หลายท่านอาจไม่เคยคุ้นกับคำว่า “โรคฮาชิโมโตะ” หากพูดง่ายๆ ก็คือเป็นโรคไทรอยด์อักเสบเรื้อรังแบบหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายลดลง ซึ่งเป็นอันตรายต่อแม่ท้อง เพราะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการแท้งลูกในครรภ์ได้ค่ะ
ในปี พ.ศ. 2533 มีรายงานการค้นพบว่าภูมิคุ้มกันต่อต้านต่อมไทรอยด์ที่อยู่ในระดับสูงมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการแท้งที่สูงขึ้น แต่แม้จะมีการวิจัยในประเด็นนี้มากมาย สูตินรีแพทย์ส่วนใหญ่ก็จะไม่ได้ให้คุณแม่ตั้งครรภ์ตรวจระดับภูมิคุ้มกันต่อต้านต่อมไทรอยด์ และคนส่วนใหญ่ก็ไม่ทราบว่าควรจะต้องขอตรวจอะไร
โรคไทรอยด์อักเสบเรื้อรังฮาชิโมโตะ (Hashimoto Thyroiditis) หรือเรียกสั้นๆ ว่า โรคฮาชิโมโตะ เป็นภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโจมตีต่อมไทรอยด์เพราะนึกว่าต่อมไทรอยด์เป็นผู้คุกคามเสียเอง แทนที่จะโจมตีเพียงผู้บุกรุกตัวจริงอย่างเช่นเชื้อโรคต่างๆ เท่านั้น และยังเป็นสาเหตุที่พบมากที่สุดของการพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ด้วย โรคนี้ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ นพ. ฮาคารุ ฮาชิโมโตะ ซึ่งเป็นผู้อธิบายลักษณะอาการของโรคนี้ได้อย่างถ่องแท้ ทำให้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการรักษาผู้ป่วย
อาการที่สังเกตได้ง่ายของโรคฮาชิโมโตะคือ รู้สึกหนาวง่าย น้ำหนักขึ้นเล็กน้อย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ท้องผูกคอโตเนื่องจากต่อมไทรอยด์โต ผิวหนังแห้ง ผมร่วง ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ สมาธิสั้น หน้าบวม
อ่านต่อ “ทำไมโรคฮาชิโมโตะจึงอันตรายต่อแม่ท้อง” คลิกหน้า 2
คุณอาจจะเป็น “โรคฮาชิโมโตะ” โดยไม่รู้ตัวก็ได้
จากข้อมูลของสมาคมไทรอยด์แห่งสหรัฐอเมริกา มีหญิงตั้งครรภ์ในไตรมาสแรกเพียง 10-20% เท่านั้นที่ตรวจพบภูมิคุ้มกันที่บ่งบอกว่าเป็นโรคฮาชิโมโตะ แต่มีอาการแสดงเป็นเพียงภาวะต่อมไทรอยด์โต (Euthyroid) ซึ่งหมายความว่าต่อมไทรอยด์ทำงานปกติจากการวัดระดับฮอร์โมน TSH (Thyroid Stimulating Hormone ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์) ที่เป็นการตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์แบบหนึ่ง ต่อมไทรอยด์ของคุณแม่ท้องกลุ่มนี้ทำงานอย่างปกติในช่วงแรกของการตั้งครรภ์และคุณแม่คงรู้สึกปกติ ทั้งที่ร่างกายโจมตีและทำลายต่อมไทรอยด์ของตัวเองอย่างเงียบเชียบ มีคุณแม่ท้องจำนวนไม่น้อยในกลุ่มนี้ที่จะมีระดับฮอร์โมน TSH สูงกว่าที่เกณฑ์ที่กำหนดระหว่างตั้งครรภ์ในช่วงก่อนจะถึงไตรมาส 3 ก่อให้เกิดอันตรายต่อลูกในครรภ์ได้
ลำพังเพียงการตรวจระดับฮอร์โมน TSH อาจไม่เพียงพอ
การตรวจที่สามารถใช้วินิจฉัยโรคฮาชิโมโตะได้คือผลตรวจจากห้องปฏิบัติการ หากคุณหมอไม่ได้สั่งตรวจให้ คุณแม่ตั้งครรภ์ที่คิดว่าตัวเองมีความเสี่ยงหรือไม่แน่ใจสามารถขอตรวจเพิ่มได้ โดยควรตรวจ 2 อย่าง คือ
- ไทรอยด์เพอร์ออกซิเดส แอนติบอดี (Thyroid Peroxidase Antibodies หรือ TPOAb)
- ไทโรโกลบูลิน แอนติบอดี (Thyroglobulin Antibodies หรือ TgAb)
ภูมิคุ้มกันต่อต้านต่อมไทรอยด์และการแท้ง
ทีมนักวิจัยที่ตีพิมพ์รายงานลงใน British Medical Journal ในปี พ.ศ. 2554 ที่รวบรวมข้อมูลจากการศึกษาต่างๆ ทั้งหมด 31 ชิ้น ที่มีหญิงตั้งครรภ์ 12,126 รายที่มีความเกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันต่อต้านต่อมไทรอยด์และการแท้งบุตร พบว่ามีงานวิจัยถึง 28 ชิ้นจาก 31 ชิ้นที่พบว่า ภูมิคุ้มกันต่อต้านต่อมไทรอยด์เพิ่มความเสี่ยงในการแท้งมากขึ้นถึง 290% นักวิจัยให้ความเห็นว่า “แม้ในหญิงตั้งครรภ์ที่ต่อมไทรอยด์ทำงานปกติ งานวิจัยก็ยังรายงานว่าการพบภูมิคุ้มกันต่อต้านต่อมไทรอยด์ โดยเฉพาะไทรอยด์เพอร์ออกซิเดส แอนติบอดี (TPO แอนติบอดี) ส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ เช่น การแท้ง การคลอดก่อนกำหนด และยังส่งผลต่อการพัฒนาระบบประสาทของเด็กในอนาคตด้วย”
อ่านต่อ “หากแม่ท้องกังวลว่าตนอาจเป็นโรคฮาชิโมโตะ ควรทำอย่างไร” คลิกหน้า 3
ดังนั้น สมาคมไทรอยด์แห่งสหรัฐอเมริกาจึงกำหนดแนวทางสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ไว้ว่า ผู้หญิงที่เป็นโรคไทรอยด์อักเสบเรื้อรังฮาชิโมโตะ ซึ่งไม่ได้รับการรักษาใดๆ จะต้องตรวจเช็กว่าพร่องฮอร์โมนไทรอยด์หรือไม่ในช่วงตั้งครรภ์ ควรวัดระดับฮอร์โมน TSH ทุกๆ 4 สัปดาห์ระหว่างครึ่งแรกของการตั้งครรภ์ และอย่างน้อยหนึ่งครั้งระหว่างช่วงอายุครรภ์ 26-32 สัปดาห์ หากพบว่าระดับฮอร์โมน TSH สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานในหญิงตั้งครรภ์ ควรได้รับการรักษาด้วยการให้ฮอร์โมนทดแทน (เกณฑ์มาตรฐานของระดับฮอร์โมน TSH ในหญิงตั้งครรภ์ ในไตรมาส 1 คือ 0.1-2.5 mIU/L ไตรมาส 2 คือ 0.2-3.0 mIU/L และไตรมาส 3 คือ 0.3-3.0 mIU/L)
นอกจากนี้ นพ.เดวิด คลาร์ก ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาให้ความเห็นไว้ดังนี้
- ในฐานะแม่ หากคุณตรวจพบว่ามี TPO แอนติบอดี ก็หมายความว่าคุณมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งทำให้มีโอกาสแท้งและคลอดก่อนกำหนด
- หากคุณมี TPO แอนติบอดี หมายความว่าระบบภูมิคุ้มกันของคุณผิดปกติ และระบบดังกล่าวกำลังโจมตีเนื้อเยื่อหนึ่งๆ ของตัวคุณเองอยู่ และมันก็สามารถจะไปโจมตีอย่างอื่นได้ง่ายเช่นกัน อย่างเช่นทารกในครรภ์ที่กำลังเติบโต
หากคุณแม่ท้องไม่มั่นใจว่าต่อมไทรอยด์ของตนเองมีความผิดปกติหรือไม่ หรือเป็นโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์หรือเคยเป็นมาก่อน อย่าลังเลที่จะขอตรวจเพิ่มเติม เพื่อความปลอดภัยของลูกในครรภ์ค่ะ
ที่มา : hypothyroidmom.com, www.med.nu.ac.th
ภาพ : Shutterstock