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้ โดยเฉพาะช่วง 15 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์

สังเกตอาการและลักษณะ “ผื่นกุหลาบ” ที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลับ

โรคผื่นกุหลาบเป็นโรคผิวหนังที่จะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน โดยทั่วไปแล้วมีอาการของการติดเชื้อไวรัสนำมาก่อนมีผื่นเป็นสัปดาห์ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว ปวดตามข้อ เจ็บคอหรืออ่อนเพลีย หลังจากนั้นจะพบผื่นขึ้น โดยแบ่งอาการออกเป็น 2 ระยะ คือ

ผื่นกุหลาบ อาการ

  • ผื่นปฐมภูมิ เกิดขึ้นในช่วงแรกประมาณ 1 สัปดาห์หรือนานกว่านั้น ผื่นจะปรากฏเป็นผืนใหญ่ ขนาด 2-10 เซนติเมตร ลักษณะเป็นรูปร่างกลมวงรี หรือรูปไข่ ตรงกลางของผื่นมีลักษณะย่น มีสีชมพู สีส้ม หรือสีเนื้อปลาแซลมอน ส่วนบริเวณรอบนอกของผื่นจะเป็นสีแดงเข้ม ทั้งสองส่วนนี้จะแยกจากกันด้วยขุยล้อมรอบที่ขอบของผื่น บริเวณลำตัว หน้าอก ต้นคอ บางรายอาจมีผื่นขึ้นบนหลังใบหน้า หนังศีรษะ แขน ขา หรือบริเวณใกล้อวัยวะสืบพันธุ์
  • ผื่นทุติยภูมิ หรือผื่นแพร่กระจาย หลังจากเกิดผื่นปฐมภูมิประมาณ 1-2 สัปดาห์ จะมีผื่นขนาดเล็กค่อย ๆ ขึ้นตามมา ลักษณะเป็นขุย ๆ มีชมพูขนาด 5-1.5 เซนติเมตร ผื่นทุติยภูมิมักขึ้นกระจายทั้ง 2 ข้างของร่างกายเท่า ๆ กัน โดยแกนตามยาวของผื่นซึ่งเป็นรูปวงรีจะขนานไปตามแนวลายเส้ของนผิวหนัง แพร่กระจายบริเวณหน้าอก หน้าท้อง หลัง คอ ต้นขา และต้นแขน โดยจะมีอาการคันร่วมตามมาด้วย

ทั้งนี้อาการผื่นกุหลาบจะหายไปเองโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาภายในเวลาประมาณ 2-3 เดือน สำหรับคนที่เคยเป็นโรคนี้แล้วก็มักจะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก และในบางรายอาจไม่แสดงอาการของการติดเชื้อไวรัสเลยก็ได้ในช่วงแรกของโรค มีสุขภาพทั่วไปแข็งแรง ไม่มีอาการไข้ ก่อนที่จะเกิดผื่นตามมา เนื่องจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในแต่ละคนแตกต่างกัน ทำให้ปฏิกิริยาต่อการติดเชื้อไวรัสต่างกัน อย่างไรก็ตามประมาณ 20% ของผู้ป่วยโรคผื่นกุหลาบจะมีลักษณะของโรคไม่เหมือนปกติ เรียกว่า atypical PR โดยอาจมีลักษณะ อาทิเช่น

  • ในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี อาจพบการกระจายของผื่นแบบเดียวกันนี้ แต่รอยโรคเป็นปื้นนูนขนาดเล็ก กระจายตามใบหน้า มือ และเท้า นอกจากนี้ยังอาจพบในหญิงตั้งครรภ์หรือคนผิวสี
  • อาจพบผื่นเป็นซีกเดียวของร่างกาย
  • ผื่นมีลักษณะเป็นตุ่มหนอง ตุ่มน้ำ
  • ผื่นมีลักษณะคล้ายผื่นลมพิษ
  • เป็นจ้ำเลือด
  • โรคผื่นกุหลาบที่มีผื่นเฉพาะที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ทำให้ยิ่งดูคล้ายซิฟิลิสระยะออกดอก (ระยะที่ 2)
  • ในรายที่มีอาการคันมากอาจพบว่ารอยโรคเปลี่ยนแปลงทำให้ดูคล้ายผิวหนังอักเสบชนิด Eczema พบรอยโรคในช่องปากได้ อาจมีลักษณะเป็นปื้นนูนแดง จุดเลือดออก และแผลในปาก

ดูแลตัวเองอย่างไรจากโรคผื่นกุหลาบ

แม้โรคผื่นกุหลาบจะเป็นโรคที่สามารถหายได้เอง แต่สำหรับแม่ที่กำลังตั้งครรภ์นั้นไม่ควรมองข้ามเพื่อดูแลตัวเองไม่ให้เป็นโรคนี้ขึ้นมาได้โดยเฉพาะในช่วง 15 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคผื่นกุหลาบได้ และแพทย์จะให้การรักษาตามอาการเป็นหลัก สำหรับผู้ป่วยทั่วไปในรายที่เป็นไม่มากอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษา เพียงแต่รอเวลาให้ผื่นหายเองภายใน 6-8 สัปดาห์  ดังนั้นการดูแลเบื้องต้นในขณะเป็นผื่น อาทิเช่น

  • หลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจทำให้ระคายเคืองต่อผิวหนังและโรคมีอาการกำเริบ เช่น หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศร้อนอบอ้าว เพราะการมีเหงื่อออกมากอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น หลีกเลี่ยงการถูกน้ำ เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นหรือน้ำร้อนจัด เพราะสามารถกระตุ้นให้ผื่นเห่อขึ้นได้ และหลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง ควรใช้สบู่อ่อน ๆ เช่น สบู่เด็กหรือสบู่เหลว
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากเนื้อผ้าสบาย ๆ เช่น ผ้าฝ้าย เพื่อช่วยระบายความร้อน
  • ให้ผิวได้สัมผัสแสงแดดบ้าง จะช่วยให้ผื่นไม่ขึ้นมากและหายเร็ว
  • หากมีอาการคัน ยาแก้ผดผื่นคัน เช่น คาลาไมน์โลชั่น ยาทาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์สำหรับแม่ท้องนั้นควรทาได้เป็นครั้งคราวและควรใช้ในปริมาณน้อย หากมีอาการคันมาก หรือมีความกังวลใจในอาการควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ เนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงจากยาได้ง่าย
  • พักผ่อนให้เพียงพอและไม่เครียด

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เป็นโรคผื่นกุหลาบโอกาสจะกลับมาเป็นโรคซ้ำอีกพบได้น้อยมาก ๆ เนื่องจากโรคนี้เป็นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันไว้ถาวร ทั้งนี้หากดูแลตัวเองในขั้นต้นแล้วยังมีผื่นแพร่กระจายจำนวนมาก หรือผู้ป่วยมีอาการคันรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อหาแนวทางในการดูแลรักษาต่อไป

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.siamrath.co.thwww.hd.co.thwww.pobpad.comwww.medthai.com

อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจ คลิก :

การติดเชื้อ เอนเทอโรไวรัส 71 โรคระบาดสายพันธุ์รุนแรง

สังเกตให้ดี! ลูกขึ้นผื่นเล็กๆ มีตุ่มใสๆ ไม่ใช่ผดร้อน แต่อาจเป็น โรคตุ่มน้ำพอง

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up