ปากมดลูกหลวม เสี่ยงแท้ง คลอดก่อนกำหนด หลายครั้งที่มีคุณแม่ท้องมาพบแพทย์ด้วยอาการแท้ง ที่ไม่มีอาการปวดท้อง หรือเลือดออกมากนัก ปัญหานี้พบได้หากคุณแม่ท้องมีปากมดลูกหลวม ดังนั้นเราจึงมาไขความรู้เรื่อง ปากมดลูกหลวมเสี่ยงแท้ง คลอดก่อนกำหนดมาให้คุณแม่ได้รู้จักกันค่ะ
ปากมดลูกหลวม เสี่ยงแท้ง คลอดก่อนกำหนด
ปากมดลูกหลวม คืออะไร ?
ปากมดลูกหลวม (lncompetence of Cervix) เป็นความผิดปกติของปากมดลูกที่พบไม่ได้บ่อยนัก แต่หากคุณแม่ท้องมีภาวะนี้ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เสี่ยงแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้ แต่ก่อนที่จะรู้จักว่าปากมดลูกหลวมเป็นอย่างไร มารู้จักกันสภาพมดลูกและปากมดลูกที่เป็นปกติกันก่อนค่ะ
มดลูกของคุณแม่ หากเปรียบง่ายๆ ให้เห็นภาพจะเหมือนกับขวดใส่น้ำ โดยมดลูกจะเหมือนขวดน้ำที่คว่ำเอาปากขวดลงด้านบนหรือด้านในของช่องคลอด ซึ่งปกติแล้วขวดน้ำจะมีจุกหรือฝาปิดปากไม่ให้น้ำไหลออกมาแม้ว่าจะคว่ำขวด แต่สำหรับปากมดลูกจะมีคุณสมบัติพิเศษต่างจากขวดน้ำธรรมดา นั่นคือ ปากขวดหรือปากมดลูกจะสามารถตีบลงหรือขยายออกได้โดยไม่จำเป็นต้องมีจุกหรือฝาปิด
ซึ่งขณะตั้งครรภ์ปากมดลูกของคุณแม่นั้นจะมีการตีบแคบจนปิดสนิท และสามารถรองรับน้ำหนักของถุงน้ำคร่ำและลูกน้อยในท้องได้สบาย จนเมื่อคุณแม่เจ็บท้องและคลอด ปากมดลูกจึงจะบางตัวลงและเปิดขยายใหญ่ขึ้นเพื่อทำให้ลูกน้อย รก และถุงน้ำคร่ำคลอดออกมาได้
ปากมดลูกหลวม คือ ปากมดลูกไม่แข็งแรง
หากคุณแม่มีปากมดลูกแข็งแรงปกติก็จะไม่มีปัญหาการตั้งครรภ์ ลูกน้อยเติบโตอยู่ในท้องได้ยาวนานตามปกติ แต่คุณแม่ที่มีภาวะปากมดลูกไม่แข็งแรงหรือปากมดลูกหลวม จะมีภาวะของปากมดลูกที่เสียการยืดหยุ่นเนื้อเยื่อจะเกาะกันอย่างหลวมๆทําให้ปากมดลูกเปิดออกได้ง่าย เมื่อตั้งท้องได้ไม่นาน ถุงน้ำคร่ำน้ำคร่ำและลูกในท้องที่มีการเติบโตและน้ำหนักมากขึ้น หากปากมดลูกของคุณแม่หลวมจะทำให้รับน้ำหนักไว้ไม่ไหว ปาดมดลูกมีการเปิดขยายก่อนเวลาอันควร ยิ่งคุณแม่เดินหรือยืนมากๆ แรงโน้มถ่วงของโลกก็จะยิ่งทําให้ปากมดลูกของคุณแม่รับน้ำหนักไม่ไหว แล้วเปิดออกมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ถุงน้ำคร่ำ ซึ่งมีน้ำคร่ำ และลูกน้อยอยู่ข้างใน จะย้วยหรือห้อยผ่านปากมดลูกออกมา ในที่สุดทั้งหมดก็จะหลุดออกมาจากโพรงมดลูก มีน้ำเดินแล้วแท้ง หรือคลอดก่อนกำหนดได้ ต่างจากคุณแม่ที่มีปากมดลูกแข็งแรงดี ซึ่งแม้คุณแม่จะครบกําหนดอายุครรภ์คลอดหรือลูกน้อยในครรภ์ถึง 4 กิโลกรัมปากมดลูกก็จะยังคงปิดอยู่
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ติดตาม ปากมดลูกหลวมเสี่ยงแท้ง คลอดก่อนกำหนด คลิกต่อหน้า 2
ทำไมปากมดลูกไม่แข็งแรง
ปากมดลูกหลวมยังไม่มีสาเหตุที่สามารถบอกได้แน่ชัด แต่พบว่าปากมดลูกหลวมเกิดได้กับคุณแม่ที่เคยมีประวัติบางอย่าง เช่น เคยขูดมดลูก เคยรักษาโรคที่ปากมดลูก เช่น การผ่าตัดที่ปากมดลูก การใช้ไฟฟ้าจี้ปากมดลูก หรือการใช้สารเคมีบางอย่างจี้ปากมดลูก คุณแม่ที่เคยคลอดยากและมีการฉีกขาดของมดลูกอย่างรุนแรง ซึ่งคุณแม่เหล่านี้จะมีโอกาสเกิดปัญหาปากมดลูกหลวมหรือไม่แข็งแรงได้มากกว่าคุณแม่ทั่วไป เพราะปากมดลูกของคุณแม่ล้วนแล้วแต่ถูกทำให้ไม่แข็งแรงทั้งสิ้น มากบ้างน้อยบ้างก็แล้วแต่สาเหตุที่เกิด
ตรวจพบได้หรือไม่ รักษาอย่างไรบ้าง
โดยส่วนใหญ่เมื่อคุณแม่ไปฝากครรภ์ประมาณอายุครรภ์ที่ 14-16 สัปดาห์ สูติแพทย์จะเริ่มประเมินปากมดลูกโดยการตรวจอัลตราซาวนด์ทางช่องคลอดเพื่อวัดความยาวของปากมดลูกว่าเริ่มมีการเปิดหรือสั้นลงหรือไม่ โดยหากปากมดลูกสั้นกว่า2.5เซนติเมตรจะเสี่ยงต่อการแท้งหรือคลอดก่อนกําหนดได้ เพราะไม่สามารถรับน้ำหนักเด็กที่เติบโตขึ้นได้หากเห็นคุณแม่ว่ามีภาวะปากมดลูกหลวม คุณหมออาจจะพิจารณาให้ยาเพื่อให้เนื้อเยื่อของปากมดลูกแข็งแรง หรือเพื่อลดการบีบตัวของมดลูก แต่หากการให้ยาไม่ได้ผลดี อาจมีการให้ยาร่วมกับการใส่ “ห่วงพยุงปากมดลูก” (CervicalPessary) หรือการเย็บปากมดลูก
โดยหลักของการรักษาปากมดลูกหลวมคือ การทําให้ปากมดลูกแข็งแรงพอจะพยุงตัวลูกน้อยในครรภ์ได้ ซึ่งแต่เดิมมักรักษาด้วยการ “เย็บปากมดลูก” ซึ่งต้องวางยาสลบ และมีขั้นตอนการเย็บผูกรัดปากมดลูกให้แข็งแรงแล้วปล่อยทิ้งไว้ รอให้ลูกในท้องโตจนครบกำหนด จึงจะตัดการเย็บมัดปากมดลูกนั้นออก คุณแม่ก็จะมีการคลอดลูกน้อยตามมา แต่การเย็บปากมดลูกจะมีขั้นตอนยุ่งยาก มีการวางยาสลบ และอื่นๆ ทำให้หลังผ่าตัดต้องนอนโรงพยาบาลหลายวันเมื่ออายุครรภ์มากขึ้นก็จําเป็นต้องนอนโรงพยาบาลไปเรื่อยๆจนกว่าจะคลอดเนื่องจากเมื่อเด็กตัวโตขึ้นปากมดลูกจะหย่อนลงมาอีกทําให้รู้สึกเจ็บหน่วงและเดินไม่ไหว
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ติดตาม ปากมดลูกหลวงเสี่ยงแท้ง คลอดก่อนกำหนด คลิกต่อหน้า 3
แต่ปัจจุบัน “การใส่ห่วงพยุงปากมดลูก” นั้นสะดวกกว่ามากเพราะใส่ง่ายเมื่อใส่แล้วห่วงจะไปรัดปากมดลูกให้บวม พอบวมก็จะเกิดการปิดตัวเองโดยธรรมชาติ เมื่อลูกโตมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีน้ำหนักกดลงมาอีกก็ตาม โดยห่วงนี้จะช่วยถ่ายเทน้ำหนักทําให้แรงที่กดลงมาไม่ผ่านปากมดลูกโดยตรง นอกจากนี้ การใส่ห่วงทําให้มีอาการหน่วงน้อยลง คุณแม่สามารถเดินหรือทํากิจกรรมตามปกติได้โดยไม่จําเป็นต้องนอนโรงพยาบาลแบบถาวร ที่สําคัญจากการรักษาและวิจัยพบว่า ห่วงพยุงปากมดลูกสามารถช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้มากถึง 45 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
ห่วงพยุงปากมดลูก (CervicalPessary) ทํามาจากซิลิโคนจึงนุ่มไม่ระคายเคือง มีประสิทธิภาพในการช่วยป้องกันการคลอดก่อนกําหนดได้สูง ห่วงพยุงมีหลายขนาดการใช้ ขึ้นอยู่กับแพทย์พิจารณา ซึ่งหากคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องใช้ห่วงพยุงแล้ว สูติแพทย์จะให้ใส่ไว้จนกว่าจะคลอดจึงค่อยเอาออกค่ะ
อย่างไรก็ตาม การที่แพทย์จะวินิจฉัยวิธีการรักษาในแบบต่างๆ จะขึ้นอยู่กับภาวะอาการปากมดลูกหลวมที่เกิดขึ้นกับคุณแม่แต่ละท่านเป็นสำคัญ ดังนั้นเพื่อให้การดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพ คุณแม่ควรฝากครรภ์และมาพบแพทย์ตามนัดอย่างเคร่งครัด หมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นตัวเอง ปรึกษาในทุกเรื่องที่สงสัย และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
ข้อมูลโดย :รศ.ดร.นพ.บุญศรี จันทร์รัชชกูลหัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ
สุดยอด 5 แกงไทย! ลดความเสี่ยงโรคมะเร็งได้ เพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคนในครอบครัว
แม่มือใหม่ ให้นมลูก อย่างไร ถึงจะเวิร์ค?
เคล็ดลับ ท้อง สุขภาพดี ลูกน้อยแข็งแรง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่