ตั้งครรภ์ 9 เดือน ดีใจกับคุณแม่ด้วยค่ะที่จะได้เห็นหน้าลูกน้อยในเร็ววันนี้แล้ว เพราะในช่วงตั้งครรภ์ 9 เดือนนี้ ลูกน้อยพร้อมที่จะออกมาลืมตาดูโลกและพบหน้าคุณแม่ ร่างกายคุณแม่เองก็มีสัญญาณที่บ่งบอกถึงการคลอดอีกด้วยค่ะ
ตั้งครรภ์ 9 เดือน และพัฒนาการทารกในครรภ์
ตั้งครรภ์ 9 เดือน การเปลี่ยนแปลง อาการแม่ท้อง
-
ท้องลด
ช่วงใกล้คลอดศีรษะของลูกน้อยลงมาในช่องเชิงกรานใกล้ปากมดลูกเพื่อเตรียมคลอดแล้ว จะทำให้คุณแม่มีอาการท้องลด โดยที่คุณแม่จะรู้สึกเบาสบายแถวๆ ลิ้นปี่รวมทั้งยังหายใจได้สบายขึ้น แต่หากเข้าสู่การตั้งครรภ์เดือนที่ 9 แล้ว ท้องยังไม่ลดลงก็ไม่ผิดปกติค่ะ เพราะคุณแม่อาจจะมีอาการท้องลดในช่วงที่เจ็บครรภ์คลอดได้
-
จุกเสียด แสบร้อนกลางอก
เพราะมดลูกของคุณแม่ได้ขยายตัวขึ้นตามตัวของลูกน้อยที่ใหญ่คับครรภ์ จนทำให้ดันกระเพาะอาหารและลำไส้คุณแม่ให้สูงขึ้น ส่งผลให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมา ทำให้คุณแม่มีอาการแสบร้อนกลางอกได้ วิธีบรรเทาอาการคือ ให้คุณแม่กินอาหารในปริมาณน้อยๆ แต่พออิ่ม คืองดการกินอาหารครั้งเดียวเยอะๆ แต่ให้กินครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยมื้อ พยายามเคี้ยวอาหารให้ละเอียด หลังกินอาหารควรนั่งพักสักครู่ ไม่นอนทันที ก็จะช่วยป้องกันอาการแสบร้อนกลางอก และจุกเสียดได้ค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ติดตาม คำแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 9 เดือน คลิกต่อหน้า 2
เจ็บท้องจริง เจ็บท้องเตือน ต่างกันอย่างไร?
อาการ “เจ็บท้องเตือน” คือ เกิดจากการที่มดลูกขยายตัวเต็มที่ และเคลื่อนลงต่ำเพื่อเตรียมคลอด จนมีอาการหดเกร็งตัวเป็นบางครั้ง ซึ่งอาการแสดงของเจ็บท้องเตือนคือ
- คุณแม่จะรู้สึกเจ็บท้อง ท้องแข็ง รู้สึกปวดจี๊ดๆ ที่ท้อง
- มดลูกแข็งตัวจนสามารถคลำและรู้สึกได้ว่ามีก้อนแข็งๆ ที่หน้าท้อง
- มีอาการท้องแข็งและเจ็บท้องที่ไม่แน่นอน ไม่มีจังหวะสม่ำเสมอ
- เมื่อคุณแม่ได้พักผ่อนด้วยการนั่งหรือนอนนิ่งๆ อาการท้องแข็งก็จะหายไป
อาการ “เจ็บท้องจริง” คือ อาการเจ็บท้องที่เกิดจากมดลูกบีบรัดตัวเพื่อจะคลอด ทำให้คุณแม่มีอาการ
- รู้สึกเจ็บท้อง มีอาการท้องแข็ง เจ็บท้องมากอยู่นาน
- มีอาการเจ็บสม่ำเสมอ และมีอาการเจ็บที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หรือเจ็บนานขึ้น
- มีอาการเจ็บท้อง ท้องแข็งร่วมกับมีอาการปวดบริเวณหลังร้าวลงมาถึงช่วงล่าง หรือจนถึงหน้าขา
- มีมูกปนเลือดออกมาทางช่องคลอด หรือมีน้ำเดิน
หากคุณแม่มีอาการเจ็บท้องจริงดังที่กล่าวมา ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะคุณแม่กำลังจะคลอดลูกน้อยแล้วค่ะ
คลอดธรรมชาติ และการผ่าตัดคลอด
การจะผ่าคลอด หรือคลอดธรรมชาติของคุณแม่นั้น โดยส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะขึ้นอยู่กับสุขภาพร่างกายและความต้องการของคุณแม่ โดยสูติแพทย์จะเป็นผู้ดูแลและตรวจภายใน เพื่อประเมินขนาดของอุ้งเชิงกรานและขนาดของลูกน้อยเมื่ออายุครรภ์ครบกำหนด รวมถึงสุขภาพคุณแม่ และภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ซึ่งหากทุกอย่างเหมาะสม และคุณแม่มีความตั้งใจที่จะคลอดธรรมชาติ โดยไม่มีข้อบ่งชี้ให้ต้องผ่าคลอด ก็จะสามารถคลอดตามธรรมชาติได้
ส่วนการผ่าตัดคลอด ในทางวิชาการจะทำเมื่อมีข้อบ่งชี้ต่างๆ หรือความเสี่ยงต่อสุขภาพคุณแม่และลูกน้อย เช่น ลูกไม่กลับหัวหรืออื่นๆ หรือในปัจจุบันที่มักจะเป็นไปตามความต้องการของคุณแม่ โดยความแตกต่างของการคลอด คือ การคลอดธรรมชาติ จะเจ็บน้อยกว่า คุณแม่และลูกน้อยจะปรับตัวได้เร็วและดีกว่าการผ่าตัดคลอด ส่วนการผ่าตัดคลอดต้องใช้แพทย์ วิสัญญีแพทย์ และความพร้อมของห้องผ่าตัด ใช้วิธีการที่ยุ่งยากกว่า คุณแม่จะฟื้นตัวได้ช้ากว่าคลอดธรรมชาติ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้และความจำเป็น ว่าการคลอดวิธีไหนจะปลอดภัยต่อคุณแม่และลูกน้อยมากที่สุดค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
เตรียมพร้อมให้นมแม่ แก่ลูกน้อย
ลูกน้อยของคุณแม่จะได้รับคุณค่าน้ำนมคุณภาพจากคุณแม่หลังคลอดทันทีและเต็มที่ หากคุณแม่มีการเตรียมพร้อมดูแลเต้านม และแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง ซึ่งปัญหาการให้นมแม่ที่พบบ่อย ได้แก่ ปัญหา หัวนมสั้น
แก้ปัญหา หัวนมสั้น
หากคุณแม่มีหัวนมสั้น สามารถแก้ไขได้ด้วยการนวดคลึงเต้านมตั้งแต่ตั้งครรภ์ โดยมีวิธีการดังนี้ (ยกเว้นกรณีคุณแม่นวดเต้านมแล้วท้องแข็ง เจ็บท้อง ควรงดการนวดเพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนด)
- ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้จับด้านข้างของหัวนม คลึงไปมาเบาๆ และจับหัวนมดึงยืดออกมา เล็กน้อยแล้วปล่อย ควรทำซ้ำ 2-3 ครั้ง นานครั้งละ 2-5 นาที จะช่วยให้หัวนมของคุณแม่ที่สั้นหรือฝังอยู่ในลานนม ยื่นยาวออกมาได้
- วางนิ้วหัวแม่มือทั้ง 2 ข้างให้ชิดโคนหัวนม กดและดึงออกจากกันไปทางด้านข้างทั้ง 2 ข้าง ทำแบบนี้ทั้งทางด้านบนและด้านล่าง และทำซ้ำหลายๆครั้งให้รอบบริเวณหัวนม
หากลองทำแล้วหัวนมคุณแม่ยังสั้นอยู่ ควรลองปรึกษาแพทย์ถึงการแก้ปัญหานี้ในวิธีอื่นๆ เพื่อให้หลังคลอดคุณแม่มีเต้านมและหัวนมที่พร้อมสำหรับการให้ลูกน้อยได้ทันทีค่ะ
ติดตาม พัฒนาการทารกในครรภ์ 9 เดือน คลิกต่อหน้า 3
พัฒนาการทารกในครรภ์ 9 เดือน
- ลูกน้อยครบกำหนดคลอดจะมีความยาวประมาณ 50 ซม.และน้ำหนัก 3,000-3,500 กรัม
- ลูกน้อยแข็งแรงเติบโตสมบูรณ์พร้อมที่คลอด ทำให้เวลาลูกน้อยเคลื่อนไหว จะเห็นเป็นรอยนูนชัดเจนที่หน้าท้องคุณแม่ได้
- ปอดของลูกน้อยมีการพัฒนาสมบูรณ์เต็มที่ พร้อมที่จะช่วยให้ลูกหายใจหลังคลอดได้เอง
- ลูกน้อยยังมีระบบภูมิต้านทานที่ทำงานไม่สมบูรณ์เต็มที่ จึงยังต้องอาศัยภูมิต้านทานโรคจากคุณแม่ผ่านทางรก และเมื่อหลังคลอดลูกน้อยได้กินนมแม่ ก็จะช่วยสร้างภูมิต้านทานให้ลูกน้อยได้มากยิ่งขึ้น
- ลูกน้อยอาจมีการดิ้นน้อยลง เพราะตัวโตมีพื้นที่ดิ้นน้อย แต่คุณแม่จะยังรู้สึกได้ว่าลูกดิ้นอยู่ แต่หากคุณแม่รู้สึกว่าลูกไม่ดิ้นเลยจนผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- ไขมันใต้ผิวหนังของลูกน้อยสมบูรณ์ทุกส่วน ผิวหนังของลูกน้อยจึงเนียนนุ่ม แต่ยังคงมีไขสีขาวเหลืออยู่บ้าง เพื่อช่วยหล่อลื่นให้ลูกคลอดได้ง่าย
อ่านบทความอื่นที่น่าสนใจ
มดลูกเข้าอู่ช้า และอาการผิดปกติของมดลูกหลังคลอด
เซ็กส์หลังคลอด เริ่มเมื่อไหร่?
9 วิธีลดน้ำหนักหลังคลอด..ให้คุณแม่กลับมาสวยเป๊ะเหมือนเดิม!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่