AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ตั้งครรภ์ 5 เดือน และพัฒนาการทารกในครรภ์

ตั้งครรภ์ 5 เดือน หลังจากในเดือนที่ผ่านมาคุณแม่จะได้ตื่นเต้นกับการดิ้นครั้งแรกของลูกแล้ว การตั้งครรภ์ 5 นี้ ลูกน้อยก็ยังมีพัฒนาการใหม่ๆ มาให้คุณแม่ได้ดีใจกันอีกด้วยค่ะ ไปดูกันว่า พัฒนาการทารกในครรภ์ 5 เดือน จะทำอะไรได้ และคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้น

ตั้งครรภ์ 5 เดือน และพัฒนาการทารกในครรภ์

 

ตั้งครรภ์ 5 เดือน การเปลี่ยนแปลง อาการแม่ท้อง

ช่วงนี้คนอื่นๆ จะสังเกตได้ชัดเจนแล้วว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ เพราะท้องคุณแม่จะใหญ่ เอวจะหายไปชัดเจน แถมยังมีริ้วรอยที่หน้าท้องหรืออาการท้องลายเกิดขึ้นได้บ้างแล้ว นอกจากนี้ผิวหนังตามบริเวณต่างๆ ของคุณแม่เช่น ใบหน้า แขน ไหล่ จะปรากฏให้เห็นเป็นเส้นเลือดฝอยที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น มองดูเหมือนเป็นตาข่ายใยแมงมุม แต่รอยเส้นเลือดฝอยที่เด่นชัดนี้จะหายได้เองหลังคลอดค่ะ

ในขณะตั้งครรภ์ คุณแม่มักมีอาการท้องผูกจากการทำงานของฮอร์โมนที่ทำให้ระบบการย่อยเปลี่ยนไป ร่วมกับกระเพาะอาหารและลำไส้ถูกเบียดถูกกดจากมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้น ซึ่งวิธีการป้องกันและบรรเทาอาการท้องผูกสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์คือ

* ดื่มน้ำให้มาก เพื่อช่วยขับของเสียและเพิ่มระดับน้ำในร่างกาย

* กินผักผลไม้ทุกวัน เพื่อให้ได้รับกากใยอาหาร ช่วยในการขับถ่าย

* กินข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือแทนข้าวขาว

* หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ด รสจัด เพื่อบรรเทาอาการแสบร้อนขณะขับถ่าย

* ไม่ควรกินยาระบาย แต่เลือกใช้วิธีกินน้ำลูกพรุน หรือน้ำผลไม้ที่น้ำตาลน้อยเพื่อช่วยให้ขับถ่ายง่ายขึ้น

บทความแนะนำ ตารางเปรียบเทียบสารอาหารใน ลูกพรุนและน้ำลูกพรุน แก้อาการท้องผูก

ในช่วง ตั้งครรภ์ 5 เดือน คุณแม่อาจจะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองขี้ร้อนและเหงื่อออกง่าย สาเหตุเกิดจากระบบเผาผลาญหรือสันดาปในร่างกายที่ทำงานมากขึ้น รวมถึงต่อมไทรอยด์ที่ทำงานเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้คุณแม่รู้สึกร้อนง่าย เหนื่อยง่าย หายใจหอบเป็นบางครั้ง ดังนั้น หากรู้สึกร้อนเมื่อไร ควรนั่งพักในสถานที่ที่มีอากาศเย็นสบาย เปิดเครื่องปรับอากาศนั่งผ่อนคลาย หรืออาบน้ำให้รู้สึกสดชื่นขึ้นได้ค่ะ

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ติดตาม คำแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 5 เดือน คลิกต่อหน้า 2

 

เมื่อคุณแม่ท้องใหญ่ขึ้น อาจทำให้มีปัญหาเวลานอนหลับ จึงขอแนะนำท่านอนที่จะช่วยให้คุณแม่นอนหลับได้ง่าย และรู้สึกสบายเนื้อสบายตัว นั่นคือท่านอนตะแคง

ท่านอนตะแคง เป็นท่านอนที่ดีที่สุดสำหรับแม่ท้อง คือนอนตะแคงงอเข่าเล็กน้อย  โดยควรมีหมอนมาสอดรองรับส่วนคอ ไหล่ ท้องและขา ซึ่งการตะแคงซ้ายจะทำให้คุณแม่รู้สึกสบายกว่าตะแคงขวา เพราะเส้นเลือดใหญ่ในท้องจะค่อนไปทางด้านขวา การนอนตะแคงซ้ายจึงทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกและดีกว่านั่นเอง  แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรนอนตะแคงข้างใดข้างหนึ่งเป็นเวลานานๆ เพราะจะทำให้ปวดหลัง ปวดเมื่อยร่างกาย เพราะไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ

ส่วนท่านอนหงาย ไม่แนะนำสำหรับแม่ท้องที่มีอายุครรภ์มาก หรือท้องใหญ่แล้ว  เพราะการนอนหงาย น้ำหนักของมดลูกที่โตขึ้น จะไปกดทับลงบนเส้นเลือดใหญ่ที่อยู่ทางด้านหลังมดลูก จึงไปขัดขวางการไหลเวียนของเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนกลับเข้าสู่หัวใจได้น้อย และยังส่งผลทำให้เลือดไหลออกไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ รวมทั้งสมองน้อยลงด้วย  ทำให้คุณแม่เกิดอาการหน้ามืดเป็นลมได้ง่าย และรู้สึกอึดอัด นอนไม่หลับ ไม่สบายตัวนั่นเอง

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

หากคุณแม่ท้องมีอาการเจ็บป่วยไม่สบายในขณะตั้งครรภ์ การกินยาต่างๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพและพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ได้ ดังนั้นเราจึงมาแนะนำวิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้น หากคุณแม่เจ็บป่วยไม่สบายมาฝาก เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีอันตราย

ท้องเสีย – พยายามเพิ่มและทดแทนปริมาณน้ำที่สูญเสียไป ด้วยการดื่มน้ำเกลือแร่

เป็นหวัด – ดื่มน้ำเยอะๆ หรือเปลี่ยนเป็นน้ำผลไม้สดบ้าง ควรกินอาหารอ่อนๆ เช่น ซุป ข้าวต้ม และควรนอนหลับพักผ่อนให้มากๆ

เป็นไข้ – ใช้วิธีนำผ้าขนหนูบิดหมาดมาเช็ดตัวบ่อยๆ โดยเช็ดตามใบหน้า ลำตัว ข้อพับ รักแร้และซอกแขน  แต่หากมีไข้สูงมากกว่า 38 องศาและมีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย ให้รีบไปพบแพทย์

แผลฟกช้ำ – ให้ใช้แผ่นเจลทำความเย็น วางประคบบริเวณที่เขียวหรือฟกช้ำ ประมาณ 20-30 นาที โดยประคบเพียงเบาๆ เพื่อบรรเทาอาการบวม  หากไม่มีแผ่นเจลทำความเย็น สามารถใช้น้ำแข็งใส่ถุงพลาสติกห่อด้วยผ้าอีกชั้น ประคบบริเวณแผลได้

*หากคุณแม่มีอาการเจ็บป่วยผิดปกติหรือรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์ที่ฝากครรภ์แล้วแจ้งอาการต่างๆ  เพื่อที่คุณหมอจะได้วินิจฉัยและจัดยาที่ปลอดภัยต่อลูกน้อยในครรภ์ค่ะ

ติดตาม พัฒนาการทารกในครรภ์ 5 เดือน คลิกต่อหน้า 3

พัฒนาการทารกในครรภ์ 5 เดือน

** ลูกน้อยในครรภ์ช่วงนี้จะมีความยาว 18-25  ซม. และหนักประมาณ 300-500 กรัม

** หัวใจของลูกมีการเต้นที่ดีเป็นปกติ ตับและม้ามเริ่มทำงานตามหน้าที่

** ลูกน้อยมีการทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาทที่สัมพันธ์กันดีขึ้น ทำให้ลูกสามารถขยับตัว มีการเคลื่อนไหวทั้งยืดตัว ดิ้น หรือพลิกไปมา ซึ่งการดิ้นของลูกเป็นสิ่งที่บอกว่าลูกน้อยมีสุขภาพแข็งแรง

** ร่างกายลูกน้อยเริ่มสร้างภูมิป้องกันการติดเชื้อโรคบางอย่าง และมีการสร้างไขมันชนิดพิเศษตามบริเวณ ทรวงอก ลำคอ ก้น เพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อนออกจากร่างกาย

**  ลูกน้อยเริ่มมีไขเคลือบผิว เกิดจากต่อมไขมันของลูกสร้างไขสีขาวคล้ายเทียน มาเพื่อช่วงปกคลุมผิวหนัง และทำให้ผิวของลูกอ่อนนุ่มขึ้น

** ลูกน้อยเริ่มมีฟันน้ำนมเกิดขึ้นในเหงือกแล้ว

** ดวงตาและเปลือกตาของลูกน้อยพัฒนาสมบูรณ์แล้ว

** หูของลูกน้อยพัฒนา จนสามารถตอบสนองต่อเสียงที่คุ้นเคยของคุณแม่ได้

** พัฒนาการทางเพศของลูกสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ลูกผู้หญิงจะมีมดลูกและรังไข่ที่เคลื่อนตัวไปอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ส่วนลูกผู้ชาย ลูกอัณฑะก็จะเคลื่อนตัวลงไปในถุงอัณฑะและอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องแล้วเหมือนกันค่ะ

อ่านบทความอื่นที่น่าสนใจ

5 มะเร็งในผู้หญิง ที่เสี่ยงเป็นกันมาก

ลูกน้อยเสียชีวิตในครรภ์ ภาวะที่คุณแม่ต้องระวัง

10 ข้อห้าม คนท้องอ่อนๆ ต้องระวังอะไรบ้าง?

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids