คุณผู้หญิงหลายท่านอาจกำลังกังวลหากตนเองมีโรคประจำตัวอย่างเบาหวาน เมื่อตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงหรืออันตรายมากเพียงใด มาดูคำตอบจากสูตินรีแพทย์กันค่ะ
Q: ตอนนี้อายุ 33 ปีเป็นเบาหวานแบบที่ต้องฉีดอินซูลินค่ะ แต่อยากมีลูกมากๆ ไม่ทราบว่าจะมีโอกาสไหมคะ และจะเสี่ยงมากกว่าคนปกติขนาดไหน ลูกจะเป็นเบาหวานด้วยหรือเปล่า รวมถึงตอนคลอดด้วยค่ะ จะสามารถคลอดธรรมชาติได้หรือเปล่า
คุณแม่ที่เป็นเบาหวานก่อนตั้งครรภ์ สามารถตั้งครรภ์ได้ค่ะ แต่หากเป็นเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลด้วยการรับประทานยาลดน้ำตาล จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการควบคุมระดับน้ำตาล จากยารับประทานเป็นยาฉีดอินซูลินก่อน ถึงจะปล่อยให้ตั้งครรภ์
สำหรับคุณแม่รายนี้ เป็นคุณแม่ที่รักษาด้วยการฉีดยาอินซูลินอยู่แล้ว จึงไม่ต้องปรับเรื่องยาแต่อย่างใด แต่ที่สำคัญคือ ค่าระดับน้ำตาลในเลือดและค่าน้ำตาลสะสมควรอยู่ในเกณฑ์ปกติก่อนอย่างน้อย 3-6 เดือน จึงอนุญาตให้มีการตั้งครรภ์ได้ เพราะถ้าคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี แล้วปล่อยให้เกิดการตั้งครรภ์ อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ได้หลายอย่าง
โอกาสเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์
- การแท้งบุตรใน 3 เดือนแรก จะมากขึ้น
- ความพิการของลูก โดยเฉพาะเรื่องความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ที่พบบ่อยคือ ระบบหัวใจและหลอดเลือด
- การคลอดก่อนกำหนด
- ภาวะแฝดน้ำ คือมีน้ำคร่ำมากกว่าปกติ ทำให้คุณแม่เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก
- ภาวะที่ลูกตัวใหญ่หรืออ้วนผิดปกติตั้งแต่อยู่ในท้องของมารดา ทำให้อัตราการผ่าตัดคลอดเพิ่มสูงขึ้น
- การที่เด็กคลอดออกมาแล้วมีภาวะการหายใจผิดปกติ ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ระดับแคลเซียมในเลือดผิดปกติ ภาวะเลือดข้นมากเกินไป ภาวะตัวเหลืองจากสารบิริลูบินเพิ่มผิดปกติ
- ภาวะแทรกซ้อนจากครรภ์เป็นพิษ
อ่านต่อ “คำแนะนำหากอยากตั้งครรภ์แต่ป่วยด้วยโรคเบาหวาน” คลิกหน้า 2
เป็นเบาหวานแล้วตั้งครรภ์ ลดภาวะแทรกซ้อนได้ เพียงดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี
หากคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เป็นเบาหวานแบบที่ต้องฉีดอินซูลิน สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ใกล้เคียงค่าปกติ ด้วยการควบคุมการรับประทานอาหารให้ถูกต้องตามคำแนะนำของนักโภชนาการ ปรับระดับยาอินซูลิน ตามความเหมาะสม เจาะเลือดตรวจดูระดับน้ำตาลในเลือดอย่างเคร่งครัดทุกวัน วันละ 2-4 ครั้ง จะทำให้ภาวะแทรกซ้อนตามข้างต้นลดน้อยลง คุณแม่สามารถคลอดบุตรที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่ต่างจากคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่มีเบาหวานแทรกซ้อน
และสำหรับเด็กที่มีสภาวะอ้วนหรือตัวใหญ่กว่าเกณฑ์ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ร่วมกับคุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ทารกกลุ่มนี้จะมีโอกาสเติบโตเป็นเด็กอ้วน และหากมีพฤติกรรมที่ไม่ชอบออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลมาก จะมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานเหมือนคุณแม่ได้ตั้งแต่อายุน้อย ซึ่งจะส่งผลต่อโรคอื่นๆ เช่น โรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดตา โรคหัวใจ หรือโรคไตได้ แต่ถ้าเด็กที่มีการดูแลตัวเองด้วยการควบคุมอาหารและน้ำหนัก ไม่ปล่อยให้เป็นโรคอ้วน ออกกำลังกายเป็นประจำ เลือกรับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ เด็กกลุ่มนี้ก็จะมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นเบาหวานเหมือนคุณแม่ค่ะ
เรื่อง : นาวาตรี พญ. ณัฐยา รัชตะวรรณ สูตินรีแพทย์ประจำศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์
ภาพ : Shutterstock