มีคุณแม่ท้องหลายท่านที่รู้ตัวว่าต้องผ่าคลอด หรือเตรียมตัวคลอดด้วยวิธีผ่าคลอดอยู่แล้ว ก็คงเตรียมใจรับความเจ็บปวดหลังคลอดไว้บ้างแล้ว และในการผ่าคลอดนี้ก็จะมีสิ่งที่ติดตัวคุณแม่ไปตลอดชีวิต คือ รอยแผลผ่าคลอด นั่นเอง
ดังนั้นคุณแม่ท้องควรศึกษาเรื่องการผ่าคลอด ว่าสูติแพทย์จะลงแผลผ่าตัดอย่างไร ตำแหน่งไหน แบบแนวตั้งหรือแนวขวาง แผลจะสวยไหม มีแผลเป็นไหม ซึ่งคำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่พบบ่อยและสูติแพทย์จำเป็นต้องให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงให้ทราบ
โดยการลง แผลผ่าคลอด ที่ผนังหน้าท้อง มีอยู่ 2 แบบ คือ ผ่าคลอดแนวตั้ง และผ่าคลอดแนวนอน ซึ่งขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยมีรายละเอียดความแตกต่างกัน ดังนี้
ผ่าคลอดแนวตั้ง l
คือการลงแผลในแนวดิ่งที่ผนังหน้าท้องช่วงล่างตรงแนวกลางลำตัว ตั้งแต่ระดับต่ำกว่าสะดือยาวลงมาจนถึงระดับเหนือกระดูกหัวหน่าวเล็กน้อย ความยาว แผลผ่าคลอด แนวตั้ง ประมาณ 10 เซนติเมตร การลงแผลแนวนี้จะผ่านเนื้อเยื่อหลายชั้น จนสามารถเข้าช่องท้องได้ง่าย
ข้อดีของการผ่าคลอดแนวตั้ง
- ผ่าคลอดแนวตั้ง เป็นแนวแผลมาตรฐาน สามารถผ่าตัดอวัยวะอื่นในช่องท้องได้ด้วย
- ใช้เวลาในการผ่าตัดเพื่อเข้าสู่ช่องท้องได้เร็วกว่า เหมาะสมในรายที่ต้องการความเร่งด่วนในการคลอด
- สามารถขยายแผลได้ง่ายหากมีกรณีจำเป็น
- การผ่าคลอดแนวตั้ง ผ่าตัดได้ง่าย สะดวกกว่า
- สามารถช่วยคลอดทารกได้ง่ายกว่าผ่าคลอดแนวนอน โดยเฉพาะกรณีที่ทารกอยู่ผิดท่า หรือ ตัวใหญ่กว่าปกติ
- มีภาวะแทรกซ้อนจากแผลผ่าตัดน้อยกว่า เช่น ก้อนเลือดในผนังหน้าท้อง
ข้อเสียของการผ่าคลอดแนวตั้ง
- เจ็บแผลผ่าตัดมากกว่า เนื่องจากมีบาดแผลในแนวตั้ง ทำให้เวลาลุกขยับตัวยาก
- ผ่าคลอดแนวตั้งมักจะฟื้นตัวช้ากว่า
- มีแผลเป็นมากกว่าผ่าคลอดแนวนอน
- เห็นรอยแผลได้ชัดเจน ไม่สามารถใส่เสื้อเปิดพุงได้
อ่านต่อ >> การผ่าคลอดแบบแนวนอน พร้อมวิธีดูแลแผลผ่าคลอด คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ผ่าคลอดแนวนอน _
เป็นที่นิยมกว่า สวยงามกว่า กระทำโดยการลงแผลแนวขวางที่ผนังหน้าท้องด้านล่าง ยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ตรงตำแหน่งรอยพับของหน้าท้องหรือระดับประมาณ 2 เซนติเมตรสูงจากขอบบนของกระดูกหัวหน่าว ขั้นตอนการผ่าจะซับซ้อนกว่าเล็กน้อย
ข้อดีของการผ่าคลอดแนวนอน
- เจ็บแผลผ่าตัดน้อยกว่า เนื่องจากมีบาดแผลแนวนอนตามรอยพับของหน้าท้อง ทำให้เจ็บแผลน้อยกว่าเวลาขยับลุก
- การผ่าคลอดแนวนอนมีแผลเป็นน้อยกว่า เพราะลงมีดตามแนวของรอยพับผิวหนัง
- สามารถปิดบังแผล ผ่าคลอดแนวนอนได้ดีในกรณีที่ใส่เสื้อเปิดพุง
ข้อเสียของการผ่าคลอดแนวนอน
- ใช้เวลาในการผ่าตัดเข้าสู่ช่องท้องนานกว่า เหมาะสมกับการผ่าตัดคลอดที่ไม่เร่งด่วนมาก
- การผ่าคลอดแนวนอน ผ่าตัดได้ยากกว่า โดยเฉพาะกรณีที่มีพังผืดในช่องท้องร่วมด้วย
- ช่วยคลอดทารกได้ยากกว่า เนื่องจากรอยแผลอยู่ต่ำ เพิ่มการใช้อุปกรณ์ช่วยคลอดศีรษะทารก
- หากมีการผ่าตัดอื่นในช่องท้องร่วมด้วยจะทำได้ยากกว่า
- มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนของแผลมากกว่าผ่าคลอดแนวตั้ง เช่น ก้อนเลือดค้างในผนังหน้าท้อง
โดยส่วนใหญ่แล้วสูติแพทย์จะเป็นผู้กำหนดแนวการลงแผลผ่าตัดคลอดเอง และในทางปฏิบัตินิยมลงแผลแนวนอนมากกว่าด้วยเหตุผลของความสวยงามเป็นหลัก แต่ในกรณีที่มีความจำเป็น อาจจะเลือกลงแผลแนวตั้งตรงได้โดยควรแจ้งให้คุณแม่ทราบก่อนล่วงหน้า ในกรณีที่มีแผลเดิม มักจะเลือกลงแผลตามแนวเดิม โดยตัดเนื้อเยื่อแผลเป็นเก่าออกก่อน แล้วจึงทำการผ่าตัดคลอดตามปกติ
ดังนั้นการผ่าตัดคลอดถือเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวสำหรับคุณแม่ท้องอีกต่อไป เมื่อคุณแม่ทราบข้อดี ข้อเสียดังกล่าว คุณแม่อาจมีส่วนร่วมกับแพทย์ในการพิจารณาเลือกแนวแผลผ่าคลอดที่เหมาะสมต่อไปได้ค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
คลิก >> อ่าน “11 วิธีดูแลแผลผ่าคลอดของคุณแม่มือใหม่”
Save