อาการแพ้ท้อง ส่วนมากมักเกิดกับคุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาสแรก แต่สำหรับคุณแม่ที่ยังมีอาการแพ้ท้องต่อเนื่องในไตรมาสสองและสามล่ะ ถือว่าผิดปกติหรือเปล่า? Amarin Baby & Kids ช่วยคุณแม่คลายสงสัย เกี่ยวกับอาการแพ้ท้องในทุกไตรมาส พร้อมคำตอบจากคุณหมอที่นี่
อาการแพ้ท้อง สัปดาห์ที่ 0-13
1.สามีแพ้ท้องแทนภรรยา
Q: “สามีแพ้ท้องแทนภรรยา งงอยู่ว่าภรรยาเป็นฝ่ายตั้งครรภ์ ..แต่ในบางกรณีเคยเจออยู่ว่าภรรยาไม่แพ้เลยแต่สามีกลับแพ้ท้องแทนภรรยา สาเหตุนี้เกิดจากอะไรครับ?” เรื่องจากคุณ buta_king
A: ทางการแพทย์อาการแพ้ท้องของคุณสามีนี้ไม่ได้เกิดจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปกับสรีระร่างกายเหมือนของฝ่ายหญิงครับ แต่เกิดจากจิตใจมากกว่า คุณสามีอาจรู้สึกกังวลอย่างไม่รู้ตัวและเครียดกับการเปลี่ยนแปลงของชีวิตใหม่ที่กำลังจะเกิดมา และพอดีกับระยะเวลาที่คุณแม่ตั้งครรภ์อ่อน ๆ คุณแม่เองอาจไม่มีอาการแพ้ แต่คุณพ่ออาเจียน เวียนศีรษะ มวนท้องคงเป็นเพราะความเครียดและกังวล ทั้งนี้ฮอร์โมนจากผู้หญิงไม่สามารถส่งต่อไปสู่คุณสามีได้ ดังนั้นน่าจะมาจากความเครียดมากกว่าครับ
2. เหม็นหน้าสามี
Q: “ตั้งครรภ์ได้ 11 สัปดาห์ค่ะ อาการแพ้ท้องต่าง ๆ เริ่มหายไปแล้ว เหลือแค่ผะอืดผะอม ก่อนหน้านี้เหม็นเกือบทุกอย่าง รวมทั้งเหม็นหน้าสามีด้วย ..เหม็นจนต้องวิ่งไปอาเจียนเลยค่ะ ตอนนี้เหม็นหน้าสามีหนักขึ้นไปอีก เขาจู้จี้ จุกจิกกับเราเยอะมาก ห้ามไปหมดทุกอย่าง ทั้งห้ามไม่ให้กินน้ำเย็น ไม่ให้กินขนมปัง ไม่ให้กินของเปรี้ยว ของเผ็ด ของเค็ม ของหวาน คือห้ามทุกอย่างที่เขาเห็นว่าไม่ดี ..นี่ฉันท้องหรือเข้าคอร์สอดอาหารคะเนี่ย” เรื่องจากคุณ i’ll be your girl
A: อาการเหม็นหน้าสามีไม่เกี่ยวกับอาการแพ้ท้องโดยตรงครับ แต่มีสาเหตุร่วมมาจากความเครียดและฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปของคุณแม่ท้องเช่นเดียวกับกรณีแรก ซึ่งคล้ายกับช่วงที่คุณผู้หญิงมีประจำเดือนแล้วฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงบ่อย หงุดหงิดง่าย แต่คนท้องต้องท้องไปตลอด 9 เดือน บางคนมีอาการหงุดหงิดมากหรือน้อยแตกต่างกัน (บางคนท้องแล้วอารมณ์ดีก็มี) ส่วนเรื่องเหม็นหน้าสามีน่าจะเกิดเพราะความเครียดจากความกดดันและถูกห้ามทำอะไรหลาย ๆ อย่างซึ่งก่อนท้องอาจจะไม่เคยถูกกำหนดมากมายขนาดนี้ ฉะนั้นคนในครอบครัวต้องเข้าใจว่าสรีระและอารมณ์ของคนท้องนั้นจะเปลี่ยนแปลงเยอะมาก เธออาจจะเผลอหงุดหงิดกับเรื่องไม่เป็นเรื่องบ้างต้องให้กำลังใจและดูแลกันครับ
อ่านต่อ >> คลายสงสัยอาการแพ้ท้อง สัปดาห์ที่ 14-27 คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อาการแพ้ท้อง สัปดาห์ที่ 14-27
3. ชอบกินอะไรแปลกๆ
Q: “สงสัยมานานแล้วค่ะว่าทำไมคนท้องถึงชอบกินอะไรแปลก ๆ กัน ที่สงสัยเพราะตอนเด็กแอบน้อยใจที่คุณแม่เล่าว่าชอบกินดินตอนท้อง ..โดนเพื่อนแซวจนไม่กล้าบอกใครอีกเลย กินอะไรที่มันไฮโซกว่านี้ไม่ได้หรือ? ส่วนตอนท้องพี่ชายแม่ก็กินถ่าน และต้องเป็นถ่านไม้มะขามอย่างเดียว คุณแม่ท่านอื่นเป็นเหมือนกันไหมคะ” เรื่องจากคุณ adieu
A: เรื่องอาการอยากกินของแปลก ๆ ระหว่างตั้งครรภ์นั้นหมอเจอเคสมาปรึกษาบ้าง เช่น อยากกินดิน อยากกินสบู่หรือชอล์ก ซึ่งแน่นอนว่ามันกินไม่ได้ครับ แม่ท้องควรจะรับประทานอาหารที่มีประโยชน์หลากหลาย และถูกหลักโภชนาการครบถ้วน 5 หมู่ อาหารควรสะอาดและปลอดภัย รวมทั้งดื่มน้ำให้เพียงพอ
อะไรที่อยากกินแล้วไม่เป็นอันตรายก็สามารถกินได้ครับ แต่บางอย่างที่กินแล้วเป็นพิษต่อร่างกาย หรือไม่ใช่สิ่งที่ควรจะกินหมอก็ไม่แนะนำเด็ดขาด เพราะอาจส่งผลอันตรายทั้งต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้ครับ
4. แพ้ท้องเมื่อไหร่จะหาย
Q: “อายุครรภ์ 29 สัปดาห์ค่ะ รู้สึกเบื่ออาหารและยังมีอาการแพ้ท้องอยู่เลยค่ะ คนท้องนี่เขาแพ้ท้องกันถึงอายุครรภ์เท่าไหร่คะ” เรื่องจากคุณ พลอยชมพู
A: ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์แต่ละคนจะมีระยะเวลาแพ้ท้องไม่เหมือนกับครับโดยส่วนมากอาการจะดีขึ้นหลังอายุครรภ์ได้ 12-16สัปดาห์การแพ้ท้องเกิดจากฮอร์โมนในขณะตั้งครรภ์ บางคนไม่แพ้เลย แต่บางคนก็แพ้ไปจนถึงใกล้คลอดซึ่งจะเป็นส่วนน้อย จะมีอาการอาเจียนมากน้อยไม่เท่ากัน หากรอที่จะไปพบแพทย์ตามกำหนดฝากครรภ์ทุกเดือนไม่ไหว ก็ให้มาหาหมอก่อนวันนัดได้ครับ เพราะอาจจะมีอาการแทรกซ้อนจากโรคกระเพราะหรือขาดน้ำและเกลือแร่ได้ครับ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อาการแพ้ท้อง สัปดาห์ที่ 28-41
5. เครียดไปหมด
Q: “ยิ่งใกล้กำหนดคลอด กลายเป็นเริ่มระแวงและเครียด ..แรก ๆ ก็ดีใจดี๊ด้า ตอนนี้ 32-33 Weeks แล้ว เริ่มเตรียมตัวบ้าง แอบกลัวว่าจะคลอดอย่างไร จะเลี้ยงลูกอย่างไร ..เครียดไปหมด” เรื่องจากคุณ แค่คนๆหนึ่ง
A: ในช่วงใกล้คลอดคุณแม่บางคนจะมีอาการของโรคซึมเศร้า ซึ่งบางคนคลอดแล้วก็ยังไม่หาย เพราะกังวลว่าจะเลี้ยงลูกออกมาได้ไม่ดี และเหตุผลอื่น ๆ อีกมาก จนกลายเป็นอาการซึมเศร้าหลังคลอดที่เรียกว่า Baby Blue (หรือถ้ามีอาการ มาก ๆ จนเป็นโรคซึมเศร้าเรียกว่าPostnatal Depression) ในกรณีนี้ทางคุณหมอที่ทำคลอดจะต้องส่งต่อให้คุณหมอจิตแพทย์ช่วยประเมินและเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป อาจจะให้ยาเพื่อบรรเทาอาการ หรือแนะนำให้คุณแม่ได้พักผ่อนคลายกังวลลงบ้าง
ดังนั้นขอแนะนำให้คุณแม่หาช่วงเวลาพักผ่อน คิดแต่เรื่องบวก และไม่ทำให้ตัวเองทุกข์ใจ โดยเฉพาะบ้านที่มีสมาชิกอยู่กันหลายคนก็ช่วยกันเลี้ยงได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
Baby Blue คืออะไร
อาการซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากปัจจัยของฮอร์โมนของแม่เปลี่ยนแปลงไปอีกเช่นกัน ทำให้กลายเป็นคนหงุดหงิดง่าย มีความรู้สึกเศร้า หดหู่อยากแยกตัวไปอยู่คนเดียว ไม่อยากเลี้ยงลูก กลัวจะเลี้ยงลูกได้ไม่ดี ทนเสียงเด็กร้องไม่ได้ อาจจะเป็นชั่วคราวใน 4 – 6 สัปดาห์แรกหลังคลอดบุตร จากนั้นจะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง
อ่านต่อ บทความน่าสนใจ
บทความโดย นพ. สกิทา ม่วงไหมทอง ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลศิริราชและที่ปรึกษา About Us Advanced Maternity Center
นิตยสาร Amarin Baby & Kids ฉบับเดือนกันยายน 2559