เข้าสู่ไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ เมื่อคุณแม่ ตั้งครรภ์ 7 เดือน จะเริ่มมีอาการนอนไม่หลับ ปวดหลัง ขาและเท้าบวม ร่วมกับอาการอื่นๆ ซึ่งเราก็จะได้แนะนำวิธีการบรรเทาอาการและแก้ไขมาให้คุณแม่ เพื่อให้สามารถรับมือกับการตั้งครรภ์ในช่วงนี้ได้อย่างมีคุณภาพค่ะ
ตั้งครรภ์ 7 เดือน และพัฒนาการทารกในครรภ์
ตั้งครรภ์ 7 เดือน การเปลี่ยนแปลง อาการแม่ท้อง
-
นอนไม่หลับ
เพราะคุณแม่มีท้องที่ใหญ่และเริ่มรู้สึกอุ้ยอ้ายอึดอัด ทำให้นอนหลับได้ไม่สบายตัว คุณแม่จึงไม่สามารถนอนหลับสนิทได้ตลอดคืน หากคุณแม่มีอาการเพลียง่วงนอนตอนกลางวันเพราะนอนไม่หลับตอนกลางคืน ควรหาเวลางีบหลับกลางวันบ้างสักพัก เพื่อไม่ให้ร่างกายอ่อนเพลีย จนไม่สบายหรือหน้ามืดเป็นลม
-
ร่างกายเริ่มสร้างน้ำนม
ร่างกายของคุณแม่จะมีการเริ่มสร้างหัวน้ำนมขึ้นแล้ว เพื่อเตรียมพร้อมต้อนรับลูกน้อย หากบังเอิญมีการคลอดก่อนกำหนด และเพื่อสร้างสะสมไว้ให้ลูก คุณแม่จึงอาจสังเกตเห็นว่ามีน้ำนมสีเหลืองใสๆ ออกมาจากหัวนมได้
-
ปวดหลัง
เนื่องจากร่างกายคุณแม่มีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับที่กระดูกเชิงกรานซึ่งเป็นส่วนรับน้ำหนักด้านล่างมีการขยายตัวเตรียมคลอด ทำให้หลังของคุณแม่ต้องรับน้ำหนักเต็มที่ นอกจากนี้ยังส่งผลทำให้ฐานรับน้ำหนักกระดูกสันหลังที่กระดูกเชิงกรานมีการเคลื่อนตัวคลอนแคลน ทำให้คุณแม่ปวดหลัง และอาจรู้สึกปวดกระดูกหัวหน่าวและบริเวณก้นกบได้อีกด้วย ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการปวดมากขึ้น คุณแม่จึงควรสวมรองท้าเตี้ยๆ ที่เดินสบาย เดิน นั่ง ยืนให้ถูกท่า ไม่เปลี่ยนอิริยาบถทันที ไม่ยกของหนัก และไม่นั่งเก้าอี้หรือนอนเตียงที่นุ่มจนเกินไป ซึ่งจะยิ่งเพิ่มอาการปวดหลังมากขึ้น
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
-
สังเกตความดันและครรภ์เป็นพิษ
ในช่วงตั้งครรภ์คุณหมอควรหมั่นเช็กความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากหากมีภาวะความดันโลหิตสูงในขณะตั้งครรภ์จะเสี่ยงต่อการเป็นครรภ์เป็นพิษ โดยจะมีอาการบวมมากที่บริเวณใบหน้า แขนและขา เวียนศีรษะ ตาพร่ามัว น้ำหนักตัวเพิ่มอย่างรวดเร็ว มีความดันโลหิตสูง และหากมีอาการรุนแรงจะทำให้เกิดอาการชักและหมดสติ จนถึงกับคลอดก่อนกำหนด คุณแม่และลูกน้อยมีภาวะอันตรายที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้อีกด้วย
ครรภ์เป็นพิษ จึงเป็นภาวะเสี่ยงที่อันตรายอย่างยิ่งสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ดังนั้น คุณแม่จึงควรหมั่นไปฝากครรภ์สม่ำเสมอ ไปพบแพทย์และปรึกษากรณีมีอาการผิดปกติต่างๆ คอยสังเกตร่างกายว่าบวมมากเกินไปหรือไม่ ปวดศีรษะเวียนหัวผิดปกติหรือเปล่า เพื่อการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรงจนไม่สามารถรักษาได้ทันท่วงที
-
ถ่ายปัสสาวะบ่อยขึ้น
อาการถ่ายปัสสาวะบ่อยจะกลับมาหาคุณแม่อีกครั้งในช่วงนี้ เพราะมดลูกที่ขยาย ประกอบกับน้ำหนักตัว และการดิ้นของลูกน้อยในครรภ์จะไปกดลงบนกระเพาะปัสสาวะของคุณแม่ ทำให้คุณแม่มีอาการถ่ายปัสสาวะบ่อยขึ้น